รอยเตอร์/MGR Online - หนังสือพิมพ์โกลบัลไทม์สของจีนระบุ คาราวานยานลำเลียงหุ้มเกราะของสิงคโปร์ที่ถูกยึดในฮ่องกงอาจถูกนำไป “หลอม” ถือเป็นการออกมาฉีกหน้ารัฐบาลเกาะสิงห์ครั้งที่ 2 ในรอบ 2 วัน ขณะที่รัฐมนตรีต่างประเทศสิงคโปร์ยืนยันเรื่องนี้ “ไม่ใช่วิกฤตการณ์ร้ายแรง”
ด่านศุลกากรฮ่องกงได้ยึดยานลำเลียงหุ้มเกราะของสิงคโปร์จำนวน 9 คัน ขณะถูกส่งกลับจากไต้หวันเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยปักกิ่งได้ออกมาเตือนสิงคโปร์ให้เคารพนโยบาย “จีนเดียว” และแสดงความไม่พอใจที่สิงคโปร์ซึ่งเป็นมิตรประเทศของจีนจะไปสานสัมพันธ์ทางทหารกับไต้หวัน ซึ่งจีนถือว่าเป็น “มณฑลทรยศ”
ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสิงคโปร์ค่อนข้างตึงเครียดในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา หลังจากที่จีนสงสัยว่าสิงคโปร์อาจเข้าข้างสหรัฐฯ เรื่องทะเลจีนใต้
จีนกล่าวหาวอชิงตันว่าจงใจยั่วยุให้สถานการณ์ตึงเครียดด้วยการส่งเรือพิฆาตล่องเข้ามาเฉียดหมู่เกาะที่จีนอ้างความเป็นเจ้าของ
โกลบัลไทม์สซึ่งเป็นสื่อภาษาอังกฤษในเครือเดียวกับพีเพิลส์เดลี ตำหนิสิงคโปร์ว่า “ไม่รู้จักระมัดระวัง” เกี่ยวกับการส่งยานลำเลียงหุ้มเกราะมายังไต้หวัน และสิ่งที่เกิดขึ้นยังสะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลสิงคโปร์ไม่สนใจว่าจีนจะคิดอย่างไร
“ภาพลักษณ์ของสิงคโปร์ในสายตาจีนเวลานี้เน่าเฟะไม่มีชิ้นดี ชาวจีนทั่วไปจึงเห็นตรงกันว่า สิ่งที่ดีที่สุดก็คือการนำยานเกราะที่ถูก “ยึด” และหลงเข้ามา “ติดกับ” ของเราส่งเข้าโรงหลอมเหล็ก”
บทบรรณาธิการของโกลบัลไทม์สในภาษาจีนซึ่งมีผู้อ่านมากกว่าฉบับภาษาอังกฤษ ยังวิจารณ์รัฐบาลสิงคโปร์ว่าเป็นพวก “หน้าไหว้หลังหลอก”
โกลบัลไทม์สเตือนให้สิงคโปร์ใช้ “ละครสลับฉาก” ในความสัมพันธ์กับจีนครั้งนี้เป็นเครื่องแสวงหา “การตื่นรู้” แทนที่จะยั่วยุให้หมางใจกันมากไปกว่านี้
“ทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นย่อมมีสาเหตุ การพยายามทำความเข้าใจจึงเป็นสิ่งที่ดีเสมอ”
หนังสือพิมพ์สเตรทไทม์สฉบับวันนี้ (29) ได้อ้างบทสัมภาษณ์ของ วิเวียน บาลากฤษนัน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสิงคโปร์ ซึ่งระบุว่า “ผมไม่อยากทำให้เป็นเรื่องใหญ่โตเกินเหตุ เราเองก็คาดหวังว่าผู้ให้บริการเชิงพาณิชย์จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดอยู่แล้ว”
“เรื่องนี้เป็นเพียงหมายเหตุ (footnote) ระบุว่าควรจะดำเนินการต่างๆ อย่างรอบคอบ รัดกุม และถูกต้องตามกฎหมายอย่างไรบ้าง มันไม่ใช่วิกฤตการณ์ร้ายแรงอะไร”
สิงคโปร์และไต้หวันมีความร่วมมือทางทหารกันมาตั้งแต่ทศวรรษ 1970 โดยรัฐบาลไต้หวันเปิดโอกาสให้กองทัพสิงคโปร์เข้าไปใช้พื้นที่ฝึกซ้อม
จีนอดทนกับข้อตกลงเช่นนี้มาโดยตลอด ตั้งแต่ฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตกับสิงคโปร์ในทศวรรษ 1990
อย่างไรก็ตาม เป็นที่ทราบกันว่าบทบรรณาธิการของโกลบอลไทม์สมักจะใช้ถ้อยคำหวือหวาเกินจริง และบางครั้งก็ก้าวร้าวมากกว่าจุดยืนอย่างเป็นทางการของรัฐบาลจีน ตัวอย่างเช่น เมื่อเดือน ก.ย. สื่อฉบับนี้ได้โจมตี สแตนลีย์ โลห์ เอกอัครราชทูตสิงคโปร์ประจำกรุงปักกิ่ง โดยกล่าวหาว่าทูตรายนี้หยิบยกปัญหาทะเลจีนใต้ขึ้นมาพูดในการประชุมซัมมิตที่เวเนซุเอลา ซึ่ง โลห์ ยืนยันว่าไม่เป็นความจริง
จีนเคยเตือนสิงคโปร์หลายครั้งว่าไม่ควรเข้ามายุ่งเกี่ยวกับปัญหาทะเลจีนใต้ ซึ่งปักกิ่งได้อ้างกรรมสิทธิ์ทางทะเลและหมู่เกาะทับซ้อนกับฟิลิปปินส์ เวียดนาม มาเลเซีย และบรูไน
แม้สิงคโปร์จะไม่มีข้อพิพาทกับจีนในเรื่องนี้ แต่ในฐานะเมืองท่าที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เสรีภาพในการเดินเรือผ่านทะเลจีนใต้ก็ย่อมส่งผลโดยตรงต่อเศรษฐกิจแบบเปิดของสิงคโปร์เช่นกัน