เอเอฟพี - องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เผยประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นจาก 7,600 ล้านคนในปัจจุบันเป็น 9,800 ล้านคนภายในปี 2050 และอินเดียจะกลายเป็นประเทศที่มีประชากรหนาแน่นที่สุดแซงหน้า “จีน” ในอีกเพียง 7 ปีข้างหน้า
ไนจีเรียจะกลายเป็นประเทศที่มีประชากรมากเป็นอันดับ 3 ของโลกแทนที่สหรัฐอเมริกาในปี 2050 ตามข้อมูลจากสำนักงานกิจการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (UN Department of Economic and Social Affairs) ที่เผยแพร่เมื่อวานนี้ (21 มิ.ย.)
“โลกมีประชากรเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 83 ล้านคนทุกๆ ปี และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าอัตราเจริญพันธุ์จะลดลงก็ตาม” รายงานระบุ
การเพิ่มขึ้นในระดับนี้จะทำให้โลกมีประชากรแตะ 8,600 ล้านคนในปี 2030, 9,800 ล้านคนในปี 2050 และ 11,200 ล้านคนในปี 2100
ทีมนักวิจัย UN ระบุด้วยว่า อินเดียซึ่งมีประชากร 1,300 ล้านคน มากเป็นอันดับ 2 ของโลกในเวลานี้ จะโค่นบัลลังก์แชมป์ประชากรจีน 1,400 ล้านคนได้ภายในปี 2024
ไนจีเรียเป็นประเทศที่มีอัตราการเพิ่มของประชากรสูงที่สุด และในปี 2050 จำนวนประชากรใน 26 ประเทศแอฟริกาจะเพิ่มขึ้น “เท่าตัว” เป็นอย่างน้อย
ประชากรที่อายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเกินเท่าตัวในปี 2050 และจะมากกว่าปัจจุบันถึง 3 เท่าเศษๆ ในปี 2100
จำนวนผู้สูงอายุคาดว่าจะเพิ่มจาก 962 ล้านคนทั่วโลกในปี 2017 แตะระดับ 2,100 ล้านคนในปี 2050 และจะเพิ่มขึ้นเป็น 3,100 ล้านคนในปี 2100