รอยเตอร์/เอเจนซีส์ - ซาอีฟ อัล-อิสลาม กัดดาฟี บุตรชายคนรอง และเคยถูกมองว่าได้รับการวางตัวเป็นทายาทของ มูอัมมาร์ กัดดาฟี อดีตจอมเผด็จการของลิเบีย ได้รับการปล่อยตัวโดยกลุ่มติดอาวุธในภาคตะวันตกของประเทศ อันเป็นสถานที่ซึ่งเขาถูกคุมขังเรื่อยมาภายหลังการลุกฮือโค่นล้มบิดาของเขาในปี 2011 ทั้งนี้ ตามคำแถลงของหนึ่งในทนายความของเขาและกองกำลังอาวุธที่เกี่ยวข้อง
บุตรชายคนที่สองของอดีตจอมเผด็จการกัดดาฟีผู้นี้ ได้รับการปล่อยตัวในเมืองซินตัน ภายใต้กฎหมายนิรโทษกรรมที่ผ่านออกมาโดยรัฐสภา ซึ่งตั้งอยู่ในภาคตะวันออกของลิเบีย ทนายความ คอเลด อัล-ไซดี แถลงในวันอาทิตย์ (11 มิ.ย.) พร้อมกับบอกด้วยว่า ซาอีฟกำลังมุ่งหน้าไปยังเมืองใหญ่อีกเมืองหนึ่งซึ่งไม่สามารถระบุชื่อได้ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย
ซาอีฟ ซึ่งปัจจุบันอายุ 44 ปี ถือเป็นบุตรคนสำคัญที่สุดของกัดดาฟี และได้รับการยกย่องเชิดชูจากบางฝ่ายว่าเป็นไปได้ที่จะได้เป็นทายาทขึ้นปกครองลิเบียคนต่อไป ก่อนที่จะเกิดการลุกฮือของประชาชนด้วยความสนับสนุนของกลุ่มพันธมิตรในยุโรปเมื่อ 6 ปีก่อน ซึ่งกัดดาฟีถูกโค่นล้มและถูกสังหาร
ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่า กัดดาฟีหนุ่มใหญ่ผู้นี้สามารถแสดงบทบาทอะไรในลิเบีย ซึ่งกำลังอยู่ในสภาพแตกแยกกันอย่างหนัก และสลับซับซ้อนภายหลังที่ระบอบปกครองของบิดาของเขาถูกโค่นล้มไป โดยที่มีทั้งกลุ่มติดอาวุธหลายกลุ่ม และรัฐบาลหลายรัฐบาลตั้งขึ้นมาแข่งขันแย่งชิงอำนาจกันอยู่
แต่มีบางฝ่ายในลิเบียตะวันออก ซึ่ง คอลิฟะห์ ฮัฟตาร์ ผู้บัญชาการทหารชื่อดังพยายามสร้างสมอำนาจอยู่ กำลังพยายามบีบคั้นให้ซาอีฟได้รับการปล่อยตัวเป็นอิสระ ท่ามกลางกระแสผลักดันจากบุคคลต่างๆ ในอดีตระบอบปกครองกัดดาฟี เพื่อมุ่งสร้างอำนาจอิทธิพลขึ้นมาอีกครั้ง
ก่อนหน้านี้ ก็เคยมีรายงานหลายครั้งว่าซาอีฟได้รับการปล่อยตัวจากซินตันแล้ว ทว่า กลายเป็นข่าวเท็จทุกๆ ครั้ง รวมทั้งยังมีรายงานข่าวคราวซึ่งสับสนและขัดแย้งกันเองเกี่ยวกับฐานะในปัจจุบันของเขา
สำหรับในครั้งนี้ นอกจากทนายความของเขาแล้ว ทางด้านกองกำลัง อบูบาเกอร์ ซาดิก (Abubaker Sadiq brigade) ของเมืองซินตัน ซึ่งกำลังทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลรักษาความปลอดภัยของซาอีฟ ก็แถลงว่าได้ตัดสินใจปล่อยตัวบุตรชายกัดดาฟีผู้นี้ หลังจากได้รับคำขอร้องหลายครั้งจากกระทรวงยุติธรรมของรัฐบาลชุดหนึ่งซึ่งตั้งฐานอยู่ในลิเบียตะวันออก
“เราตัดสินใจปล่อยตัว ซาอีฟ อัล-อิสลาม มูอัมมาร์ กัดดาฟี ผู้ซึ่งเวลานี้เป็นอิสระแล้ว และเรายืนยันว่าเขาได้ออกไปจากซินตันในวันที่เขาได้รับการปล่อยตัว ณ วันที่ 14 ของเดือนรอมฎอน (ซึ่งก็คือวันศุกร์ที่ 2 มิถุนายนที่ผ่านมา)” กองกำลังนี้กล่าวในคำแถลง
เมื่อปี 2015 ศาลในกรุงตริโปลีได้ตัดสินลงโทษประหารชีวิตซาอีฟ ในความผิดฐานก่ออาชญากรรมสงครามหลายกระทง ซึ่งในนั้นคือการเข่นฆ่าพวกผู้ประท้วงในระหว่างเกิดการปฏิวัติลุกฮือโค่นระบอบปกครองของบิดาของเขา
รัฐบาลในกรุงตริโปลีเวลานี้ซึ่งใช้ชื่อว่า “รัฐบาลของการปรองดองแห่งชาติ (government of National Accord ใช้อักษรย่อว่า GNA)” ได้รับการหนุนหลังจากสหประชาชาติ และพยายามดิ้นรนอย่างหนักเพื่อประกาศบังคับใช้อำนาจควบคุมของตน ทว่ายังคงถูกปฏิเสธจากฝักฝ่ายทรงอำนาจต่างๆ ซึ่งตั้งฐานอยู่ทางภาคตะวันออกของประเทศ
ขณะที่ซินตัน ซึ่งมีอำนาจเพิ่มพูนขึ้นมามากจากบทบาทที่แสดงอยู่ในการลุกฮือโค่นกัดดาฟีเมื่อปี 2011 ได้แสดงการไม่ยอมรับอำนาจของตริโปลีเรื่อยมา รวมทั้งปฏิเสธไม่ยอมส่งตัวซาอีฟไปให้ โดยที่ซาอีฟยังเป็นที่ต้องการตัวของศาลอาญาระหว่างประเทศในกรุงเฮก ซึ่งระบุว่าการไต่สวนพิจารณาคดีซาอีฟที่กระทำในลิเบีย ไม่ได้มาตรฐานของนานาชาติ
ไม่เป็นที่ทราบกันว่า พวกที่คุมขังซาอีฟอยู่ได้ตั้งเงื่อนไขอะไรหรือไม่ในการปล่อยตัวเขา รวมทั้งทำไมพวกเขาจึงยอมปล่อยตัว ทั้งๆ ที่เห็นกันอยู่ว่านักโทษผู้นี้คือเบี้ยหมากสำหรับใช้ในการต่อรองตัวสำคัญตัวหนึ่ง
ซินตัน ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากตริโปลีไปทางตะวันตกเฉียงใต้ราว 145 กม. ก็มีความแตกแยกภายในตัวเองเช่นกัน ทว่า กลุ่มต่างๆ ในเมืองนี้ยังคงจับกลุ่มเป็นพันธมิตรอย่างหลวมๆ กับรัฐบาลและพวกกองกำลังในภาคตะวันออกของลิเบีย
อย่างไรก็ดี ยังคงปรากฏคำแถลงฉบับหนึ่งระบุว่าออกมาจากสภาฝ่ายทหารและสภาเทศบาลของซินตัน ซึ่งประณามการตัดสินปล่อยตัวซาอีฟในคราวนี้อย่างรุนแรง
คำแถลงกล่าวว่า ความเคลื่อนไหวครั้งนี้ “ไม่ได้มีอะไรเกี่ยวกับการทำตามกระบวนวิธีทางกฎหมายแต่อย่างใด หากแต่เป็นการสมคบกันและเป็นการการทรยศต่อเลือดเนื้อของผู้เสียสละพลีชีพและของสถาบันทางทหาร ซึ่งพวกเขาอวดอ้างว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันนี้”
“ดาบแห่งอิสลาม”
ซาอีฟ อัล-อิสลาม ซึ่งชื่อของเขาแปลว่า “ดาบแห่งอิสลาม” เป็นบุตรคนที่ 2 ในจำนวน 8 คนของกัดดาฟี แต่เขาเป็นบุตรชายคนโตสุดที่เกิดกับภรรยาคนที่ 2 นาม ว่า ซาฟิยะ ของจอมเผด็จการแห่งลิเบียผู้นี้
เขาได้รับปริญญาเอกจากสถาบันการศึกษาชื่อก้องอย่าง ลอนดอน สคูล ออฟ อีโคโนมิกส์ (แอลเอสอี) แม้มีข้อครหาว่าวิทยานิพนธ์ของเขาได้รับความช่วยเหลืออย่างมากมายจากอาจารย์หลายคน แต่ถึงอย่างไรเขาก็เป็นผู้ที่พูดภาษาอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่ว เขาเคยปรากฏตัวอยู่บ่อยๆ ในโลกตะวันตก ในฐานะเป็นใบหน้าสำหรับแสดงต่อนานาชาติของระบอบปกครองของบิดา และได้รับการเล็งแลจากหลายๆ ฝ่ายว่าเป็นผู้ซึ่งอาจกลายมาเป็นผู้ผลักดันการปฏิรูปในลิเบีย
แต่ภาพลักษณ์ความเป็นนักปฏิรูปของเขาลางเลือนไปอย่างรวดเร็ว เมื่อเกิดการลุกฮือต่อต้านระบอบเผด็จการที่ครองอำนาจมาอย่างยาวนานถึง 42 ปีของบิดาของเขา
ซาอีฟ อัล-อิสลาม กลับกลายเป็นใบหน้าแสดงความท้าทายของระบอบปกครองที่กำลังต่อสู้ดิ้นรนเอาชีวิตรอด ซึ่งปรากฏตัวทางทีวีหรือออกมาแถลงข่าวเพื่อเตือนพวกกลุ่มพลังฝ่ายค้านว่าจะต้องถูกบดขยี้
ตัวเขาและบุคคลสำคัญอื่นๆ อีก 8 คนของระบอบกัดดาฟี ในนี้รวมถึงหัวหน้าสปายใหญ่ อับดุลเลาะห์ อัล-เซนุสซี ถูกศาลในตริโปลีตัดสินลงโทษประหารชีวิตในเดือนกรกฎาคม 2015
ในเดือนกรกฎาคม 2016 ทีมทนายความของซาอีฟ อัล-อิสลาม อ้างว่าลูกความของพวกเขาได้รับการปล่อยตัวภายใต้กฎหมายนิรโทษกรรมที่ออกมาโดยพวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบซึ่งมิได้รับยอมรับโดยทั่วไปในภาคตะวันออกของประเทศ
ทว่า รัฐบาล GNA ในตริโปลีโต้แย้งว่า การนิรโทษกรรมดังกล่าวซึ่งมีผลบังคับในเดือนเมษายนปีนั้น ไม่สามารถใช้กับบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่าประกอบอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ เฉกเช่นตัว ซาอีฟ อัล-อิสลาม
ในช่วงที่เกิดการลุกฮือขึ้นนี้ บุตรชายของกัดดาฟี 3 คนจากจำนวน 7 คนเสียชีวิต
บุตรชายคนหนึ่งที่ยังมีชีวิตอยู่ ชื่อ ซาอาดี ยังกำลังถูกไต่สวนพิจารณาคดีอยู่ในลิเบีย ด้วยข้อหาที่ว่าเขาพัวพันกับการทำลายและสังหารอดีตโค้ชฟุตบอลผู้หนึ่ง
ขณะเดียวกัน มีรายงานว่า มารดาของ ซาอีฟ อัล-อิสลาม พร้อมด้วยน้องๆ ของเขาบางคน สามารถหลบหนีไปจนถึงแอลจีเรียภายหลังระบอบกัดดาฟีถูกโค่นล้ม และในที่สุดก็พากันปักหลักอยู่ในโอมาน