เอเจนซีส์ - เฟดขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ตามคาดและตอกย้ำความเชื่อมั่นต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ พร้อมกันนี้ แบงก์ชาติแดนอินทรียังส่งสัญญาณปรับเพิ่มต้นทุนการกู้ยืม “อย่างค่อยเป็นค่อยไป” แต่ถี่ขึ้นในปีหน้า ซึ่งจะต้องมีการปรับนโยบายรองรับคำมั่นของว่าที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ในการลดภาษี เพิ่มการใช้จ่าย และผ่อนคลายกฎระเบียบ
วันพุธ (14) คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (เอฟโอเอ็มซี) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ลงมติเอกฉันท์ให้ขึ้นดอกเบี้ยมาตรฐานจาก 0.50% เป็น 0.75% แต่ย้ำจุดยืนในการขึ้นดอกเบี้ย “อย่างค่อยเป็นค่อยไป” ในอนาคต
เจเน็ต เยลเลน ประธานผู้ว่าการเฟด แถลงว่า การขึ้นดอกเบี้ยควรถือเป็นการแสดงความเชื่อมั่นต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ
การขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้เป็นการปรับเพิ่มต้นทุนการกู้ยืมครั้งแรกนับจากเดือนธันวาคมปีที่แล้วที่เฟดขึ้นดอกเบี้ย 0.25% เป็น 0.50% และถือเป็นครั้งที่สองในรอบทศวรรษ
ดัชนีดาวโจนส์ที่วิ่งฉิวนับจากที่ทรัมป์ชนะเลือกตั้งเมื่อวันที่ 8 เดือนที่แล้ว และจ่อแตะระดับ 20,000 รอมร่อ กลับดิ่งลงหลังรับรู้ข่าวล่าสุดจากเฟด
เยลเลนปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับปฏิกิริยาของตลาด นอกจากบอกว่า อาจเป็นผลจากการลดภาษีที่คาดว่า จะเกิดขึ้นภายใต้คณะบริหารของทรัมป์
นักวิเคราะห์จำนวนมาก คาดว่า เฟดจะต้องขึ้นดอกเบี้ยเร็วขึ้น ถ้าทรัมป์เพิ่มงบประมาณด้านโครงสร้างพื้นฐานและลดภาษีตามที่สัญญาไว้ ซึ่งจะไปกระตุ้นอัตราเงินเฟ้อให้พุ่งเร็วขึ้น
เยลเลน เห็นด้วยว่า นโยบายเหล่านั้นอาจทำให้เจ้าหน้าที่เฟดต้องเปลี่ยนแปลงการตัดสินใจ แต่เตือนว่า ไม่ควรคาดเดาสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น อย่างไรก็ดี เธอสำทับว่า เจ้าหน้าที่เฟดบางคนคาดการณ์บนพื้นฐานที่ว่า รัฐบาลชุดต่อไปจะเพิ่มงบประมาณการใช้จ่าย
ทั้งนี้ เฟดคาดว่า จะขึ้นดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีหน้า รวมถึงอีก 2 ปีถัดไป เพื่อปูทางสู่อัตราดอกเบี้ยระดับปกติระยะยาวที่ 3%
เยลเลนยังย้ำถ้อยแถลงเดิม คือ กระตุ้นให้รัฐบาลเพิ่มการใช้จ่ายด้านการศึกษา การฝึกอบรม และการพัฒนาแรงงาน เพื่อส่งเสริมศักยภาพเศรษฐกิจ
ในส่วนอัตราเงินเฟ้อ เฟดคาดว่า จะยังไปไม่ถึงเป้าหมาย 2% จนกว่าจะถึงปี 2018 และระบุว่า อัตราเงินเฟ้อที่ต่ำในขณะนี้ส่วนหนึ่งเป็นผลจากราคาพลังงานขาลง และคาดว่า อัตราว่างงานจะคงอยู่ที่ 4.5% จนถึงปี 2019 จาก 4.6% ในปัจจุบัน
สำหรับภาพรวมของเศรษฐกิจนั้น เอฟโอเอ็มซี ระบุว่า การเติบโตระดับปานกลางที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ช่วงกลางปีจะยังคงดำเนินต่อไป โดยคาดว่า เศรษฐกิจจะขยายตัวในอัตรา 2.1% ในปีหน้า ขณะที่การใช้จ่ายภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้นในระดับปานกลางเช่นกัน และตลาดแรงงานยังคงเข้มแข็ง ทว่า การลงทุนในโรงงานใหม่ๆ ดูเหมือนซบเซาลง ส่วนความเสี่ยงต่อแนวโน้มเศรษฐกิจถือว่า สมดุลระหว่างปัจจัยถ่วงและปัจจัยเร่งการขยายตัว