เอเอฟพี - ประธานาธิบดี นิโคลัส มาดูโร แห่งเวเนซุเอลาลงนามในคำสั่งฉุกเฉินยกเลิกธนบัตรชนิด 100 โบลิวา ซึ่งเป็นธนบัตรมูลค่าสูงสุดที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เพื่อแก้เผ็ดพวก “มาเฟีย” ที่รัฐบาลกล่าวหาว่านำเงินสดไปกักตุนไว้ในโคลอมเบีย
รัฐบาลเวเนซุเอลาซึ่งกำลังเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจถดถอยและอัตราเงินเฟ้อสูงลิ่ว เตรียมที่จะออกธนบัตรและเหรียญชุดใหม่ ซึ่งจะมีมูลค่าสูงกว่าธนบัตรที่มีค่ามากที่สุดในปัจจุบันถึง 200 เท่า
ธนบัตร 100 โบลิวาคิดเป็นเงินไม่ถึง 3 เซนต์ของดอลลาร์สหรัฐตามอัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบัน ธนบัตร 1 ใบจึงอาจใช้ซื้อลูกอมได้แค่เม็ดเดียว และหากจะซื้อแฮมเบอร์เกอร์สักชิ้นก็จะต้องใช้ธนบัตร 100 โบลิวาถึง 50 ใบ
“อาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญและคำสั่งฉุกเฉินทางเศรษฐกิจนี้ ผมขอประกาศนำธนบัตรชนิด 100 โบลิวาออกจากระบบหมุนเวียนในอีก 72 ชั่วโมงข้างหน้า” ผู้นำเวเนฯ กล่าวผ่านรายการโทรทัศน์ “Contact with Maduro” เมื่อวานนี้ (11)
มาดูโร ยืนยันว่ามาตรการนี้มีความจำเป็น หลังจากคณะกรรมการสอบสวนของรัฐพบว่า มีเงินสดหลายพันล้านโบลิวาในรูปธนบัตรชนิด 100 ถูกพวกแก๊งมาเฟียข้ามชาตินำไปซุกซ่อนในต่างแดน โดยเฉพาะตามเมืองใหญ่ๆ ของโคลอมเบีย รวมถึงบราซิลด้วย
ผู้นำเวเนฯ ระบุว่า ธนาคารแห่งชาติ “รู้เห็นเป็นใจ” กับพฤติกรรมเช่นนี้ และต้องการ “บ่อนทำลาย” เศรษฐกิจ โดยร่วมมือกับพวกเอ็นจีโอ “ที่ถูกว่าจ้างโดยกระทรวงการคลังสหรัฐฯ”
มาดูโร สั่งการให้เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายปิดกั้น “ช่องทางบก ทะเล และอากาศ” ในทันที เพื่อไม่ให้แก๊งมาเฟียนำเงินสดที่ยักยอกไปกลับมาแลกคืนได้
“เชิญพวกคุณวางแผนร้ายอยู่นอกประเทศได้ตามสบาย” มาดูโร กล่าว พร้อมขู่จะลงโทษขั้นสูงสุดกับพวกอาชญากร
โฆเซ กูเอร์รา อดีตผู้อำนวยการธนาคารกลางแห่งเวเนซุเอลา ซึ่งปัจจุบันเป็น ส.ส.ฝ่ายค้าน ได้ทวีตข้อความเตือนว่า การยกเลิกธนบัตร 100 โบลิวาอย่างปัจจุบันทันด่วนเช่นนี้ ธนาคารกลาง “จะต้องนำธนบัตรชนิดราคาแพงกว่า ในมูลค่าที่เท่ากัน” ออกมาหมุนเวียนแทน ซึ่งตนไม่เชื่อว่าจะทำได้
ภาวะตกต่ำของราคาน้ำมันซึ่งเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของเวเนซุเอลา ส่งผลให้เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐขาดแคลน ทำให้ราคาสินค้านำเข้า ยารักษาโรค และสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นอื่นๆ พุ่งสูงขึ้น
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เตือนว่าอัตราเงินเฟ้อของเวเนซุเอลาจะพุ่งแตะระดับ 475% ภายในสิ้นปีนี้
พรรคฝ่ายค้านกล่าวโทษรัฐบาลสังคมนิยมของ มาดูโร ว่าเป็นต้นเหตุของวิกฤตเศรษฐกิจ ในขณะที่ มาดูโร ก็อ้างว่าปัญหาทั้งหมดเกิดจาก “แผนสมคบคิดทุนนิยม” ที่มีสหรัฐฯ ชักใยอยู่เบื้องหลัง
นายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี แห่งอินเดียก็เพิ่งจะประกาศคำสั่งยกเลิกธนบัตรชนิด 500 และ 1,000 รูปี ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 86 ของธนบัตรที่ใช้หมุนเวียนในประเทศ จนก่อให้เกิดปัญหาขาดแคลนเงินตราในสังคมภารตะซึ่งซื้อขายสินค้าด้วยเงินสดเป็นหลัก