เอเอฟพี - ยอดผู้เสียชีวิตจากฝนมรสุมใหญ่และดินถล่มทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของบังกลาเทศ พุ่งเป็นอย่างน้อย 134 ศพ ขณะที่เหยื่อจำนวนมากถูกดินโคลนถล่มทับบ้านเรือนยามที่หลับใหล จากการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่ในวันอังคาร (13 มิ.ย.)
ภัยพิบัติครั้งนี้เกิดขึ้นไม่กี่สัปดาห์หลังพายุไซโคลนลูกหนึ่งเพิ่งซัดถล่มภูมิภาคเดียวกันนี้ ทำลายค่ายที่พักอาศัยของเหล่าผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจาหลายหมื่นคน
จากข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการพบว่า จนถึงตอนนี้มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างต่ำ 134 ราย แต่ตำรวจเตือนว่ายอดเหยื่ออาจพุ่งสูงกว่านี้ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ฉุกเฉินเพิ่งเข้าถึงแถบเทือกเขาจิตตะกอง พื้นที่ซึ่งโทรศัพท์และการคมนาคมถูกตัดขาด
มันซูรัล มันนัน ผู้บริหารเขตรางกามาตี ซึ่งได้รับผลกระทบหนักหน่วงที่สุดเผยว่า แค่ที่นี่แห่งเดียวพบผู้เสียชีวิตอย่างน้อยๆ 98 ราย พร้อมเตือนว่า “ยอดผู้เสียชีวิตอาจสูงขึ้นอีก”
เจ้าหน้าที่เปิดผยกับเอเอฟพีว่า พบผู้เสียชีวิตอีกอย่างน้อย 30 คนในย่านจิตตะกอง และอีก 6 คนที่บันดาบาน และมีผู้สูญหายราว 15 คน ซึ่งเกรงกว่าอาจถูกฝังอยู่ใต้กองโคลน
เหยื่อส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านของชุมชนชนเผ่ายากจนต่างๆ ในพื้นที่ห่างไกลของเขตรางกามาตี ซึ่งอยู่ใกล้ชายแดนอินเดีย เนื่องจากได้เกิดดินถล่มหลายจุด ทับบ้านเรือนของประชาชนหลายร้อยหลัง
ซาเยด ตาริกุล ฮาซาน ผู้บัญชาการตำรวจท้องถิ่นเผยว่าเหตุดินถล่มเกือบทั้งหมด เกิดขึ้นในช่วงรุ่งสางของวันอังคาร (13 มิ.ย.) “บางส่วนในนั้นกำลังนอนหลับอยู่ภายในบ้านซึ่งตั้งอยู่เชิงเขา ตอนที่ดินถล่มลงมา”
ยอดผู้เสียชีวิตจำนวนมากเกิดขึ้นแม้ว่าตำรวจและเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นได้ออกคำสั่งอพยพชาวบ้านหลายพันคนที่อาศัยอยู่ในชุมชนแออัดต่างๆ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณด้านล่างของภูเขาในเขตจิตตะกองที่อยู่ติดกัน หลังจากก่อนหน้านี้เมื่อราว 10 วันก่อน ได้เกิดเหตุดินถล่มครั้งใหญ่ฝังหมู่บ้านแห่งหนึ่ง คร่าชีวิตผู้คนไปถึง 126 ศพ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงจัดการภัยพิบัติและบรรเทาทุกข์ เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่าเจ้าหน้าที่ได้จัดตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราว 18 แห่งตามเขตต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบหนักหน่วงที่สุด เพื่อรองรับผู้อพยพราว 4,500 คน
เรอาซ อาห์เมด หัวหน้ากรมจัดการภัยพิบัติ เปิดเผยว่าทีมตอบสนองภัยพิบัติถูกส่งเข้าประจำการแล้ว แต่เข้าไม่ถึงพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด “เมื่อฝนหยุดตก เราจะได้ภาพรวมความเสียหายอย่างสมบูรณ์และเดินหน้างานภู้ภัยเต็มพิกัด” เขากล่าว
ฝนมรสุมใหญ่ครั้งนี้เกิดขึ้นไม่กี่สัปดาห์หลังพายุไซโคลนโมรา ซัดถล่มทางตะวันออกเฉียงใต้ของบังกลาเทศ คร่าชีวิต 8 ศพและทำลายบ้านเรือนหลายหมื่นหลัง
โมฮัมหมัด อานัม แกนนำชาวโรฮีนจา เปิดเผยว่าฝนที่ถล่มลงมาล่าสุด ซ้ำเติมสถานการณ์ในค่ายผู้อพยพที่ได้รับความเสียหายร้ายแรงจากพายุไซโคลนให้ยิ่งเลวร้ายลงไปอีก “เรามีชีวิตอยู่ท่ามกลางความกลัวว่าจะเกิดดินถล่ม”
ทั้งนี้ มีชาวโรฮีนจาราว 300,000 คน พักอาศัยอยู่ตามค่ายต่างๆ ทางตะวันออกเฉียงใต้ของบังกลาเทศ หลังหลบหนีการตามประหัตประหารในพม่า