เอเจนซีส์ - กาตาร์ระบุในวันจันทร์ (12 มิ.ย.) ว่าได้เริ่มทำการส่งสินค้าผ่านทางโอมานเพื่ออ้อมหลบประเทศในแถบอ่าวอาหรับ ที่ปิดเส้นทางเดินเรือของชาติที่เล็กแต่อุดมไปด้วยพลังงานอย่างกาตาร์ นับเป็นความเคลื่อนไหวล่าสุดที่แสดงให้เห็นว่าจะสามารถเอาตัวรอดจากความขัดแย้งทางการทูตกับประเทศเพื่อนบ้านได้
เจ้าหน้าที่การท่าเรือของกาตาร์ได้เผยแพร่วีดีโอที่แสดงให้เห็นเรือขนส่งสินค้าลำหนึ่งที่มาจากท่าเรือโซฮาร์ของโอมาน กำลังขนถ่ายสินค้าลงมาที่ท่าเรือฮามัดในกรุงโดฮา โดยมีการฉีดน้ำเพื่อต้อนรับด้วย
โดยทั่วไปแล้ว สินค้าที่จะนำเข้ากาตาร์ จะต้องไปหยุดอยู่ที่ท่าเรือน้ำลึก "เจเบล อาลี" ในนครดูไบ หรือไม่ก็ไปหยุดที่กรุงอาบูดาบี เมืองหลวงของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) จากนั้นจึงขนใส่เรือเล็กเข้ามาที่โดฮา
อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่วันที่ 5 มิถุนายนที่ผ่านมา ยูเออีได้ร่วมมือกับซาอุดีอาระเบีย บาห์เรนและอียิปต์ ปิดเส้นทางเดินเรือไปสู่กาตาร์ อันเป็นส่วนหนึ่งของการตัดสัมพันธ์ทางการทูตจากข้อกล่าวหาว่ากาตาร์ให้การสนับสนุนกลุ่มติดอาวุะหัวรุนแรง รวมถึงมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับอิหร่าน
เจ้าหน้าที่การท่าเรือของกาตาร์ระบุว่า สินค้าจะเดินทางผ่านท่าเรือโซฮาร์ รวมถึงท่าเรือที่เมืองซาลาลาห์ของโอมานด้วย เป็นการอ้อมเพื่อที่จะได้ไม่ต้องไปจอดตามท่าเรือของประเทศที่ตัดความสัมพันธ์ ขณะที่บริษัทขนส่งระดับโลกอย่าง Maersk ก็ได้บอกว่า จะเริ่มใช้ท่าเรือที่ซาลาลาห์เป็นจุดขนส่งสินค้าสำหรับกาตาร์
ขณะเดียวกัน สำนักข่าว IRNA ของทางการอิหร่าน ได้รายงานว่า เรือของกองทัพเรืออิหร่านจำนวน 2 ลำ จะไปจอดลอยลำนอกชายฝั่งโอมานในอีกไม่นานนี้ อันเป็นส่วนหนึ่งของการตรวจตราป้องกันโจรสลัด
ทั้งนี้ โอมานไม่ได้ร่วมมือกับบรรดาชาติอาหรับที่ตัดความสัมพันธ์กับกาตาร์ ประเทศที่เป็นเสมือนช่องทางหลังบ้านสำหรับการเจรจา ในกรณีที่รัฐบาลจากชาติตะวันตกอยากจะคุยกับอิหร่าน
วิกฤติการทูตครั้งนี้ ถือว่าเลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่เหตุการณ์อิรักบุกคูเวตเมื่อปี 1990 จนกลายเป็นสงครามอ่าวเปอร์เซียในตอนนั้น ปัจจุบันกาตาร์มีฐานทัพสหรัฐฯ และกำลังจะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 ทั้งยังเป็นศูนย์กลางการเดินทางระหว่างประเทศ แต่ตอนนี้สายการบิน "กาตาร์ แอร์เวย์" ต้องหันไปบินผ่านอิหร่านและตุรกีหลังจากถูกปิดเส้นทางบินอื่นๆ ในตะวันออกกลาง
หลังเกิดเหตุการณ์ความโกลาหลตามร้านค้าซูเปอร์มาร์เก็ตเพราะผู้คนตื่นตระหนก ตอนนี้กาตาร์รับสินค้าที่เป็นผลิตภัณฑ์จากนมมาจากตุรกี ขณะที่อิหร่านส่งผักมาให้ทางอากาศ และมีแผนจะส่งผลไม้ประมาณ 350 ตันมาทางทะเลให้กับประเทศที่มีก๊าซธรรมชาตินอกชายฝั่งมากมายมหาศาลอย่างกาตาร์