เอเจนซีส์/รอยเตอร์ - ดัชนีนิกเกอิ ญี่ปุ่น โดนลูกหลงกระแสดาวโจนส์ร่วงวันจันทร์ (5 ก.พ.) ส่งผลช่วงแรกของการซื้อขายวันนี้ (6 ก.พ.) หล่นไป 7.1% ก่อนที่จะสามารถไต่กลับขึ้นมาได้เล็กน้อย ในขณะที่ดาวโจนส์ (Dow) และเอสแอนด์พีฟิวเจอร์ส (S&P futures) ตกไปมากกว่า 4% ในเอเชีย
DW สื่อเยอรมนีรายงานวันนี้ (6 ก.พ.) ว่า ดัชนีนิกเกอิ 225 ของตลาดญี่ปุ่นตกไปมากกว่า 7% ของช่วงต้นการเปิดซื้อขายวันอังคาร (6) ทำสถิติร่วงหนักมากที่สุดภายใน 24 ชม.นับตั้งแต่ปี 1990
พบว่าภายในช่วงบ่ายวันอังคาร (6) นิกเกอิเสียไป 1,589.17 จุด ก่อนที่จะสามารถปีนกลับขึ้นมาได้เล็กน้อยหลังจากนั้น ในขณะที่อินเด็กซ์ปิดเหนือ 21,500 จุด ต่ำ 5%
อ้างอิงจากรอยเตอร์ล่าสุด พบว่าช่วงปิดตลาดญี่ปุ่น ตกไป 4.73% ที่ 21,610.24 ส่งผลทำให้เป็นการตกครั้งใหญ่สุดในรอบ 15 เดือน และถือเป็นการตกที่ต่ำที่สุดของการปิดนับตั้งแต่วันที่ 20 ต.ค. และในแง่ของดัชนี พบว่ามีการลดต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2016
นอกจากนี้ สื่อเยอรมนีชี้ว่า สำหรับดัชนีฮั่งเส็ง ตลาดหุ้นฮ่องกง หลุดไป 3.9% ในขณะที่หุ้นของออสเตรเลีย ในช่วงต้นของการซื้อขายวันอังคาร (6) แสดงให้เห็นการปรับตัวลดลงของผลตอบแทน 4 เดือน
สื่อเยอรมนีชี้ว่า ในส่วนอื่นๆ ของโลกพบว่าตลาดมีการปรับตัวต่ำลงเช่นกัน
ทั้งนี้ การปรับตัวลงของตลาดเอเชียและทั่วโลกเกิดขึ้น 1 วันหลังจากวอลสตรีทขาดทุนหนัก เห็นได้จากดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ อินเด็กซ์ 30 บริษัทชั้นนำสหรัฐฯ ปิดที่ 24,346.13 ต่ำ 4.6%
ในขณะที่ S&P 500 ที่มีฐานกว้างกว่า ตกไป 4.1% อยู่ที่ 2,648.49 ส่วนแนสแดค คอมโพสิต ที่มีหุ้นบริษัทไฮเทคเป็นจำนวนมาก (tech-heavy Nasdaq Composite) ตกไป 3.8% ที่ 6,969.45
DW รายงานว่า เมื่อเปรียบเทียบพบว่าในฝั่งยุโรปดูเหมือนมีการสูญเสียน้อยกว่า แต่อย่าางไรก็ตาม พบว่าตลาดขึ้นกระดานแดงทั่วทั้งแผง ส่วนดัชนีแด็กซ์ (DAX) ตลาดหุ้นเยอรมัน หล่นไป 0.46% และ FTSE 100 ของลอนดอน และ CAC 40 ของฝรั่งเศสหล่นไป 1.5% เท่ากัน
ด้านเจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นระดับสูงเลือกที่จะไม่ให้ความสำคัญในการซื้อขายวันอังคาร (6) โดยรัฐมนตรีการคลังญี่ปุ่น ทาโร อาโซ ปฎิเสธที่จะให้ความเห็นถึงราคาหุ้น แต่ยืนยันว่าผลประกอบการบริษัทนั้นไม่เลวร้าย
ส่วนรัฐมนตรีเศรษฐกิจญี่ปุ่น โทชิมิตสุ โมเตงิ แสดงความเห็นว่า เขาจับตาการเคลื่อนไหวตลาดหุ้นอย่างใกล้ชิด พร้อมย้ำว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นนั้นอยู่ตัว และมีการพัฒนา
ด้านธนาคารกลางออสเตรเลียเปิดเผว่า ทางธนาคารจะยังคงปล่อยให้อัตราดอกเบี้ยไม่มีการการเปลี่ยนแปลงต่อไปที่ 1.5% โดยชี้ไปถึงการบริโภคครัวเรือนเป็นสาเหตุของความไม่แน่นอนอย่างต่อเนื่อง