รอยเตอร์/MGRออนไลน์ - ล็อกฮีดมาร์ติน บริษัทอเมริกันที่เป็นผู้ผลิต “เอฟ35” เครื่องบินขับไล่รุ่นที่ 5 ซึ่งใช้เทคโนโลยีสเตลท์ และสามารถปฏิบัติการได้หลากหลายบทบาท กำลังอยู่ระหว่างการเจรจาขั้นตอนสุดท้ายเพื่อจัดทำดีลมูลค่ากว่า 37,000 ล้านดอลลาร์ ในการขายเครื่องบินสุดไฮเทครุ่นนี้ล็อตใหญ่สุดเป็นประวัติการณ์ถึง 440 ลำ ให้กับ 11 ประเทศ ซึ่งนับรวมรัฐบาลสหรัฐฯด้วย บุคคล 2 คนซึ่งทราบเรื่องการเจรจานี้ดีเปิดเผยกับสำนักข่าวรอยเตอร์
รายงานข่าวเกี่ยวกับข้อตกลงคราวนี้ ซึ่งจะกลายเป็นดีลมูลค่าสูงที่สุดเท่าที่เคยมีมาสำหรับ เอฟ 35 ปรากฏออกมาขณะที่เครื่องบินขับไล่สุดไฮเทครุ่นนี้ กำลังจะถูกนำมาโชว์ตัวในงานปารีส แอร์โชว์ ซึ่งเริ่มต้นขึ้นในวันจันทร์ (19 มิ.ย.) โดยถือเป็นการเปิดตัวในงานแสดงเครื่องบินยิ่งใหญ่นี้เป็นครั้งแรก ขณะที่รอยเตอร์ชี้ด้วยว่า ดีลนี้ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญในวิธีการซื้อขายเครื่องบิน จากที่เคยตกลงจัดซื้อกันเป็นประจำปี ก็หันมาทำเป็นข้อตกลงระยะหลายๆ ปี ซึ่งช่วยให้ราคาเครื่องบินแต่ละลำลดลง โดยสำหรับครั้งนี้จะมีการแบ่งจ่ายเป็น 3 งวด ระหว่างปีงบประมาณ 2018 ถึง 2020
แหล่งข่าวที่ไม่ประสงค์ออกนามบอกกับรอยเตอร์ ว่า เวลานี้ยังไม่มีการสรุปราคาสุดท้าย อย่างไรก็ดี เป็นที่คาดว่า ราคาเฉลี่ยของเครื่องบิน เอฟ35 ทั้ง 440 ลำ จะอยู่ที่ลำละ 85 ล้านดอลลาร์
ทางด้านตัวแทนของล็อกฮีด แถลงว่า บริษัทไม่มีนโยบายในการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการเจรจาซื้อขาย และข้อตกลงเกี่ยวกับ “การซื้อล็อตใหญ่” จะประกาศโดยรัฐบาลสหรัฐฯ
สัปดาห์ที่ผ่านมา ตัวแทนจาก 11 ประเทศที่พร้อมเป็นลูกค้า เอฟ35 ได้พบหารือกันในเมืองบัลติมอร์ รัฐแมริแลนด์ เพื่อหารือเงื่อนไขและเยี่ยมชมโรงงานของนอร์ธรอป กรัมแมน ที่เป็นผู้จัดหาอุปกรณ์จำนวนหนึ่งสำหรับเครื่องบินขับไล่ล่องหนรุ่นนี้ โดยประเทศเหล่านี้ ได้แก่ ออสเตรเลีย เดนมาร์ก อิสราเอล อิตาลี ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ ตุรกี เกาหลีใต้ อังกฤษ และ สหรัฐฯ
ตามการเปิดเผยของแหล่งข่าวบันทึกความเข้าใจที่ล็อกฮีดกำลังเจรจากับลูกค้าเหล่านี้ ระบุถึงการจัดซื้อ เอฟ35 จำนวน 135 ลำ หรือมากกว่านั้น ในปีงบประมาณ 2018 สำหรับการส่งมอบในปี 2020 ในราคาลำละประมาณ 88 ล้านดอลลาร์ ขณะที่การจัดซื้อในปีงบประมาณ 2019 และ 2020 นั้น จะเพิ่มเป็นปีละ 150 ลำหรือมากกว่านั้น
ทั้งนี้ ราคาเฉลี่ยในปี 2019 อยู่ที่ประมาณลำละ 85 ล้านดอลลาร์ และสำหรับ เอฟ35 “เอ” อาจลดลงเหลือต่ำกว่า 80 ล้านดอลลาร์ ในปี 2020 ซึ่งถือเป็นราคาต่ำสุดเท่าที่เคยมีการซื้อขายมาสำหรับเครื่องบินรุ่นนี้ ทำให้ข้อตกลงนี้เป็นขั้นตอนสำคัญในการลดราคาโดยรวมของเครื่องบินแต่ละลำ
เท่าที่ผ่านมา เอฟ35 ถูกวิจารณ์อย่างกว้างขวาง ว่า ราคาแพงเกินเหตุ ในจำนวนนี้รวมถึงประธานาธิบดี
โดนัลด์ ทรัมป์ และเจ้าหน้าที่อเมริกันคนอื่นๆ ที่โจมตี ว่า โครงการราคาแพงที่สุดของเพนตากอนนี้ทั้งล่าช้าและงบบานปลาย นอกจากนั้น เมื่อไม่กี่วันมานี้ยังมีคำสั่งระงับฝูงบิน เอฟ35 ในฐานทัพอากาศลุด รัฐแอริโซนา ขึ้นบิน เนื่องจากพบความผิดปกติในการจ่ายออกซิเจนให้นักบิน
บันทึกความเข้าใจที่จะตกลงกันนี้ รับประกันว่าจะมีการทำสัญญาต่อเนื่องทุกปี เพื่อให้กลุ่มการผลิตที่นำโดยล็อกฮีดได้ประโยชน์จากการประหยัดจากขนาดในรูปการลดต้นทุนเครื่องบินแต่ละลำ โดยผู้ผลิตเหล่านี้ ซึ่งรวมถึง แพรตต์ แอนด์ วิทนีย์ ของ ยูไนเต็ด เทคโนโลยีส์ และ บีเออี ซิสเต็มส์ กำลังพยายามลดต้นทุนเครื่องบินผ่านการปรับปรุงห่วงโซ่อุปทานให้มีความคล่องตัว และการจัดซื้อวัสดุปริมาณมาก
แหล่งข่าวคนหนึ่งเผยว่า ตัวเลขประมาณการที่มีการทบทวนเมื่อเร็วๆ นี้ ระบุว่า กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ คาดว่า จะใช้งบประมาณ 379,000 ล้านดอลลาร์ หรือลดลงจาก 391,000 ล้านดอลลาร์ ในการพัฒนาและจัดซื้อเครื่องบินขับไล่ความเร็วเหนือเสียงรุ่นนี้เป็นจำนวน 2,443 ลำ จนกระทั่งถึงปี 2039
เอฟ35 จะมีทั้งหมด 3 รุ่นคือ “เอ” สำหรับกองทัพอากาศสหรัฐฯ และพันธมิตร, รุ่น “บี” ที่ใช้ระยะทางในการขึ้นบินสั้นและลงจอดในแนวดิ่ง สำหรับหน่วยนาวิกโยธินสหรัฐฯ และกองทัพเรืออังกฤษ และรุ่น “ซี” สำหรับประจำการบนเรือบรรทุกเครื่องบิน
เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เพนตากอนตกลงซื้อเครื่องบินรบรุ่นนี้ล็อตที่ 10 ในราคาลำละต่ำกว่า 95 ล้านดอลลาร์เป็นครั้งแรก เทียบกับ 102 ล้านดอลลาร์ ในการจัดซื้อครั้งก่อนหน้าซึ่งเป็นราคาต่ำที่สุด ณ ขณะนั้น และเพนตากอนยังระบุว่า ราคา เอฟ35 น่าจะลดลง 16% อยู่ที่ราว 80 ล้านดอลลาร์ในการจัดซื้อในอนาคต
เอฟ35 สร้างรายได้ให้ล็อกฮีดประมาณ 37% ของรายได้ทั้งหมด ระหว่างไตรมาสแรก บริษัทมีรายได้จากธุรกิจการบินเพิ่มขึ้น 8% เป็น 4,100 ล้านดอลลาร์ จากยอดขาย เอฟ35 ที่เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ ผู้บริหารของล็อกฮีด คาดว่า ข้อตกลงระยะยาวจะช่วยประหยัดงบประมาณให้ประเทศที่เลือกร่วมกลุ่มจัดซื้อแบบนี้ราว 2,000 ล้านดอลลาร์