xs
xsm
sm
md
lg

Focus : พระราชดำรัส “กษัตริย์จิกมี” เนื่องในวันชาติภูฏาน ปีที่ 109

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


MGROnline - เฟซบุ๊กของสมเด็จพระราชาธิบดี จิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก แห่งภูฏาน ได้เผยแพร่พระบรมราโชวาทที่พระราชทานแก่ผู้ที่เข้าเฝ้าฯ ในพิธีเฉลิมฉลองวันชาติภูฏาน ปีที่ 109 ณ มณฑลตรองซา เมื่อวันที่ 17 ธ.ค.

พระบรมราโชวาทซึ่งได้รับการแปลถอดความเป็นภาษาอังกฤษ มีใจความดังนี้

“วันที่ 17 ธันวาคมของทุกปี เราทั้งหลายจะได้ร่วมกันเฉลิมฉลองวันชาติ ซึ่งถือเป็นวันที่มีความหมายสำคัญยิ่ง เพราะเป็นวันที่เราได้รำลึกถึงความเสียสละอันยิ่งใหญ่ของบรรพชน ผู้ซึ่งทำงานอย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อยเพื่อความสุขสวัสดีของบ้านเมืองและประชาชน เรายังมีโอกาสได้แสดงความกตัญญูกตเวทีต่อคนรุ่นก่อนที่ได้ส่งมอบบ้านเมืองอันมีอธิปไตยเข้มแข็งมายังชนรุ่นหลัง และเป็นวันที่คนรุ่นเราได้ย้ำคำมั่นสัญญาว่าจะรับภาระอันสำคัญในการรับใช้ประเทศอย่างเต็มกำลังความสามารถ

พวกเราโชคดีอย่างยิ่งที่พระบิดาของชาติ และกษัตริย์แห่งคำทำนาย สมเด็จพระราชาธิบดี จิกมี ซิงเย วังชุก ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นประธานในวันนี้ด้วย

ในโอกาสอันเป็นมงคลนี้ ข้าพเจ้าขอส่งคำอวยพรให้โชคดี (Tashi Delek) ไปยังชาวภูฏานทั้ง 20 มณฑล (dzongkhag) และ 205 เขต (gewog) ซึ่งกำลังชมการถ่ายทอดพิธีทางโทรทัศน์ รวมไปถึงชาวภูฏานที่อาศัยอยู่ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก เรารู้สึกซาบซึ้งในการอุทิศตนทำงานอย่างหนักของท่าน ในวันนี้ชาวภูฏานทุกคนต่างระลึกถึงท่าน และขออวยพรให้ท่านจงโชคดีเนื่องในวันชาติของเรา

มณฑลตรองซาถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ และเป็นที่สถิตของ ยองซิน งากี วังชุก (ทวดของ ซับดรุง งาวัง นัมเกล พระลามะผู้ก่อตั้งรัฐภูฏาน - ผู้แปล) โชเกล มินจูร์ เทมปา ได้สร้างป้อมปราการ ตรองซา โชโกร์ รับเทนเซ ขึ้นเพื่อใช้สำหรับว่าราชการดูแลเขตต่างๆ ในภูมิภาคทางตะวันออก นับตั้งแต่สมัยของ มินจูร์ เทมปา ซึ่งเป็นผู้ปกครอง (penlop) คนแรก มณฑลตรองซาก็มีผู้ปกครองสืบต่อกันเรื่อยมา จนกระทั่งข้าพเจ้าได้เป็นผู้ปกครองตรองซาคนที่ 24 ข้าพเจ้าได้รับมอบผ้าศักดิ์สิทธิ์ (dhar) เพื่อรับการแต่งตั้งเป็นผู้ปกครองตรองซาเมื่อ 12 ปีที่แล้ว ซึ่งตรงกับปีลิงธาตุไม้

ด้วยพรจากสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ ความพยายามของข้าพเจ้าที่จะทำงานรับใช้ประชาชนและบ้านเมืองก็สำเร็จลุล่วงด้วยดีเรื่อยมา

12 ปีต่อมาในปีลิงธาตุไฟ ซึ่งเป็นปีเกิดของท่านคุรุรินโปเช ข้าพเจ้าก็ได้เป็นพ่อคน

ข้าพเจ้ารู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ในปีอันเป็นมงคลนี้ ประชาชนชาวตรองซา บุมทัง และเซมกัง ได้มารวมตัวกันที่นี่ เพื่อเฉลิมฉลองวาระพิเศษนี้ร่วมกับข้าพเจ้า สมเด็จพระราชบิดา และบุตรชายของข้าพเจ้า

ยุคสมัยที่เราอยู่นี้นับว่าไม่ธรรมดา มีการค้นพบวิธีใหม่ๆ ในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บที่คุกคามชีวิตมนุษย์ไม่เว้นแต่ละวัน การสื่อสารทางไกลช่วยให้ผู้คนที่อยู่คนละฝั่งมหาสมุทรสามารถติดต่อถึงกัน หรือแม้กระทั่งพูดคุยกันต่อหน้าได้ อินเทอร์เน็ตได้นำความรู้และข้อมูลมาอยู่ที่ปลายนิ้วของเรา และด้วยการคมนาคมขนส่งที่ก้าวหน้าและการสัญจรทางอากาศที่เข้าถึงได้ง่าย จึงไม่มีสถานที่ใดอีกแล้วที่เราไปไม่ถึง

ความก้าวหน้าที่เกิดขึ้นในช่วงชีวิตของเรานั้นยิ่งใหญ่กว่า 1,000 ปีที่ผ่านมารวมกันเสียอีก ไม่ว่าจะในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การสื่อสารและขนส่ง การแพทย์สมัยใหม่ ระบบสาธารณสุข และการผลิตสิ่งของ

แต่เนื่องจากประชากรโลกได้เพิ่มขึ้นหลายเท่าทวีคูณ โลกที่เราอาศัยอยู่ทุกวันนี้จึงเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน

ในสมัยพุทธกาล โลกมีประชากรอยู่ราว 100 ล้านคน ล่วงมาจนถึงศตวรรษที่ 8 ในสมัยของพระพุทธเจ้าองค์ที่ 2 อูเกน คุรุ รินโปเช ประชากรโลกเพิ่มขึ้นเป็น 300 ล้านคน ในปี ค.ศ. 1955 ซึ่งเป็นปีที่สมเด็จพระราชาธิบดีรัชกาลที่ 4 เสด็จพระราชสมภพ โลกมีประชากรราว 2,700 ล้านคน และปัจจุบันนี้ประชากรโลกได้เพิ่มขึ้นเป็นเกือบๆ 7,500 ล้านคน

การเพิ่มของประชากรอย่างรวดเร็วนี้ได้สร้างภัยคุกคามและความยากลำบากขึ้นในโลก หลายประเทศต้องเผชิญสงคราม การก่อการร้าย... ปัญหาเศรษฐกิจทำให้ต้องเป็นหนี้ เกิดความไม่เท่าเทียมทางรายได้ ความยากจน และความขัดแย้ง และที่เลวร้ายที่สุดก็คือมลพิษซึ่งเกิดขึ้นกับทรัพยากรธรรมชาติของเรา

อย่างไรก็ตาม ด้วยการอำนวยพรจากเคนโชซุม (Kenchosum) ความรู้ผิดชอบและการสวดภาวนาของบรรพชน ความสามัคคีของประชาชน และการปกป้องจากเทพยดาผู้รักษาบ้านเมือง ภูฏานจึงปราศจากเคราะห์กรรม ภัยพิบัติ หรือความขัดแย้งใดๆ ตลอดปีที่ผ่านมา ประชาชนของเรามีชีวิตอยู่ด้วยความมั่นคง มีเสถียรภาพ และมีสันติสุข

ข้าพเจ้าเป็นกษัตริย์มาแล้ว 10 ปี ตลอดเวลาที่ผ่านมาความพยายามทุกประการล้วนสัมฤทธิ์ผลโดยไม่มีอุปสรรคใดๆ ทั้งหมดนี้เกิดจากการที่สมเด็จพระราชาธิบดีรัชกาลที่ 4 ได้ทรงอุทิศพระองค์ ทรงงานอย่างหนัก พระราชทานนโยบายที่ให้ความตื่นรู้ และทรงวางรากฐานที่มั่นคงไว้เป็นมรดกให้เราได้สืบสานต่อ

สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ ความไว้วางใจระหว่างประชาชน รัฐบาล และพระมหากษัตริย์ เราอาจจะเป็นประเทศเล็กที่มีประชากรไม่มาก แต่ประชาชนของเราก็มีความเข้มแข็ง เฉลียวฉลาด และมีศักยภาพ อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเหล่านี้อาจยังไม่เพียงพอสำหรับโลกในยุคปัจจุบัน เราจึงต้องปฏิบัติกิจการงานต่างๆ อย่างสอดประสาน และด้วยความสามัคคี เพื่อก้าวไปสู่ความสำเร็จร่วมกัน

ยังมีภารกิจอีกมากที่รอเราอยู่ในวันข้างหน้า เมื่อข้าพเจ้านึกถึงอนาคตก็รู้สึกกระตือรือร้น เพราะเห็นว่าอนาคตนั้นเต็มไปด้วยโอกาส

สมเด็จพระราชบิดาและข้าพเจ้ามีแรงบันดาลใจร่วมกันที่จะสถาปนาระบอบประชาธิปไตยให้มั่นคงในประเทศของเรา นี่คือความพยายามที่ต้องการการทุ่มเทอย่างต่อเนื่องจากชนรุ่นหลังด้วย เพราะระบอบประชาธิปไตยคือความรับผิดชอบร่วมกันของประชาชน เป็นพลังอันสำคัญที่จะทำให้บ้านเมืองแข็งแกร่ง และเป็นรากฐานแห่งสันติภาพและความสุขของประชาชน

เป็นเวลา 8 ปีมาแล้วที่ภูฏานปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย และเราก็ยังคงก้าวหน้าไปอย่างมั่นคง แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีงานอีกหลายอย่างที่เราสามารถทำให้สำเร็จยิ่งขึ้นกว่านี้ ด้วยการรับผิดชอบและปฏิบัติงานร่วมกันอย่างขยันขันแข็ง ในช่วงชีวิตของเราและตลอดระยะเวลาการครองราชย์ของข้าพเจ้า เราจะสามารถสร้างประชาธิปไตยที่เป็นตัวอย่าง เรามีโอกาสที่จะส่งต่อประเทศที่เข้มแข็งและประสบความสำเร็จมากยิ่งกว่านี้ไปยังลูกหลานของเราได้

การกระจายอำนาจปกครอง (decentralization) ได้เริ่มขึ้นตั้งแต่สมัยของสมเด็จพระราชาธิบดีรัชกาลที่ 3 ผ่านมาแล้ว 60 ปีการกระจายอำนาจยังคงเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของชาติ หลายประเทศยังคงพัฒนาได้ช้าแม้ว่าพวกเขาจะมีเครื่องหมายของประชาธิปไตยอยู่อย่างสมบูรณ์ นั่นเป็นเพราะพวกเขาเกิดความลังเลที่จะกระจายอำนาจ

เราแตกต่างจากประเทศอื่นในข้อนี้ เราสามารถทำในสิ่งที่คนอื่นทำไม่ได้ และเราก็ทำได้ดีกว่าใครๆ ด้วย

สมเด็จพระราชาธิบดีรัชกาลที่ 4 มีพระราชดำรัสต่อประชาชนในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อปี 1974 ว่า “ความพยายามคนละเล็กละน้อยของท่านจะให้ผลดียิ่งกว่าความพยายามอย่างใหญ่หลวงของรัฐบาลฝ่ายเดียว”

หากเราผลักดันกระบวนการกระจายอำนาจ โดยยึดพระบรมราโชวาทของสมเด็จพระราชาธิบดีรัชกาลที่ 4 เป็นแสงสว่างนำทาง เราจะเห็นความเป็นไปได้ที่จะประสบความสำเร็จอย่างไร้ขีดจำกัด

ธรรมชาติที่งดงามและความหลากหลายทางชีวภาพของภูฏานไม่เป็นสองรองใคร นี่คือผลของนโยบายอนุรักษ์ที่ได้กระทำต่อเนื่องกันมาหลายชั่วคน

อย่างไรก็ตาม ยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น และการขยายตัวของชุมชนเมือง ทำให้เราต้องเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆ

ระหว่างการรณรงค์ทำความสะอาดเมืองเมื่อไม่นานมานี้ มีการเก็บขยะได้ถึง 300 ตันเฉพาะในกรุงทิมพู ข้าพเจ้าได้ทราบมาว่า ชาวทิมพูทิ้งขยะมากถึง 61 ตันต่อวัน

เราประสบความสำเร็จอย่างสูงในเรื่องของการอนุรักษ์ธรรมชาติ ความพยายามและความสำเร็จของเราเป็นที่ชื่นชมและยอมรับในระดับสากล หากเราจะดูแลรักษาบ้านเมืองที่เราอยู่ให้ดีด้วย ก็จะเป็นความสำเร็จที่น่ายกย่องอย่างแท้จริง

เป็นหน้าที่ของเราทุกคนที่จะต้องช่วยกันทำให้บ้านเมืองของเราสะอาด ปลอดภัย มีระเบียบ และสวยงามตลอดไป

ในฐานะกษัตริย์ ข้าพเจ้ารู้สึกปลาบปลื้มที่ได้มีโอกาสทำโครงการจัดสรรที่ดินทำกินแก่ประชาชน (Land Kidu) ข้าพเจ้าถือว่างานนี้เป็นภารกิจศักดิ์สิทธิ์ที่รับต่อมาจากสมเด็จพระราชบิดา ซึ่งทรงผลักดันเรื่องนี้มานานหลายปี

ด้วยสภาพภูมิประเทศที่เป็นเทือกเขาสูงชันของภูฏาน ทำให้มีพื้นที่เพียง 7% หรือราว 664,000 เอเคอร์ที่สามารถใช้ทำกินได้ ดังนั้นเราจึงต้องพยายามใช้ที่ดินที่มีอยู่น้อยให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน

ชาวภูฏานส่วนใหญ่ยังคงพึ่งพาที่ดินในการทำมาหากิน และที่ดินยังเป็นมรดกอันล้ำค่าที่เราจะส่งมอบให้แก่บุตรหลานได้ วัตถุประสงค์ของโครงการ Land Kidu ก็คือการจัดสรรที่ดินอันมีค่าให้แก่ประชาชน เพื่อยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ และเป็นเครื่องค้ำประกันอนาคตให้แก่ลูกหลาน

เป็นที่น่ากังวลว่า ในยุคที่เศรษฐกิจขยายตัวอย่างรวดเร็ว ความไม่เท่าเทียมทางรายได้อาจก่อให้เกิดช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนในสังคม เป้าหมายอีกประการหนึ่งของโครงการ Land Kidu จึงอยู่ที่การเพิ่มศักยภาพและยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน เพื่อให้พวกเขาได้มีโอกาสเจริญรุ่งเรือง

ด้วยความมุ่งหวังเหล่านี้ สมเด็จพระราชบิดาและข้าพเจ้าจึงได้จัดสรรที่ดินให้แก่ประชาชนไปแล้วกว่า 295,860 เอเคอร์จนถึงปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ข้าพเจ้าคาดหวังในการทำโครงการนี้กลับไม่เป็นที่ตระหนักรู้เท่าที่ควร หลายปีมานี้มีครัวเรือนซึ่งละทิ้งที่ดิน (gungtong) เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และข้าพเจ้าพบว่าที่ดินหลายแห่งทั่วประเทศได้ถูกทิ้งร้าง ประชาชนโดยเฉพาะคนหนุ่มสาวทิ้งหมู่บ้านของตนเข้ามาอาศัยอยู่ตามเมืองใหญ่ ข้าพเจ้ารู้สึกกังวลอย่างยิ่งว่า พวกเขาอาจตกงาน หรือเผชิญความยากลำบากในเมือง ซึ่งจะเป็นเหตุให้ท้อแท้สิ้นหวัง

สิ่งเหล่านี้ไม่ควรเกิดขึ้น เพราะภูฏานยังมีโอกาสอีกมากมายให้แก่ประชาชน

ทุกวันนี้เรานำเข้าอาหารจากต่างประเทศเป็นเงินถึง 8,000 ล้านงุลตรัมต่อปี ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ เราส่งมันฝรั่งและส้มเป็นสินค้าออก แต่ยังต้องนำเข้ามันฝรั่งทอดและน้ำส้ม

จากตัวอย่างนี้จะเห็นได้ว่า ยังมีโอกาสอีกมากสำหรับผู้ประกอบการและเกษตรกรรมเชิงพาณิชย์ในประเทศของเรา ยิ่งไปกว่านั้น เยาวชนของเราก็มีการศึกษาที่ดี มีศักยภาพ และมีความกระตือรือร้น

เราจึงควรหันมาถามตนเองว่า เราเดินผิดทางในจุดไหนบ้าง

รัฐบาลมีความมุ่งมั่นที่จะทำงานรับใช้ประชาชน ขอบเขตของแผนงานในระยะ 5 ปีได้ขยายออกไปอย่างกว้างขวาง แผนงาน 5 ปี ฉบับที่ 11 ตั้งวงเงินงบประมาณเอาไว้มากเป็นประวัติการณ์ถึง 213,000 ล้านงุลตรัม ซึ่งจะถูกจัดสรรให้แก่หลากหลายภาคส่วนทั่วประเทศ

ในส่วนของข้าพเจ้าเองก็จะส่งเสริมการถือครองที่ดินของประชาชน เหมือนเช่นที่เคยทำมาในอดีต

ข้าพเจ้าคิดว่า การจะเริ่มต้นทำธุรกิจใดๆ ก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ ทุน

สถาบันการเงินและธนาคารสามารถจะช่วยส่งเสริมเรื่องนี้ โดยเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่และประชาชนในชนบทเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น

เวลานี้สถาบันการเงินในภูฏานได้ปล่อยเงินกู้ไปแล้วกว่า 85,000 ล้านงุลตรัม แต่ในจำนวนนี้มีเพียง 4,500 ล้านงุลตรัม หรือเพียง 2.5% ที่ถูกนำไปใช้เพื่อการเกษตร นี่คือสิ่งที่เราต้องแก้ไข

ข้าพเจ้ายินดีที่ได้ทราบว่า ผู้ว่าการธนาคารกลางภูฏานได้มีมาตรการริเริ่มลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อของธนาคารลง

สถาบันการเงินของเรามีสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม และมุ่งส่งเสริมความอยู่ดีกินดีของประชาชนมากกว่าการทำกำไร และข้าพเจ้ารู้สึกยินดีที่สถาบันการเงินต่างสนับสนุนมาตรการลดดอกเบี้ยสินเชื่อของธนาคารกลางด้วยความเต็มใจ

หากสถาบันการเงินช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการรุ่นใหม่และเกษตรกรอย่างเต็มกำลัง และสร้างโอกาสให้แก่พวกเขา เราจะได้รับผลประโยชน์อันประมาณมิได้

การเสริมสร้างอธิปไตยและความมั่นคงของชาติ ตลอดจนนโยบายสร้างความเท่าเทียมในสังคม และเป้าหมายในการเป็นชาติที่พึ่งพาตนเองได้ ยังอีกยาวไกลนัก

หากเยาวชนได้รับการศึกษาที่ดี และสามารถประสบความสำเร็จในชีวิต ก็จะเป็นผลดีต่อประเทศชาติโดยรวม

ข้าพเจ้าขอกล่าวสรุปด้วยการขอบคุณมหาเถรสมาคม (Zhung Dratshang) และคณะสงฆ์ โดยเฉพาะสมเด็จพระสังฆราช ตรุลกู จิกมี โชดา ซึ่งดำรงตำแหน่ง เจ เคนโป พระองค์ที่ 70 มานานถึง 20 ปี ที่ท่านได้ปฏิบัติหน้าที่เพื่อประเทศชาติ และสนับสนุนข้าพเจ้าตลอดระยะเวลาที่ได้ครองราชย์มา

ข้าพเจ้ามีความเคารพนับถืออย่างสูงต่อพระสังฆราช ซึ่งทรงปฏิบัติพระกรณียกิจอย่างมิรู้เหน็ดเหนื่อยเพื่อความสุขสวัสดีของประชาชนและบ้านเมือง พระองค์ทรงเป็นประธานในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของข้าพเจ้า และข้าพเจ้ายังซาบซึ้งที่ท่านได้ประทานพรและความรักใคร่เอ็นดูแก่บุตรชายของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าขอถือโอกาสนี้สวดภาวนาให้ท่านทรงมีพระชนมายุยืนนาน และมีพระพลานามัยแข็งแรง

ข้าพเจ้าขอชื่นชมรัฐบาลซึ่งมาจากการเลือกตั้ง สมาชิกรัฐสภา และผู้นำท้องถิ่นที่ได้ร่วมกันทำงานรับใช้บ้านเมืองมาโดยตลอด และที่สำคัญยิ่งกว่าอะไรนั้น ข้าพเจ้าซาบซึ้งในการสนับสนุนและความจงรักภักดีของประชาชน ซึ่งได้ให้ความศรัทธาและเชื่อมั่นอย่างสูงสุดในตัวข้าพเจ้า

ท้ายที่สุดนี้ ข้าพเจ้ารู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระราชบิดา ซึ่งมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ข้าพเจ้าได้ทำหน้าที่ของกษัตริย์ตั้งแต่ยังเยาว์ และทรงไว้วางพระราชหฤทัยในตัวข้าพเจ้า ข้าพเจ้ายังโชคดีที่ได้รับพระราชทานคำแนะนำและการสนับสนุนจากสมเด็จพระราชบิดาตลอดมา

ข้าพเจ้ายังรู้สึกมีแรงบันดาลใจ เมื่อนึกถึงว่าสมเด็จพระราชาธิบดีรัชกาลที่ 4 ก็ทรงครองราชย์ตั้งแต่พระชนมายุเพียงแค่ 16 พรรษา นี่คือสิ่งที่เป็นกำลังใจให้ข้าพเจ้ามุ่งมั่นทำงานรับใช้ประเทศชาติและประชาชนในทุกๆ วัน

ข้าพเจ้าขออวยพรจากใจจริงอีกครั้งให้ชาวภูฏานทุกคนจงประสบโชคดีในโอกาสอันแสนพิเศษนี้"



กำลังโหลดความคิดเห็น