xs
xsm
sm
md
lg

สหรัฐฯ สั่งเช็กเครื่องยนต์เครื่องบินทั่วประเทศ หวั่นระเบิดกลางอากาศซ้ำรอยเซาท์เวสต์ฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รอยเตอร์ - สำนักงานบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐฯ (เอฟเอเอ) เผยจะสั่งตรวจสอบเครื่องยนต์ของเครื่องบินราว 220 เครื่อง หลังคณะสืบสวนเหตุเครื่องยนต์ของเที่ยวบินหนึ่งของสายการบินเซาท์เวสต์แอร์ไลน์ส เกิดระเบิดคร่าชีวิต 1 ศพ เมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ตรวจพบใบพัดเครื่องยนต์แตก

คณะผู้ควบคุมกฎระเบียบเปิดเผยเมื่อช่วงค่ำวันพุธ (18 เม.ย.) ว่าพวกเขามีแผนสรุปว่าเครื่องบินที่ได้รับผลกระทบเหล่านั้นสมควรเดินอากาศหรือไม่ภายใน 2 สัปดาห์ข้างหน้า

คำสั่งตรวจสอบดังกล่าวของสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐฯ กำหนดให้สายการบินทั่วประเทศตรวจสอบสภาพเครื่องบินที่ใช้เครื่องยนต์ CFM56-7B ผลิตโดยบริษัท CFM ภายในเวลา 6 เดือน เพื่อควบคุมมาตรฐานความปลอดภัยการบิน เนื่องจากเครื่องยนต์ดังกล่าวเป็นรุ่นเดียวกับที่ใช้ในเครื่องบินโบอิ้ง 737-800 เที่ยวบิน 1380 ของสายการบินเซาท์เวสต์ในสหรัฐฯ ซึ่งเกิดเหตุขัดข้องหลังบินออกจากสนามบินลาการ์เดียในนิวยอร์กได้เพียง 20 นาทีเมื่อวันที่อังคาร (17 เม.ย) ที่ผ่านมา ส่วนเครื่องยนต์อื่นๆจำเป็นต้องตรวจสอบภายใน 18 เดือน

สายการบินต่างๆ ระบุว่า ด้วยใบพัดของเครื่องยนต์อาจเคยนำไปซ่อมบำรุงหรือย้ายไปใส่ในเครื่องยนต์ตัวอื่น คำสั่งนี้อาจส่งผลกระทบต่อเครื่องยนต์ CFM56-7B มากกว่า 220 เครื่อง ขณะที่ CFM56-7B เป็นเครื่องยนต์ที่ร่วมผลิตระหว่างซาฟรองของฝรั่งเศสกับเจเนอรัล อิเล็กทริก

เจ้าหน้าที่ของเอฟเอเอยอมรับว่า ยอดรวมของเครื่องยนต์ที่ได้รับผลกระทบอาจสูงกว่านี้ ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าทำไมเอฟเอเอถึงดำเนินการล่าช้า ทั้งที่คณะควบคุมกฎระเบียบของสหภาพยุโรปได้ออกคำสั่งแบบเดียวกันตั้งแต่เมื่อวันที่ 2 เมษายน สำหรับตรวจสอบเครื่องยนต์ CFM56-7B ภายใน 9 เดือน

เครื่องยนต์ CFM56 บนเที่ยวบิน 1380 ของสายการบินเซาท์เวสต์ ระเบิดกลางอากาศเหนือเพนซิลเวเนียเมื่อวันอังคาร (17 เม.ย.) ราว 20 นาที หลังเที่ยวบินที่มุ่งหน้าสู่ดัลลัส เทกออฟขึ้นจากท่าอากาศยานลาการ์เดียของนิวยอร์ก พร้อมกับลูกเรือและผู้โดยสาร 149 ชีวิต แรงระเบิดได้ทำให้เศษของมีคมพุ่งใส่ลำตัวของโบอิ้ง 737-700 และทำกระจกแตก

เจนนิเฟอร์ ริออร์แดน ผู้บริหารธนาคารวัย 43 ปี เสียชีวิต หลังเกือบถูกดูดหลุดจากหน้าต่างที่แตกของเครื่องบินตอนที่ห้องโดยสารสูญเสียความดัน โดยเพื่อนผู้โดยสารสามารถดึงเธอกลับเข้ามาภายในได้ แต่เธอเสียชีวิตจากอาการบาดเจ็บในเวลาต่อมา

เมื่อวันพุธ (11 เม.ย.) โรเบิร์ต ซัมวอลต์ ประธานคณะกรรมการความปลอดภัยด้านการขนส่งแห่งชาติของสหรัฐฯ (NTSB) ระบุว่าเหตุการณ์นี้เริ่มต้นจากใบพัดตัวหนึ่งใน 24 ตัวของเครื่องยนต์หลุดจากดุมใบพัดเพราะเสื่อมสภาพ ทำให้เครื่องยนต์ระเบิด และชิ้นส่วนกระเด็นไปกระแทกหน้าต่างเครื่องบินจนกระจกแตกทั้งบาน

อย่างไรก็ตาม ซัมวอลต์ ไม่ได้ชี้ชัดว่าเหตุการณ์นี้เป็นปัญหาที่เกิดกับโบอิ้ง 737-700 ทั้งฝูงบินหรือไม่ ขณะที่แหล่งข่าวใกล้ชิดกับคดี เผยว่าเจ้าหน้าที่ของเซาท์เวสต์กำลังตรวจสอบเครื่องยนต์คล้ายกันที่ทางสายการบินใช้งาน โดยพุ่งเป้าไปที่เครื่องยนต์ตัวเก่าของ CFM56

ข้อมูลในเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของ CFM ผู้ผลิตเครื่องยนต์อากาศยานและอื่นๆ ซึ่งเป็นกิจการร่วมทุนระหว่างบริษัทจีอีของสหรัฐฯ และบริษัทซาฟรองของฝรั่งเศส ระบุว่าเครื่องยนต์รุ่น CFM56-7B ถูกนำไปใช้กับเครื่องบินโบอิ้งรุ่น 737 ของสายการบินพาณิชย์ทั่วโลก

ขณะที่เว็บไซต์ของบริษัทโบอิ้ง ผู้ผลิตเครื่องบินโบอิง 737 และรุ่นอื่นๆ ระบุว่ามีสายการบินหลายแห่งทั่วโลกที่ให้บริการด้วยเครื่องบินโบอิ้ง รวมถึงสายการบินในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งมาเลเซียแอร์ไลน์ส, เมียนมาร์เนชันแนลแอร์, ไลออนแอร์ และนกแอร์

คาดมหายกันว่าคณะผู้สืบสวนน่าจะยังอยู่ในจุดเกิดเหตุไปจนถึงช่วงสุดสัปดาห์ แต่ NTSB ไม่มีแผนให้ข้อมูลกับสื่อมวลชนเพิ่มเติม ขณะที่การสืบสวนของ NTSB น่าจะใช้เวลาราว 12 ถึง 15 เดือนถึงแล้วเสร็จ


กำลังโหลดความคิดเห็น