เอเอฟพี - มาตรการคว่ำบาตรของตะวันตกที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการคลังของประเทศอย่างรุนแรงทำให้รัสเซียใช้จ่ายงบด้านการทหารน้อยลงถึง 20% ในปีที่แล้ว ถือเป็นการปรับลดอย่างฮวบฮาบครั้งแรกในรอบเกือบ 20 ปี
รายงานของสถาบันวิจัยสันติภาพนานาชาติสตอกโฮล์ม (SIPRI) ที่เผยแพร่วันนี้ (2 พ.ค.) ระบุว่า แม้ความตึงเครียดระหว่างมอสโกกับโลกตะวันตกจะเพิ่มทวีขึ้น แต่งบกลาโหมของแดนหมีขาวในปีที่แล้วกลับลดลงมาอยู่ที่ 66,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ต่ำกว่าปี 2016 ถึง 20%
ครั้งล่าสุดที่รัสเซียมีการหั่นงบประมาณกองทัพคือในปี 1998 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจขั้นรุนแรง
“การปรับปรุงกองทัพให้ทันสมัยคือสิ่งที่รัสเซียให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ แต่งบประมาณกองทัพถูกจำกัดด้วยปัญหาเศรษฐกิจที่รุมเร้ารัสเซียมาตั้งแต่ปี 2014” ไซมอน เวเซมาน นักวิจัยอาวุโสของ SIPRI ระบุ โดยอ้างถึงมาตรการคว่ำบาตรที่โลกตะวันตกใช้ลงโทษมอสโก หลังจากมีการช่วงชิงคาบสมุทรไครเมียไปจากยูเครน
ความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับนาโตซึ่งตกต่ำถึงขีดสุดในยุคหลังสงครามเย็นยังถูกโหมกระพือด้วยสงครามในซีเรีย รวมถึงเรื่องที่มอสโกถูกอังกฤษและพันธมิตรกล่าวหาว่าพยายามใช้สารพิษทำลายประสาทลอบสังหารอดีตสายลับสองหน้า เซียร์เก สกรีปัล กับบุตรสาว เมื่อวันที่ 4 มี.ค.
เวเซมาน ระบุว่า รัสเซียพยายามเสริมงบด้านการทหารมาตลอดหลายปี โดยหันไปลดรายจ่ายด้านอื่นๆ เช่น สาธารณูปโภคและการศึกษา เป็นต้น ทว่าปี 2017 ถือเป็นปีแรกที่มอสโกต้องยอมหั่นงบกองทัพแบบไม่มีทางเลือก
“การคงงบประมาณกองทัพไว้ในระดับสูง หรือเพิ่มให้มากขึ้น ไม่อาจทำได้อีกต่อไป... สำหรับรัสเซียแล้วนั่นหมายความว่าพวกเขาต้องยอมทิ้งศักดิ์ศรีของตัวเอง” เขากล่าว
สำหรับกลุ่มพันธมิตรนาโต 29 ประเทศใช้งบทางทหารรวมกันประมาณ 900,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2017 หรือคิดเป็น 52% ของงบกลาโหมที่รัฐบาลทั่วโลกใช้จ่าย ขณะที่กลุ่มประเทศยุโรปกลางและยุโรปตะวันตกใช้จ่ายงบกลาโหมเพิ่มขึ้น 12% และ 1.7% ตามลำดับ ซึ่งสะท้อนถึงความรู้สึกหวาดระแวงภัยคุกคามจากรัสเซีย
สหรัฐอเมริกายังคงรั้งแชมป์ประเทศที่ใช้จ่ายงบด้านการทหารสูงที่สุดในปี 2017 ด้วยวงเงิน 610,000 ล้านดอลลาร์ ตามมาด้วยจีน, ซาอุดีอาระเบีย, รัสเซีย, อินเดีย, ฝรั่งเศส, สหราชอาณาจักร และญี่ปุ่น
SIPRI ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยอิสระยังพบว่า รัฐบาลทั่วโลกใช้จ่ายงบประมาณด้านการทหารสูงถึง 1.739 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2017 ซึ่งถือว่ามากที่สุดในยุคหลังสงครามเย็น