รอยเตอร์ - เหล่าผู้ประท้วงซึ่งชุมนุมกันในเมืองหลวงของอัฟกานิสถาน เรียกร้องรัฐบาลของประธานาธิบดีอัชราฟ กานี ลาออกรับผิดชอบเหตุคาร์บอมบ์ครั้งเลวร้ายเมื่อช่วงกลางสัปดาห์ ยกพวกปะทะกับตำรวจปราบจลาจลในวันศุกร์(2มิ.ย.) ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 4 ราย
เหตุประท้วงรุนแรงเพิ่มแรงกดดันต่อรัฐบาลที่เปราะบางและแตกแยกของกานี ซึ่งไร้ศักยภาพหยุดยั้งเหตุโจมตีร้ายแรงหลายต่อหลายครั้งในกรุงคาบูล ที่คร่าชีวิตพลเรือนไปหลายร้อยศพในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา
การโจมตีด้วยระเบิดรถบรรทุกเมื่อวันพุธ(31พ.ค.) เกิดขึ้นในช่วงเริ่มเข้าสู่เดือนรอมฎอน ถือเป็นเหตุโจมตีครั้งเลวร้ายที่สุดในกรุงคาบูล นับตั้งแต่สหรัฐฯนำทัพพันธมิตรบุกโค่นตอลิบานในปี 2001 และย้ำให้เห็นถึงสถานการณ์ความรุนแรงที่ลุกลามทั่วประเทศ
ผู้ประท้วงมากกว่า 1,000 คน หลายคนถือภาพเหยื่อระเบิด เดินขบวนในตอนเช้าของวันศุกร์(2มิ.ย.) ใกล้ๆกับจุดเกิดเหตุ ที่คร่าชีวิตผู้คนมากกว่า 80 ศพและมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 460 คน เรียกร้องกานีและอับดุลเลาะห์ อับดุลเลาะห์ หัวหน้าคณะผู้บริหารคาบูล แสดงความรับผิดชอบ
"ประชาคมนานาชาติต้องเพิ่มแรงกดดันและบีบให้พวกเขาลาออก" นิลูฟาร์ นิลกูน คำพูดของผู้ประท้วงรายหนึ่งซึ่งเป็นญาติของผู้เสียชีวิตจากเหตุระเบิด "พวกเขาไม่มีความสามารถในการนำพาประเทศ"
ในระหว่างที่ผู้ประท้วงเผชิญหน้ากับตำรวจ สถานการณ์ตึงเครียดขึ้น หลังมีเสียงปืนดังขึ้นเป็นระยะๆ ต่อมาก็ได้เกิดการปะทะกัน เมื่อตำรวจในชดปราบจลาจลตัดสินใจใช้การฉีดน้ำและแก๊สน้ำตาสกัดกั้นไม่ให้ผู้ประท้วงมุ่งหน้าไปยังทำเนียบประธานาธิบดี ขณะที่ผู้ชุมนุมขว้างปาหินตอบโต้
ทั้งนี้ในช่วงเย็น เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลฉุกเฉินของเมือง เปิดเผยว่ามีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 4 คนและบาดเจ็บอีกหลายราย โดยหนึ่งในผู้เสียชีวิตนั้นเป็นลูกชายของนักการเมืองดังคนหนึ่ง
นอกเหนือจากโจมตีรัฐบาลแล้ว ผู้ประท้วงบางส่วนยังเรียกร้องให้ กานี ประหารชีวิตผู้ต้องขังจากขบวนการฮักกานี กลุ่มนักรบเครือข่ายของตอลิบาน ซึ่งเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองกล่าวโทษว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุระเบิดเมื่อวันพุธ(31พ.ค.)
อย่างไรก็ตามความโกรธแค้นส่วนใหญ่พุ่งตรงไปที่รัฐบาลซึ่งได้รับการหนุนหลังจากตะวันตก ย้ำให้เห็นว่าประชาชนเริ่มหมดความอดทนต่อรัฐบาลที่ล้มเหลวด้านการรับประกันความปลอดภัย เกือบ 3 ปี หลังทหารต่างชาติเกือบทั้งหมดถอนกำลังออกจากอัฟกานิสถาน "กานี!อับดุลเลาะห์! ออกไป!ออกไป!" ป้ายข้อความประท้วงหนึ่งระบุ
ปัจจุบันกลุ่มตอลิบานควบคุมหรือกำลังแย่งชิงพื้นที่ราวๆ 40 เปอร์เซ็นต์ของประเทศ โดยก่อนหน้าเหตุโจมตีในวันพุธ(31พ.ค.) อัฟนิสถานก็เผชิญสถานการณ์เลวร้ายอยู่ก่อนแล้ว โดยมีพลเรือนเสียชีวิตมากถึง 715 นในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ หลังจากมีคนตายเกือบ 3,500 รายในปี 2016 ถือเป็นปีที่พลเมืองอัฟกันต้องเสียเลือดเสียเนื้อมากที่สุดในประวัติศาสตร์