xs
xsm
sm
md
lg

InClip : เปอร์โตริโก “เซย์เยส” ประชามติครั้งประวัติศาสตร์ ขอเป็นรัฐที่ 51 ของสหรัฐฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอเจนซีส์/MGR ออนไลน์ - เมื่อวานนี้ (11 มิ.ย.) เปอร์โตริโกซึ่งมีฐานะเป็น “ดินแดน” ของอเมริกา ได้ออกมาลงประชามติครั้งประวัติศาสตร์ แสดงความต้องการให้ดินแดนแคริบเบียนแห่งนี้กลายเป็นรัฐที่ 51 ของสหรัฐฯ ด้วยผลคะแนนเสียงผ่านการเห็นชอบของประชาชนเปอร์โตริโกถึง 97.18% แต่ทว่าประชามตินี้ไม่มีผลผูกพันที่สามารถบังคับรัฐสภาคองเกรสของสหรัฐฯ ต้องทำตามผลที่ออกมา

RT สื่อรัสเซียรายงานวันนี้ (12 มิ.ย.) ว่า คณะกรรมาธิการจัดการเลือกตั้งเปอร์โตริโก CEE แถลงถึงผลการลงประชามติในการสอบถามประชาชนชาวเปอร์โตริโกว่า ต้องการเข้าร่วมเครือมลรัฐสาธารณรัฐกับสหรัฐอเมริกาในฐานะรัฐที่ 51 หรือไม่

ในการแถลงพบว่า ผลการลงประชามติออกมาถึง 97.18% ของผู้ที่ลงคะแนนยืนยันต้องการให้เปอร์โตริโกเป็นรัฐที่ 51 ของอเมริกา ซึ่งในขณะนี้เปอร์โตริโกถือเป็นหนึ่งในดินแดนของอเมริกา โดยมีชื่อทางการคือ “เครือรัฐเปอร์โตริโก” (Estado Libre Asociado de Puerto Rico) ซึ่งถือว่าประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นผู้นำสูงสุด แต่มีผู้ว่าการดินแดนเปอร์โตริโกของตัวเอง คือ รีการ์โด โรเซโย (Ricky Rosselló) และภาษาราชการคือ ภาษาสเปนและภาษาอังกฤษ

แต่อย่างไรก็ตาม CEE ชี้ว่า ในผลการลงคะแนนนั้น มีราว 1.5% ที่ต้องการให้เปอร์โตริโกเป็นอิสระจากอเมริกา ในขณะที่อีก 1.32% แสดงความต้องการที่จะยังคงอยู่ร่วมเป็นเครือรัฐที่มีผู้ว่าการดินแดนของตัวเอง และอยู่ใต้สหรัฐฯ ในฐานะดินแดนของอเมริกาต่อไป

สื่อรัสเซียชี้ว่า เป็นที่น่าเสียดายว่า ถึงแม้จะมีเสียง “เยส” ตอบออกมาล้นหลามจากการลงประชามติล่าสุด แต่ทว่าเป็นทีว่าจากจำนวนผู้มีสิทธิลงคะแนนทั้งประเทศ 2.25 ล้านคน กลับมีผู้มาลงทะเบียนใช้สิทธิการลงประชามติเพียง 23% เท่านั้น ซึ่งพบว่าการลงประชามติในวันอาทิตย์ (11 มิ.ย.) ถูกพรรคฝ่ายค้านเปอร์โตริโกทำการบอยคอต ซึ่งมีการออกมาประกาศถากถางว่า ผลการลงประชามตินั้นเป็นการทำลายเครดิตครั้งใหญ่ของผู้นำเปอร์โตริโก เช่น โรเซโย

RT รายงานต่อว่า และเนื่องจากผลการลงประชามตินี้ไม่เป็นที่ผูกพัน ดังนั้น การที่เปอร์โตริโกจะเข้าร่วมเป็นรัฐที่ 51 ได้หรือไม่ต้องตกเป็นหน้าที่ของสภาคองเกรสสหรัฐฯ ว่าจะรับพิจารณาหรือไม่ ซึ่งสื่อรัสเซียชี้ช่องว่า จากมาตรา 4 เซกชัน 3 ของกฎหมายรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ได้เปิดโอกาสให้สภาคองเกรสมีอำนาจสามารถอนุมัติได้

แต่อย่างไรก็ตาม เป็นที่เชื่อว่าสภาคองเกรสสหรัฐฯ ที่ในขณะนี้พรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมากในทั้ง 2 สภาจะไม่เห็นด้วยต่อการให้เปอร์โตริโกเข้าร่วม เพราะต้องอัดงบประมาณจากรัฐบาลกลางให้กับรัฐน้องใหม่ที่จะกลายเป็นรัฐที่จนที่สุดในอเมริกา ซึ่งในปัจจุบันนี้ รัฐบาลของโรเซโยประสบปัญหาสภาพวิกฤตทางการคลัง ปัญหาระบบการให้บริการสาธารณะ นอกจากนี้ยังมีอัตตราการว่างงานสูงถึง 12% และการให้บริการด้านสาธารณูปโภคพื้นฐานในเปอร์โตริโกสูงกว่าในแผ่นดินใหญ่อเมริกาถึง 64% ส่งผลให้ถึงครึ่งล้านเปอร์โตริกันอพยพเข้าอเมริกาในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ เปอร์โตริโกเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 1898 ผลจากสงครามสเปน-อเมริกา และถึงแม้พลเมืองเปอร์โตริโกจะได้ชื่อว่าเป็นพลเมืองสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 1917 แต่ทว่าพลเมืองของดินแดนแห่งนี้ยังต้องต่อสู้ในช่องว่างระหว่างความเป็นพลเมืองของดินแดนอาณานิคมอเมริกา และพลเมืองสหรัฐฯ ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญอเมริกา



กำลังโหลดความคิดเห็น