เอเอฟพี - ไอเอ็มเอฟระบุการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกอยู่บนรากฐานที่มั่นคงขึ้น โดยการขยายตัวในจีน ยุโรป และญี่ปุ่นช่วยชดเชยเศรษฐกิจที่แผ่วลงเกินคาดของอเมริกาและอังกฤษ อย่างไรก็ดี มีคำเตือนว่า กระแสต่อต้านโลกาภิวัตน์ที่พุ่งพล่าน และความพยายามในการบ่อนทำลายกฎระเบียบทางการเงินในบางประเทศอาจทำให้เสถียรภาพการเงินโลกคลอนแคลนลง
มอริซ อ็อบสต์เฟลด์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) แถลงเมื่อวันอาทิตย์ (23) ระหว่างการเปิดเผยรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (ดับเบิลยูอีโอ) ฉบับปรับปรุงล่าสุดว่า เศรษฐกิจโลกขณะนี้เติบโตรุดหน้ารวดเร็วกว่าที่คาดไว้ในเดือนเมษายน โดยมีการปรับตัวที่ดีเกิดขึ้นอย่างพร้อมเพรียงและกว้างขวางที่สุดในรอบทศวรรษที่ผ่านมา
ไอเอ็มเอฟคงตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปีนี้และปีหน้าไว้ที่ 3.5% และ 3.6% ตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม รายงานปรับลดการขยายตัวของสหรัฐฯ อยู่ที่ 2.1% สำหรับปีนี้และปีหน้า หรือลดลง 0.2% และ 0.4% ตามลำดับ โดยพิจารณาจากแผนการใช้จ่ายที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ให้สัญญาไว้ด้วยความเชื่อมั่น จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจแดนอินทรี
เช่นเดียวกับเศรษฐกิจอังกฤษที่ถูกปรับลดลง 0.3% อยู่ที่ 1.7% ในปีนี้ อันเป็นผลจากกิจกรรมเศรษฐกิจที่แผ่วกว่าคาดในไตรมาสแรก ขณะที่ผลกระทบจากเบร็กซิต หรือการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (อียู) ของอังกฤษ ยังไม่ชัดเจน
กระนั้น แนวโน้มการเติบโตที่ลดลงของสองประเทศใหญ่นี้ได้รับการชดเชยจากแนวโน้มแง่บวกในหลายประเทศสำคัญ ซึ่งรวมถึงยูโรโซน โดยไอเอ็มเอฟเล็งเป้าหมายการขยายตัวไว้ที่ 1.9% ในปีนี้ และ 1.7% ในปีต่อไป
ญี่ปุ่นเป็นอีกประเทศที่มีการปรับตัวแง่บวก ด้วยอัตราการเติบโตที่คาดว่า จะอยู่ที่ 1.3% ในปีปัจจุบัน ก่อนรูดแรงเหลือเพียง 0.6% ในปี 2018
ขณะเดียวกัน จีนยังคงเป็นตัวขับเคลื่อนหลักสำหรับเศรษฐกิจโลก โดยถูกคาดหมายว่า จะขยายตัว 6.7% ในปีนี้ หรือขยับขึ้น 0.1% จากการคาดการณ์เมื่อเดือนเมษายน อันเป็นผลจากการเติบโตเกินคาดในไตรมาสแรกที่ได้รับการส่งเสริมจากการปฏิรูปด้านอุปทานของรัฐบาล
อย่างไรก็ตาม ในส่วนอัตราเติบโตปีหน้าที่คาดว่า จะอยู่ที่ 6.4% หรือขยับขึ้น 0.2% นั้นเป็นผลจากความล่าช้าในการปรับปรุงสถานะทางการคลัง ซึ่งจะทำให้มีความเสี่ยงตามมาในอนาคต
อ็อบสต์เฟลด์เตือนว่า การขยายตัวเพิ่มขึ้นของจีนต้องแลกกับการเติบโตอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องของสินเชื่อ ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อเสถียรภาพการเงิน
นอกจากนั้น ไอเอ็มเอฟยังเตือนว่า กระแสการต่อต้านโลกาภิวัตน์ที่พุ่งพล่านอาจส่งผลลบต่อทุกประเทศ ส่วนหนึ่งเนื่องจากข้อเท็จจริงที่ว่า ไม่มีการกระจายผลประโยชน์จากการเติบโตที่เพิ่มขึ้นอย่างทั่วถึง
อ็อบสต์เฟลด์สำทับว่า แม้อัตราว่างงานลดลง แต่ค่าแรงไม่มีการเติบโต ซึ่งไม่เพียงขัดขวางการยกระดับมาตรฐานชีวิตเท่านั้น แต่ยังเพิ่มความเสี่ยงในการทำให้ความตึงเครียดในสังคมรุนแรงขึ้น และยิ่งผลักดันให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งโน้มเอียงสนับสนุนนโยบายเศรษฐกิจที่คำนึงถึงแต่ผลประโยชน์ของตัวเองเป็นหลัก
แม้รายงานไม่ได้ระบุชื่อประเทศใด แต่เป็นไปได้มากว่า อาจพาดพิงถึงการเจราจาเบร็กซิต รวมทั้งนโยบาย “อเมริกาต้องมาก่อน” ของทรัมป์ ซึ่งครอบคลุมถึงการลดยอดขาดดุลการค้าทวิภาคี และการถอนตัวจากข้อตกลงการค้าหลายฉบับ
รายงานเตือนว่า นโยบายที่อิงกับผลประโยชน์ภายในประเทศอย่างคับแคบอาจนำมาซึ่งผลลัพธ์อย่างดีที่สุดคือความไร้ประสิทธิภาพ และอย่างร้ายที่สุดคือทำให้ทุกประเทศเสียหายไปตามๆ กัน
นอกจากนั้น รายงานตั้งข้อสังเกตว่า การชะลอหรือยุติการเพิ่มความเข้มงวดของกฎระเบียบทางการเงินและการตรวจสอบที่ประสบผลสำเร็จนับจากวิกฤตการเงิน ซึ่งเป็นแนวทางที่คณะบริหารของทรัมป์กำลังผลักดันอยู่ในเวลานี้ อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อเสถียรภาพการเงินโลก