xs
xsm
sm
md
lg

คอลัมน์นอกหน้าต่าง:กรณีอื้อฉาว‘โกเบ สตีล’ และ ‘นิสสัน’: รอยด่างที่อุตสาหกรรมญี่ปุ่นแก้ไขไม่ได้ง่ายๆ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<i>ผู้บริหารของบริษัทโกเบ สตีล โค้งคำนับ ระหว่างการแถลงข่าวที่กรุงโตเกียว เมื่อวันศุกร์ (13 ต.ค.)  ทั้งนี้ โกเบ สตีล กลายเป็นบริษัทญี่ปุ่นรายล่าสุดที่ออกมายอมรับผิดภายหลังถูกเปิดโปงว่าปลอมแปลงข้อมูลเกี่ยวกับคุณภาพผลิตภัณฑ์ของบริษัท </i>
เอเอฟพี/เอเจนซีส์ – โกเบ สตีล และ นิสสัน ถูกเปิดโปงกรณีฉาวโฉ่น่าอับอายเมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งได้สร้างความแปดเปื้อนให้แก่ชื่อเสียงเกียรติคุณในเรื่องคุณภาพของบรรดาธุรกิจสัญชาติญี่ปุ่น ขณะเดียวกัน เหล่าบริษัท “เจแปน อิงก์” (Japan Inc) ซึ่งเพียงไม่นานมานี้เองยังก้องกระเดื่องในฐานะผู้นำหน้าทรงอำนาจน่าเกรงขามของโลกอุตสาหกรรม เวลานี้กลับกำลังต้องต่อสู้ดิ้นรนอย่างหนักหน่วง ในท่ามกลางการแข่งขันระดับโลกอันดุเดือด และผลกำไรที่หดเล็กลงทุกที

เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ภาพของบิ๊กบอสบริษัทกำลังโค้งคำนับก้มต่ำเพื่อแสดงการขอโทษขอโพยต่อหน้ากล้องถ่ายภาพและวิดีโอ ถูกเผยแพร่ออกไปอย่างกว้างขวางตามสื่อต่างๆ ของญี่ปุ่น และจุดประกายให้เกิดกระแสของการหันกลับมาตรึกตรองค้นหาจิตวิญญาณแห่งชาติกันใหม่อีกระลอกหนึ่ง

นายใหญ่ของโกเบ สตีล ยอมรับว่าบริษัทของเขาได้ปลอมแปลงข้อมูลด้านคุณภาพในผลิตภัณฑ์โลหะต่างๆ ที่จัดส่งไปให้แก่ลูกค้าราว 500 ราย ในจำนวนนี้มีทั้งยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตรถยนต์อย่างโตโยต้า, บริษัทอุตสาหกรรมสร้างเครื่องบิน และบรรดาผู้รับเหมางานด้านผลิตยุทโธปกรณ์ทั้งหลาย

รายงานข่าวที่ระบุว่า ผลิตภัณฑ์ที่มีปัญหาบางส่วนยังถูกใช้ไปในการผลิตรถไฟหัวกระสุน “ชินกังเซน” ของญี่ปุ่นด้วย ยิ่งเพิ่มทวีความขายหน้าให้แก่ตรา “เมดอินเจแปน” ซึ่งครั้งหนึ่งเคยถูกมองว่ามีความหมายเท่ากับคำว่า “คุณภาพ”

การเปิดเผยเรื่องนี้ออกมาได้ทำให้มูลค่าหุ้นของโกเบ สตีล ตกฮวบหดหายคิดเป็นมูลค่าราว 1,800 ล้านดอลลาร์แล้วในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา หรือลดไปมากกว่า 40% ในเวลาเดียวกันความอื้อฉาวยังคงแผ่ลามลงลึกไปสู่ผลิตภัณฑ์อื่นๆ อย่างเช่น ลวดเหล็ก ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ตัวสำคัญที่สุดตัวหนึ่งของบริษัทแห่งนี้

ข่าวของโกเบ สตีล ปรากฏขึ้นมาไม่กี่วันหลังจาก นิสสัน ได้ประกาศขอเรียกคืนรถยนต์ของตนในญี่ปุ่นจำนวนกว่า 1 ล้านคันกลับมาตรวจสอบ ภายหลังยอมรับว่ามีการปล่อยปละให้พนักงานที่ไม่ได้รับมอบอำนาจอย่างถูกต้อง เป็นผู้ดำเนินการตรวจสอบรถขั้นสุดท้ายก่อนขนส่งไปให้แก่บรรดาดีลเลอร์

“ครั้งหนึ่งแบบแผนวิธีการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมญี่ปุ่น เคยได้รับการยกย่องชมเชยจากทั่วโลก แต่เวลานี้ตำแหน่งงานต่างๆ กำลังถูกเอาต์ซอร์ส และโรงงานต่างๆ กำลังถูกส่งไปต่างประเทศ อะไรๆ กำลังเปลี่ยนแปลงไปหมด” โคจิ โมริโอกะ ศาสตราจารย์เกียรติคุณแห่งมหาวิทยาลัยคันไซ กล่าวให้ความเห็น

ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสผู้นี้ชี้ต่อไปว่า การแข่งขันในระดับโลกที่เข้มข้นยิ่งขึ้นทุกขณะ และแรงผลักดันให้ดำเนินการตัดลดต้นทุนค่าใช้จ่ายอย่างไม่รู้จักสิ้นสุด ได้ส่งผลทำให้เกิดสถานการณ์ในพวกประเทศพัฒนาแล้วอย่างญี่ปุ่น ซึ่งบรรดาคนงานพากันเงียบเฉยเพื่อปกป้องคุ้มครองตัวพวกเขาเอง ถึงแม้พวกเขามองเห็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง

“ในเวลาเดียวกับที่โลกาภิวัตน์ดำเนินไปเรื่อยๆ บริษัทต่างๆ จึงกำลังขยายการผลิตในท้องถิ่นที่พวกตนไปตั้งโรงงาน ขณะเดียวกันบรรดาชาติเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ทั้งหลายก็กำลังมีความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้นทุกที” โมริโอกะบอก

แรงกดดันจากคู่แข่งที่เป็นบริษัทอินเดียและบริษัทจีน

การเปิดโปงแลการยอมรับสารภาพของบริษัทญี่ปุ่นเหล่านี้ เกิดขึ้นในขณะที่ภูมิทัศน์ทางอุตสาหกรรมของทั่วโลกกำลังเกิดการเปลี่ยนโฉมแปลงร่างกันอย่างมโหฬาร ผู้เชี่ยวชาญหลายรายระบุ

คนงานในประเทศที่เศรษฐกิจพัฒนาเต็มที่แล้วอย่างญี่ปุ่น ซึ่งมีต้นทุนแพงทั้งในด้านค่าจ้างและสวัสดิการต่างๆ กำลังถูกนำมาแข่งขันแย่งชิงตำแหน่งกันโดยตรง กับพวกแรงงานโรงงานราคาถูกในเหล่าประเทศตลาดเศรษฐกิจเกิดใหม่

พนักงานมากประสบการณ์ที่ได้รับสัญญาจ้างซึ่งมีเสถียรภาพ กำลังถูกแทนที่ด้วยมือใหม่ซึ่งตำแหน่งงานอยู่ในสภาพงานชั่วคราว เวลาเดียวกับที่ฝ่ายบริหารเรียกร้องต้องการผลิตภาพที่สูงยิ่งขึ้นจากลูกจ้างพนักงานทุกๆ คน

ขณะเดียวกัน พวกบริษัทหน้าใหม่ในแวดวงอุตสาหกรรม กำลังสามารถช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดจากเหล่าบริษัทยักษ์ใหญ่ที่อยู่ในวงการมายาวนาน

ตัวอย่างเช่นในภาคการผลิตเหล็กกล้า ยักษ์ใหญ่สัญชาติอินเดียและสัญชาติจีนสามารถที่จะขยายตัวไปได้อย่างสม่ำเสมอ ด้วยการกดดันเบียดขับพวกคู่แข่งสัญชาติญี่ปุ่น

สำหรับในอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์นั้น บริษัทญี่ปุ่นรายมหึมาทั้งหลายใช้วิธีการขยายการผลิตในต่างแดน แทนที่จะทำรถในญี่ปุ่นแล้วส่งออกไปต่างประเทศ
<i> ผู้บริหารของบริษัททากาตะ โค้งคำนับขณะแถลงข่าวเรื่องบริษัทตัดสินใจขอล้มละลาย เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 2017 ภายหลังเจอเรื่องอื้อฉาวแก้ไม่ตกในเรื่องคุณภาพของผลิตภัณฑ์ถุงลมนิรภัยของบริษัท</i>
กรณีฉาวโฉ่ของโกเบ สตีล และนิสสัน ถือเป็นเคสล่าสุดในข่าวพาดหัวด้านลบที่เกิดขึ้นต่อเนื่องเป็นสายยาวของ “เจแปน อิงก์” ซึ่งเมื่อก่อนเคยเป็นที่อิจฉาริษยาของโลก

ทากาตะ ผู้ผลิตถุงลมนิรภัยติดตั้งในรถยนต์ ถึงกับล้มละลายไปในปีนี้ภายหลังใช้เวลาอยู่หลายปีในการรับมืออย่างไม่เป็นผลกับปัญหาผลิตภัณฑ์บกพร่อง ซึ่งเชื่อมโยงกับการเสียชีวิตของผู้คน 16 คนและผู้ได้รับบาดเจ็บอีกหลายสิบรายในทั่วโลก

มิตซูบิชิ มอเตอร์ส เมื่อปีที่แล้วต้องออกมาสารภาพว่าได้ปลอมแปลงข้อมูลการทดสอบระยะทางที่วิ่งไว้เพื่อใช้คำนวณอัตราการประหยัดน้ำมันของรถยนต์ของตน มาเป็นเวลานานปีแล้ว

ซาดายูกิ ซากากิบาระ ประธานของกลุ่มเครันเดน ซึ่งเป็นกลุ่มล็อบบี้ของภาคธุรกิจญี่ปุ่นที่ทรงอำนาจมาก กล่าวยอมรับว่า ความเชื่อมั่นและความไว้วางใจที่ทั่วโลกให้แก่การผลิตทางอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นนั้น อิงอยู่กับเรื่องคุณภาพที่เหนือกว่าอย่างท่วมท้นชนิดที่ประเทศอื่นๆ ไม่อาจแข่งขันด้วยได้

ดังนั้น เรื่องอื้อฉาวต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาจึงถือเป็นเรื่องร้ายแรงมาก ในแง่ที่มัน “อาจส่งผลกระทบ” ต่อความไว้วางใจในการผลิตทางอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น

แพร่กระจายออกไปเหมือนมาจากแม่พิมพ์

แน่นอนทีเดียว เรื่องฉาวโฉ่ไม่ชอบมาพากลของภาคบริษัทธุรกิจนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในญี่ปุ่น กรณี “ดีเซลเกต” (dieselgate) ปี 2015 ที่โฟล์กสวาเกนยอมรับสารภาพว่าได้ติดตั้งรถใช้เครื่องยนต์ดีเซลของบริษัท ด้วยอุปกรณ์ซึ่งจะทำให้ไม่อาจตรวจจับระดับไอเสียที่รถปล่อยออกไปทั้งหมดอย่างแท้จริง ได้ก่อให้เกิดความอับอายขายหน้าอย่างใหญ่หลวงแก่อุตสาหกรรมเยอรมนี ซึ่งก็เคยมีความหมายเท่ากับคำว่า “คุณภาพ” มาแล้วเช่นกัน

ส่วนเจนเนอรัล มอร์เตอร์ส (จีเอ็ม) ของสหรัฐฯ ในปี 2014 ต้องเริ่มต้นเรียกคืนรถหลายล้านคันมาซ่อมแซมแก้ไขความบกพร่องด้านการจุดระเบิดเชื้อเพลิงของเครื่องยนต์ ซึ่งพัวพันกับการเสียชีวิตของผู้คน 124 ราย ภายหลังปิดบังปัญหานี้อยู่เนิ่นนานกว่าสิบปี

แต่นักวิเคราะห์หลายรายชี้ว่า การที่ในญี่ปุ่นมีความเข้มงวดกวดขันเป็นอย่างยิ่งกับเรื่องการควบคุมคุณภาพ อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาขึ้นมา

ในกรณีอื้อฉาวของนิสสันนั้น จุดหนึ่งซึ่งทำให้ผู้คนโดยเฉพาะในต่างประเทศเกิดความข้องใจกันมาก ก็คือความจริงที่ปรากฏออกมาว่า ในการตรวจเช็กคุณภาพนั้น หากเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับจำหน่ายที่ตลาดภายในญี่ปุ่นแล้ว มีการกำหนดให้ใช้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบซึ่งมีคุณวุฒิสูงกว่าพวกที่เช็กรถยนต์สำหรับการส่งออก

โนบุโอะ โกฮาระ ทนายความผู้ชำนาญเรื่องการปฏิบัติตามกฎหมายของภาคบริษัท ซึ่งได้ช่วยเหลือกอบกู้บริษัทหลายๆ แห่งภายหลังเกิดเรื่องฉาวโฉ่ร้ายแรงมาแล้ว บอกว่ามีเรื่องน่าอับอายจำนวนมากทีเดียวที่เกิดขึ้นสืบเนื่องจากการมีมาตรฐานด้านความปลอดภัยหรือด้านคุณภาพที่สูงเกินจำเป็น

เขาบอกว่า การประพฤติมิชอบเริ่มต้นขึ้นมาเมื่อลูกจ้างพนักงานบางคนเห็นว่า การทำให้ถูกต้องตามมาตรฐานเหล่านี้เป็นเพียงการทำตามรูปแบบมากกว่าเป็นการกระทำที่จำเป็น ดังนั้นจึงเริ่มไม่ทำตามมาตรฐานและปิดบังให้พ้นการตรวจจับของหน่วยตรวจสอบภายใน

วัฒนธรรมเช่นนี้ ในองค์การหนึ่งๆ สามารถที่จะแพร่กระจายออกไปเหมือน “ออกมาจากแม่พิมพ์” ทีเดียว โกฮาระบอก

“ถ้าคุณปล่อยสถานการณ์เหล่านี้ไว้โดยไม่เข้าไปแก้ไขรับมือแล้ว องค์การนั้นๆ โดยรวมก็จะชินชากับการไม่ทำตามระเบียบกฎเกณฑ์” เขากล่าว

โกฮาระชี้ว่า พวกลูกจ้างพนักงานที่ยังอยู่ในวัยหนุ่มสาว มีแนวโน้มที่จะเกิดความสำนึกในการทำตามระเบียบกฎเกณฑ์สูงกว่า ขณะเดียวกัน หากมีการใช้ผู้เชี่ยวชาญภายนอกเข้ามาสำรวจตรวจตราคนงานครั้งแล้วครั้งเล่า ก็จะเป็นการสนับสนุนให้กำลังใจคนภายในองค์การที่จะรายงานความไม่ชอบมาพากลที่กำลังเกิดขึ้น

อย่างไรก็ดี เขาเตือนว่า การรายงานความไม่ชอบมาพากล หรือที่เรียกกันว่า “การเป่านกหวีด” (whistle-blowing) นั้น อาจจะไม่ออกมาอย่างถูกต้องเหมาะสม ถ้าหากการประพฤติมิชอบนั้นๆ มีการกระทำอย่างเป็นกิจวัตรและเป็นระบบ โดยผู้คนจำนวนมาก รวมทั้งตัวผู้ที่อาจออกมาเป็น “คนเป่านกหวีด” ด้วย

ไม่เพียงเท่านั้น ในญี่ปุ่นนั้นยังไม่ได้มีระบบปกป้องคุ้มครองอย่างเป็นเรื่องเป็นราวต่อผู้ที่กล้าแฉความไม่ชอบมาพากลในองค์การของตนเอง แถมวัฒนธรรมการเคารพผู้อาวุโสตามลำดับชั้น ยังเป็นตัวป้องกันทำให้ลูกจ้างพนักงานจำนวนมากไม่กล้าพูดอะไรออกมา

“ผมเองสงสัยว่ามีการประพฤติโดยมิชอบเล็กๆ น้อยๆ จำนวนมากทีเดียว เกิดขึ้นอยู่ในเวลานี้ในที่ต่างๆ จำนวนมาก” โกฮาระกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น