xs
xsm
sm
md
lg

น้ำมันลง หุ้นสหรัฐฯ บวก-ทองคำปิดลบ พบเศรษฐกิจอเมริกาแข็งแกร่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รอยเตอร์/มาร์เกตวอตช์ - ราคาน้ำมันในวันพุธ (30 ส.ค.) ปิดลบพอสมควร นักลงทุนจับตาผลกระทบด้านการผลิตและการกลั่นในสหรัฐฯ จากอิทธิพลของพายุฮาร์วีย์ ขณะที่วอลล์สตรีทขยับขึ้นและทองคำปรับลด หลังพบข้อมูลเศรษฐกิจอเมริกาแข็งแกร่งเกินคาดหมาย

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัส อินเตอร์มีเดียต หรือไลต์สวีตครูด เดือนตุลาคม ลดลง 48 เซ็นต์ ปิดที่ 45.96 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม ส่วนเบรนต์ทะเลเหนือลอนดอน งวดส่งมอบเดือนเดียวกัน ลดลง 1.14 ดอลลาร์ ปิดที่ 50.86 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (เอไอเอ) เผยแพร่ข้อมูลในวันพุธ (30 ส.ค.) ระบุว่าคลังน้ำมันดิบสำรองของประเทศลดลง 5.4 ล้านบาร์เรล ในสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 25 สิงหาคม นับเป็นการปรับลด 8 สัปดาห์ติด ขณะที่นักวิเคราะห์คาดหมายว่าจะลดลงแค่ 1.5 ล้านบาร์เรล

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์มองว่าข้อมูลดังกล่าวไม่ได้บ่งชี้ถึงผลกระทบที่แท้จริงจากเฮอริเคนฮาร์วีย์ โดยตัวเลขบางอย่างน่าจะเป็นข้อมูลที่เตรียมไว้ล่วงหน้าก่อนพายุจะซัดถล่ม ในนั้นรวมถึงกำลังผลิตน้ำมันดิบในอ่าวเม็กซิโก

ด้านตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในวันพุธ (30 ส.ค.) ปิดในแดนบวก หลังได้แรงหนุนจากข้อมูลทางเศรษฐกิจ ท่ามกลางการซื้อขายที่เบาบาง

ดาวโจนส์ เพิ่มขึ้น 27.06 จุด (0.12 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 21,892.43 จุด เอสแอนด์พี เพิ่มขึ้น 11.29 จุด (0.46 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 2,457.59 จุด แนสแดค เพิ่มขึ้น 66.42 จุด (1.05 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 6,368.31 จุด

วอลล์สตรีทได้แรงหนุนจากข้อมูลทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง หลังกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เผยแพร่รายงานระบุว่าเศรษฐกิจของประเทศในช่วงไตรมาส 2 เติบโตร้อนแรงกว่าที่คาดหมายไว้ โดยขยายตัว 3.0 เปอร์เซ็นต์ ตรงตามเป้าหมายของทำเนียบขาว จากเดิมประมาณการเบื้องต้นที่ 2.6 เปอร์เซ็นต์

นอกจากนี้แล้ว ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังได้แรงหนุนจากข้อมูลของเอดีพี บริษัทวิจัยตลาดแรงงานของอเมริกา ที่ระบุว่าภาคเอกชนมีการจ้างงานใหม่ 237,000 อัตราในเดือนสิงหาคม มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะเพิ่มขึ้นราว 185,000 อัตรา

ข้อมูลทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของสหรัฐฯ และดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น กัดเซาะอุปสงค์สินทรัพย์เสี่ยงต่ำและฉุดทองคำปิดในแดนลบเมื่อวันพุธ (30 ส.ค.) โดยทองคำตลาดโคเม็กซ์ ลดลง 4.80 ดอลลาร์ ปิดที่ 1,314.10 ดอลลาร์ต่อออนซ์
กำลังโหลดความคิดเห็น