xs
xsm
sm
md
lg

“ทรัมป์” เลี่ยงผลประโยชน์ทับซ้อนเล็งถอนตัวจากอาณาจักรธุรกิจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<em><br><FONT color=#000033>ภาพถ่ายเมื่อครั้งที่โดนัลด์ ทรัมป์ เดินสายหาเสียงก่อนการเลือกตั้ง โดยมีโดนัลด์ ทรัมป์ จูเนียร์ (ซ้าย) และอิแวนกา ทรัมป์ (ขวา) ยืนอยู่บนเวทีด้วย ซึ่งทรัมป์ระบุว่าจะถอนตัวออกจากธุรกิจและโอนการควบคุมให้กับลูก 3 คน คือ โดนัลด์ อิแวนกา และอิริก เพื่อไม่ให้เป็นที่ครหาเกี่ยวกับผลประโยชน์ทับซ้อน. -- Reuters.</font></b></em>

รอยเตอร์ “ทรัมป์” ประกาศถอนตัวจากอาณาจักรธุรกิจเพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งด้านผลประโยชน์ แต่ไม่ได้แจกแจงรายละเอียดมากนัก ทำให้หลายฝ่ายกังวลกับบทบาททับซ้อนของว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่กำลังจะเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 20 มกราคมปีหน้า

โดนัลด์ ทรัมป์ เจ้าพ่ออสังหาริมทรัพย์เจ้าของโรงแรม และกอล์ฟรีสอร์ตจากปานามาจดสกอตแลนด์ เปิดเผยเมื่อวันพุธ (30 พ.ย.) ว่า ในการแถลงข่าวในวันที่ 15 ที่จะถึง เขาจะแจกแจงแผนการแยกตัวเอง “เบ็ดเสร็จ” จากเครือข่ายธุรกิจทั่วโลก ซึ่งรวมถึงธุรกิจไวน์ บริษัทโมเดลลิ่ง และอีกมากมาย

ทั้งนี้ หลังจากที่ทรัมป์ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 8 เดือนที่แล้ว ทรัมป์ ออร์แกไนเซชันประกาศว่ากำลังพิจารณาโครงสร้างธุรกิจใหม่เพื่อถ่ายโอนการควบคุมไปยังลูก 3 คนที่โตหมดแล้วและบริหารงานอยู่ในบริษัท ได้แก่ โดนัลด์ ทรัมป์ จูเนียร์, อิแวนกา ทรัมป์ และอิริก ทรัมป์

ระหว่างการทวีตชุดแรกเมื่อเช้าตรู่วันพุธ ทรัมป์ไม่ได้ให้รายละเอียดมากนัก นอกจากบอกว่า ทีมงานกำลังร่างเอกสารทางกฎหมายเพื่อให้เขาถอนตัวจากการดำเนินการธุรกิจทั้งหมด และลูกๆ ของเขาจะร่วมแถลงข่าวด้วย

บรรดานักวิจารณ์ต่างตั้งคำถามเกี่ยวกับบทบาทของลูกๆ ของทรัมป์ที่อยู่ในคณะกรรมการบริหารของทีมถ่ายโอนอำนาจทำเนียบขาวด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังเหตุการณ์เมื่อต้นเดือนที่แล้วที่อิแวนกานั่งอยู่ด้วยระหว่างที่ทรัมป์คุยโทรศัพท์กับประธานาธิบดีเมาริซิโอ มาครีของอาร์เจนตินา รวมทั้งร่วมประชุมกับนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะของญี่ปุ่น ซึ่งทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มผลประโยชน์ทับซ้อน

ก่อนหน้านี้ทรัมป์เคยยืนกรานว่า ตนไม่จำเป็นต้องตัดขาดจากทรัมป์ ออร์กาไนเซชัน แต่เมื่อวันพุธ เขาบอกว่า แม้กฎหมายไม่ได้บังคับให้เขาถอนตัวจากธุรกิจ แต่เขารู้สึกว่า ในฐานะประธานาธิบดีไม่ควรมีความขัดแย้งด้านผลประโยชน์จากธุรกิจ

ขณะที่ทรัมป์ซึ่งเป็นตัวแทนจากพรรครีพับลิกัน กำลังจะเข้าสู่ทำเนียบขาวในเดือนหน้า สมาชิกรัฐสภาจากเดโมแครตจึงพากันจับจ้องมากขึ้นและเรียกร้องให้ทรัมป์ให้ความกระจ่างเรื่องอาณาจักรธุรกิจ

อนึ่ง กฎเกี่ยวกับความขัดแย้งด้านผลประโยชน์สำหรับเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารไม่บังคับใช้กับประธานาธิบดี แต่ทรัมป์จะอยู่ภายใต้กฎหมายสินบน กฎการเปิดเผยข้อมูล และรัฐธรรมนูญของสหรัฐฯ ที่ห้ามเจ้าหน้าที่ที่ได้รับเลือกตั้งรับของกำนัลจากรัฐบาลต่างประเทศ

สำนักงานจริยธรรมรัฐบาลออกแถลงการณ์ยกย่องเป้าหมายของทรัมป์ พร้อมแนะนำว่า การขายหุ้นทั้งหมดในธุรกิจจะดีกว่าแค่การโอนอำนาจการควบคุมให้บุคคลอื่น

ขณะเดียวกัน ทรัมป์ที่วุ่นวายกับการสรรหาคณะรัฐมนตรีและตำแหน่งอื่นๆ ในคณะบริหารมาหลายสัปดาห์ แย้มเมื่อวันพุธว่า จะเสนอชื่อสตีเวน มนูชิน ผู้ดูแลการระดมเงินบริจาคทางการเมืองเพื่อการหาเสียงของตน เป็นรัฐมนตรีคลัง
.
<em><br><FONT color=#000033>สตีเวน มนูชิน ว่าที่รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ. -- Reuters.</font></b></em>
.
ว่าที่ขุนคลังคนใหม่ของอเมริกาเผยว่า การปฏิรูปภาษีและการยกเครื่องข้อตกลงทางการค้าคือเป้าหมายสำคัญอันดับแรกของคณะบริหารชุดใหม่ที่มีเป้าหมายสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในอัตรา 3-4%

มนูชิน อดีตนายแบงก์ของโกลด์แมนแซคส์ ยังส่งสัญญาณว่า ต้องการให้รัฐบาลยกเลิกการถือหุ้นในแฟนนี เมและเฟร็ดดี้ แม็ก บริษัทที่ทำธุรกิจสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่ทางการจัดตั้งขึ้น ความเคลื่อนไหวนี้จะมีนัยสำคัญต่อการซื้อและผ่อนบ้านของคนอเมริกัน ว่าที่รัฐมนตรีคลังยังแย้มว่า ควรผ่อนคลายกฎด้านการธนาคารเพื่อกระตุ้นการปล่อยกู้

ทรัมป์ยังเสนอชื่อวิลเบอร์ รอสส์ มหาเศรษฐีที่โด่งดังจากการลงทุนในสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีพาณิชย์ โดยการเสนอชื่อผู้รับตำแหน่งทั้งสองคนนี้ต้องผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภา

สื่อรายงานว่า ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กำลังเล็งแต่งตั้งแกรี คอห์น ประธานและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการของโกลด์แมน แซคส์ คุมสำนักงบประมาณทำเนียบขาวหรือตำแหน่งอื่น

ตัวเลือกในทีมเศรษฐกิจเหล่านี้ได้รับการยกย่องจากบิสซิเนส ราวด์เทเบิลที่เป็นตัวแทนบริษัทใหญ่ที่สุดของอเมริกา

ทว่า วุฒิสมาชิกเดโมแครต เบอร์นี แซนเดอร์ส และเอลิซาเบธ วอร์เรน วิจารณ์ว่า การแต่งตั้งมนูชินที่ถือเป็นลูกหม้อวอลล์สตรีท เท่ากับเป็นการปากว่าตาขยิบ เนื่องจากทรัมป์เคยหาเสียงไว้ว่า จะล้างบางนายแบงก์วอลล์สตรีทในวอชิงตัน

แอนโทนี สการามักซี ผู้จัดการสินทรัพย์และสมาชิกคณะกรรมการถ่ายโอนอำนาจของทรัมป์ แก้ต่างว่า คณะบริหารต้องมีทั้งคนในที่เข้าใจระบบ และคนนอกที่เป็นนักคิดที่สร้างสรรค์ คิดนอกกรอบ และตัวตัดเกม

นอกจากนั้น ทรัมป์ยังง่วนกับการจัดทีมนโยบายต่างประเทศซึ่งยังไม่มีวี่แววว่าจะมีการเสนอชื่อรัฐมนตรีต่างประเทศในเร็วๆ นี้
กำลังโหลดความคิดเห็น