เอเจนซีส์ - เดอะการ์เดียนร่วมกับองค์การช่วยเหลือเด็ก(Save the Children)ของสหรัฐฯ สืบสวนพบ 4 บริษัทนมผงดัดแปลงชื่อดัง เนสท์เล่ แอ๊บบอต มี้ด จอห์นสัน และไวเอท ใช้วิธีการฉ้อฉลติดสินบนแพทย์ นางพยาบาลผดุงครรภ์ และเจ้าหน้าที๋สาธารณสุขท้องถิ่น มีส่งไปสัมนาแฝงท่องเที่ยวสุดหรู แจกตั๋วแสดงโชว์ระดับโลก รวมถึงให้ชิปคาสิโน จูงใจให้แนะนำแม่แรกคลอดฟิลิปปินส์ในพื้นที่ยากจน ต้องเลือกใช้นมผงสำเร็จรูปแทนน้ำนมจากอกแม่
เดอะการ์เดียนรายงานวันนี้(27 ก.พ)ว่า สื่ออังกฤษร่วมกับองค์การช่วยเหลือเด็ก(Save the Children)ที่มีฐานอยู่ในสหรัฐฯ พบการตลาดบริษัทนมผงดัดปปลงเจ้าดังอย่างน้อย 4 แห่งใช้วิธีจูงใจเจ้าหน้าที่การแพทย์ฟิลิปปินส์ เพื่อต้องการให้คนไข้หญิงแรกคลอดในพื้นที่ยากไร้ต่างๆเลือกใช้นมผงสำหรับทารกจากบริษัทเหล่านี้ถึงแม้จะมีราคาแสนแพง แทนน้ำนมมารดาซึ่งมีคุณค่าสารอาหารครบถ้วน
ในรายงาน เดอะการ์เดียนได้ชี้ไปที่ 4 บริษัทเจ้าดังได้แก่ บริษัทเนสท์เล่ (Nestlé) บริษัทแอ๊บบอต (Abbott) บริษัทมี้ด จอห์นสัน (Mead Johnson) และบริษัทไวเอท(Wyeth) (ที่ในปัจจุบันมีเจ้าของคือ เนสท์เล่) โดยพบว่าตัวแทนจากบริษัททั้ง 4 นี้ถูกพบว่ามักปรากฎตัวที่โรงพยาบาลท้องถิ่นของฟิลิปปินส์อย่างสม่ำเสมอ
สื่ออังกฤษชี้ว่า ตัวเลขทางสถิติชี้ว่า แม่แรกคลอดของฟิลิปปินส์เพียงแค่ 34% เท่านั้นที่ป้อนนมทารกแรกคลอดด้วยน้ำนมแม่ในช่วง 6เดือนแรก และพบว่ามีการแจกแผ่นพับแนะนำ “โภชนาการทารก” ให้กับบรรดาคุณแม่แรกคลอดชาวๆฟิลิปปินส์เหล่านี้ ที่ดูเหมือนเป็นคำแนะนำทางการแพทย์ แต่กลับพบว่าในแผ่นพับกลับมีโฆษณาจูงใจแฝง เป็นต้นว่า มีการระบุชื่อสินค้าและสูตรแนะนำ นอกจากนี้ยังมีคูปองลดราคาแนบมาอีกด้วย
และนอกจากนี้ในการสืบสวนของเดอะการ์เดียนชี้ว่า เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลฟิลิปปินส์ได้ระบุถึง “ชื่อผลิตภัณฑ์สินค้า” ในรายการสิ่งจำเป็นสำหรับคุณแม่แรกคลอดต้องซื้อซึ่งเป็นเอกสารที่แจกให้กับคนไข้หลังคลอดบุตร
บริษัทนมผงชื่อดังยังถูกพบว่า ทำการโฆษณาบนเฟซบุ๊กและสื่อโซเชียลมีเดีย และให้การสนับสนุนบรรดาบล็อกเกอร์ชื่อดังต่างซึ่งเขียนเกี่ยวกับการเลี้ยงบุตร ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทั้งหมด สื่ออังกฤษสรุปว่า ชี้ได้ว่าบรรดาคุณแม่ในฟิลิปปินส์ต่างตกเป็นเหยื่อของบริษัทนมผงสำเร็จรูปข้ามชาติแบบดิ้นไม่หลุด
เดอะการ์เดียนรายงานต่อว่า ในการสืบสวนที่ร่วมมือกับองค์การช่วยเหลือเด็ก พบว่าทางเนสท์เล่ แอ๊บบอต มี้ด จอห์นสัน และไวเอท ***ใช้วิธีการฉ้อฉลติดสินบนแพทย์ นางพยาบาลผดุงครรภ์ และเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น***
มีส่งไปสัมนาแฝงท่องเที่ยวสุดหรู แจกตั๋วภาพยนต์คอนเสิร์ต รวมถึงชิปคาสิโน ซึ่งสื่ออังกฤษชี้ว่าเป็นการผิดกฎหมายฟิลิปปินส์ เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์เหล่านี้แนะนำสินค้าของบริษัทให้กับคนไข้เป็นการตอบแทน
และในเวลาเดียวกันบริษัทผู้ผลิตนมผงดัดแปลงข้ามชาติยังได้ส่งล็อบบี้ยิสต์ไปล็อบบี้สมาชิกรัฐสภาในการกำกับการตลาดนมผงดัดแปลงและการโฆษณาทั้งในฟิลิปปินส์ และทั่วโลก
อย่างไรก็ตามสื่ออังกฤษชี้ว่า บริษัทผู้ผลิตที่ถูกเอ่ยชื่อต่างปฎิเสธข้อกล่าวหา และยืนยันว่าทางบริษัทไม่ได้กระทำผิดกฎหมาย
นมผงดัดแปลงมีราคาแพง..ฉันให้ลูกสาวกินได้แค่ครึ่งขวดนมเท่านั้น
เจสซิกา อิคาวัต(Jessica Icawat)คุณแม่วัย 24 ปี และลูกสาวทริสตา( Trista ) วัย 2 ขวบ อาศัยในเขตมาลาบอน( Malabon) ซึ่งถือเป็นหนึ่งในเขตคนจนของกรุงมะนิลาเปิดใจกับเดอะการ์เดียนทั้งน้ำตาว่า เธอได้รับการจูงใจจากคนในชุมชนว่า นมผงสำเร็จรูปนั้นดีเทียบเท่าน้ำนมแม่ ทำให้อิคาวัตเลือกใช้นมผงยี่ห้อ เนสโตเจน(Nestogen) ภายใต้ปีกเนสท์เล่ ซึ่งอิคาวัตชี้ว่าการเลี้ยงบุตรด้วยการให้นมจากมารดานั้นเป็นเงื่อนไขที่ยากสำหรับเธอ
อิคาวัตอยู่ในสภาพที่ดูได้ชัดว่า ป่วยด้วยโรคขาดสารอาหารเหมือนเช่นเดียวกับบุตรสาว ทริสตา (Trista) ซึ่งพบว่าค่าใช้จ่ายสำหรับนมผงสำเร็จรูป เนสโตเจน นั้นตกราว 2,000 เปโซ หรือ 1202.30 บาท ต่อเดือน แต่ตัวคุณแม่ฟิลิปปินส์วัย 24ปีรายนี้กล่าวว่า เธอสามารถจ่ายได้แค่ 800 เปโซ หรือราว 480.90 บาทเท่านั้น
“ฉันไม่กิน ถึงซื้อนมผงสำเร็จรูปให้ลูกกินได้” เจสซิกา อิคาวัตกล่าวอย่างกลัดกลุ้ม และเสริมว่า “มีหลายวันที่ฉันไม่ได้กินอะไรเลย และนมเนสโตเจนแพงมาก จนกระทั่งถึงแม้ทุกครั้งที่ลูกร้องเพราะหิวจะให้ไม่ได้ ในเวลานี้ฉันป้อนนมลูกแค่ครึ่งขวดเท่านั้น 4 ครั้งต่อวัน”
เดอะการ์เดียนชี้ว่า บ้านที่ 2แม่ลูกอาศัยถูกสร้างอย่างลวกๆด้วยไม้อัดทิ้งแล้ว แผ่นสังกะสี และแผ่นพลาสติก และไม่มีทั้งน้ำประปาและไฟฟ้าใช้ตามปกติทั่วไป นอกจากนี้อิคาวัตยอมรับว่า เป็นการยากที่จะทำการฆ่าเชื้อขวดนม และการผสมนมผงที่ต้องผสมด้วยน้ำร้อนจัดเพื่อความปลอดภัย
“ลูกฉันป่วยบ่อย และถูกส่งตัวเข้าโรงพยายาบาลถึง 3 ครั้งด้วยโรคท้องร่วงและหืดหอบ” อิคาวัตชี้
ทั้งนี้ข้อกำหนดขององค์การอนามัยโลก WHO ระบุอย่างชัดเจนว่า ห้ามบริษัทผู้ผลิตนมผงดัดแปลงเข้าถึงทางตรงต่อตัวมารดา และบุคลากรทางการแพทย์ และยังจำกัดการโฆษณา ซึ่งปัญหานมผมผงดัดแปลงนั้นร้ายแรงโดยเฉพาะในประเทศยากจนเพราะเสี่ยงต่อการเกิดโรคนิวมอเนีย โรคท้องร่วงในทารก และการขาดการเข้าถึงด้านสาธารณสุขทำให้คุณแม่แรกคลอดในประเทศยากไร้เหล่านั้นไม่ได้รับความรู้ถึงประโยชน์ของนมมารดา
ยุทธวิธีเข้าถึงตัวบุคลากรทางการแพทย์ในฟิลิปปินส์
สื่ออังกฤษรายงานว่า บริษัทผู้ผลิตเหล่านี้เข้าถึงตัวแพทย์ พยาบาลผดุงครรภ์ และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ทั้งจากการเดินทางเข้าพบ และร่วมรับประทานอาหารค่ำหลังนอกเวลางานนอกโรงพยาบาล
ซึ่ง จูเลียน โบเรส(Julianne Bores) ตัวแทนจากบริษัทยาชื่อดัง แกล็กโซสมิธไคลน์ (GlaxoSmithKline) และยังเป็นตัวแทนผู้ผลิตนมผงสูตรดัดแปลงประจำโรงพยาบาลในฟิลิปปินส์ตั้งแต่ปี 2009 ได้เปิดเผยถึงวัฒนธรรมการพึ่งพาทางการเงินของบรรดาบุคคลากรทางการแพทย์เหล่านี้ว่า
เมื่อไหร่ก็ตามที่แพทย์ต้องการเข้าร่วมการสัมนาทางวิชาการชื่อดังซึ่งมักจัดในโรงแรมที่หรูหรา หรือในต่างประเทศ แพทย์เหล่านี้มักขอให้บริษัทผู้ผลิตนมผงเป็นสปอนเซอร์ให้การสนับสนุน ซึ่งแพทย์เหล่านี้มักนำคู่สมรสตัวเองเดินทางไปด้วย
โดยทางตัวแทนผู้ผลิตนมผงมักจะจ่ายรวมในส่วนของค่าใช้จ่ายการพักผ่อนและกิจกรรมสันทนาการต่างๆที่เกิดขึ้นระหว่างการเดินทางสำหรับแพทย์ผู้เข้าร่วมสัมนา และครอบครัวของแพทย์รายนั้น เป็นต้นว่า บัตรผ่านเข้าชมโชว์ระดับโลก “เซิร์ค ดู โซเลย์" (Cirque du Soleil) และรับประทานอาหารมือหรูที่ภัตตาคารชื่อดัง
นอกจากนี้โบเรสยังเป็นผู้สังเกตการณ์การจัดสัมนา “คุณพ่อคุณแม่มือใหม่” และ “โภชนาการ” ที่ถูกจัดขึ้นภายในโรงอาหารของโรงพยาบาล ซึ่งมีตัวแทนบริษัทผลิตนมผงเด็กเป็นผู้เข้ามาให้ความรู้ ซึ่งมีกิจกรรมการแจกผลิตภัณฑ์ตัวอย่างและของกำนัลไปพร้อมเป็นต้นว่า ร่ม หรือขวดนมเด็ก ซึ่งสิ่งเหล่านี้ เดอะการ์เดียนชี้ว่า เป็นการละเมิดกฎหมายในฟิลิปปินส์
พยาบาลผดุงครรภ์ฟิลิปปินส์ เกรซ เชโล อัลมาเรซ(Grace Shelo Almarez) ประจำศูนย์อนามัยมาลาบอน(Malabon) กล่าวยอมรับกับเดอะการ์เดียนว่า ในอดีตเธอได้รับการเสนับสนุนจากผู้ผลิตนมผงดัดแปลงข้ามชาติด้วยเช่นกัน ซึ่งเธอเป็นหนึ่งในเจ้าหน้าที่การแพทย์ฟิลิปปินส์จำนวนมากที่อยู่ใต้ปีกบริษัทผู้ผลิตนม เนสท์เล่ มี้ด จอห์นสัน และไวเอท ที่ได้เสนอส่งเธอไปเข้าสัมนาตามที่ต่างๆ ล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อตุลาคมที่ผ่านมา แต่ทว่าอัลมาเรซปฎิเสธทางเนสท์เล่ไปหลังจากทางบริษัทเสนอที่จะส่งเธอไปร่วมการประชุมทางวิชาการที่เมืองอิโลอิโล (loilo City )
และสำหรับการตอบแทนจาก อัลมาเรซกล่าวว่า
“ในกรณีที่คนไข้พร้อมที่จะเลือกใช้นมผงสูตรดัดแปลง ดิฉันจะแนะนำให้ใช้ผลิตภัณฑ์จากบริษัทที่ได้ให้การอุปการะ พร้อมกับกล่าวว่า “เนสท์เล่เป็นตัวเลือกที่ดี” หรือ “คุณควรเลือกใช้นมผงเนสโตเจน” เป็นต้น โดยคนเหล่านี้เป็นพวกหว่านล้อมเก่ง พวกเขาทำให้เชื่อว่า ผลิตภัณฑ์ของพวกเขานั้นดีที่สุดต่อมารดาและทารก”
จากรายงานขององค์การช่วยเหลือเด็กพบว่า ทั่วโลกมีสถิติมารดาเลี้ยงทารกแรกคลอดด้วยน้ำนมมารดานั้นน่าตกใจ เป็นต้นว่า ในเม็กซิโก พบว่ามีทารกแค่ 31% เท่านั้นที่ถูกเลี้ยงจากนมมารดาในช่วง 6 เดือนแรก ซึ่งพบว่า 50% ของคุณแม่เหล่านี้ระบุตรงกันว่า ***พวกเธอถูกชักจูงจากแพทย์ให้ใช้นมผงสำหรับทารกแทน***
ส่วนในชิลีพบว่า 75% ของแพทย์ พยาบาลผดุงครรภ์ และเจ้าหน้าที่การแพทย์ในโรงพยาบาลมีรายงานว่ามีตัวแทนบริษัทผู้ผลิตนมผงชื่อดังเข้าพบ
อย่างไรก็ตามบริษัทต่างๆที่ถูกเอ่ยชื่ออกแถลงการณ์ไปยังเดอะการ์เดียน ปฎิเสธข้อกล่าวหา ซึ่งทั้ง “เนสท์เล่” และ “มี้ด จอห์นสัน ” ต่างกล่างอ้างถึงความจำเป็นของการให้การสนับสนุนทางการเงินกับบรรดาแพทย์ในการเดินทางเข้าร่วมการสัมนา ถึงแม้ว่ากระทรวงสาธารณสุขฟิลิปปินส์จะยืนยันว่า เป็นการผิดกฎหมายฟิลิปปินส์ก็ตาม
เนสท์เล่กล่าวว่า ทางบริษัทจะทำการสอบสวนของสิ่งที่ปรากฎในรายงาน และจะลงมือจัดการทันทีหากพบว่ามีการกระทำผิดเกิดขึ้น “สิ่งที่รายงานนี้ไม่ได้สะท้อนถึงวัฒนธรรมของเนสท์เล่และการทำธุรกิจของบริษัท” แถลงการณ์กล่าว
ซึ่งทางบริษัทเนสท์เล่ยืนยันว่า ทางบริษัทปฎิเสธอย่างหนักแน่นต่อข้อกล่าวหาที่ไม่เป็นไปตามความรับผิดชอบตามกฎหมายของบริษัท และข้อกำหนดองค์การอนามัยโลก WHO ที่ได้ถูกบังคับใช้ผ่านกฎหมายภายในประเทศ
ส่วนแอ๊บบอตกล่าวว่า “ทางบริษัทมีข้อผูกพันในการทำการตลาดอย่างมีคุณธรรมต่อผลิตภัณฑ์ของเรา ซึ่งสอดคล้องไปกับบทบัญญัติตามกฎหมาย และข้อกำหนดของประเทศที่เราทำธุรกิจด้วย”
และมี้ด จอห์นสัน ยืนยันกับสื่ออังกฤษว่า ไม่ได้รับรายงานการละเมิดเหมือนที่ปรากฎในรายงานเชิงสืบสวนของเดอะการ์เดียนแต่อย่างใด