เอเจนซีส์ - การนับคะแนนอย่างเป็นทางการที่ยังคงดำเนินอยู่ภายหลังการเลือกตั้งสหรัฐฯผ่านมากว่า 2 สัปดาห์แล้ว แสดงให้เห็นว่า ฮิลลารี คลินตัน ได้เสียงโหวตจากประชาชนทั่วประเทศ สูงกว่า โดนัลด์ ทรัมป์ ถึงกว่า 2 ล้านเสียง ขณะที่กลุ่มนักกฎหมายเลือกตั้ง และผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูลตั้งข้อสงสัยอาจมีการโจมตีทางไซเบอร์จนบิดเบือนผลที่แท้จริง จึงขอให้ทีมหาเสียงของผู้สมัครพรรคเดโมแครต เรียกร้องนับคะแนนใหม่ใน 3 รัฐ ที่คลินตันแพ้อย่างเฉียดฉิว นอกจากนั้น ยังมีรายงานระบุว่าคณะผู้เลือกตั้งกลุ่มเล็กๆ กำลังพยายามโน้มน้าวผู้เลือกตั้งคนอื่นๆ จากรัฐ ซึ่งลงคะแนนให้ทรัมป์ ขัดขืนเสียงประชาชน และเปลี่ยนใจโหวตให้คลินตันแทน อย่างไรก็ดี ปรากฏว่า ทีมหาเสียงของคลินตันไม่ได้ตอบสนองใดๆ ขณะที่ผลการนับคะแนนในรัฐซึ่งล่าช้าที่สุดอย่างมิชิแกน กลับตอกย้ำว่า ทรัมป์ยิ่งชนะขาด
คุก โพลิทิคัล รีพอร์ตส์ ซึ่งคอยรวบรวมผลการนับคะแนนเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯอย่างเป็นทางการ ระบุว่า ผลการนับจนกระทั่งถึงวันพุธ (23 พ.ย.) แสดงให้เห็นว่า คลินตันได้เสียงโหวตจากประชาชนทั่วประเทศ (ป๊อปปูลาร์โหวต) 64,227,373 เสียง ส่วนทรัมป์ได้ 62,212,752 เสียง ทิ้งห่างมากขึ้นกว่าหลายวันก่อน จนอยู่ในระดับเกินกว่า 2 ล้านเสียงแล้ว
อย่างไรก็ตาม คะแนนเหล่านี้ไม่ได้เปลี่ยนแปลงผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 8 พ.ย. เนื่องจากในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯนั้น คะแนนของผู้ออกเสียงในแต่ละมลรัฐ ถือว่าเป็นการเลือกคณะผู้เลือกตั้ง (elector) ในรัฐนั้นๆ โดยที่แทบทุกรัฐใช้หลักเกณฑ์ว่าผู้สมัครคนใดได้เสียงโหวตประชาชนมากกว่าเพื่อน ก็กวาดเสียงคณะผู้เลือกตั้งในรัฐไปทั้งหมด ทั่วทั้งสหรัฐฯมีจำนวนคณะผู้เลือกตั้งทั้งสิ้น 538 เสียง ดังนั้น ผู้สมัครคนไหนสามารถกวาดคณะผู้เลือกตั้ง 270 เสียงขึ้นไป ก็จะกลายเป็นผู้ชนะได้เป็นประธานาธิบดี
คลินตันได้ยอมแพ้และโทรศัพท์ไปแสดงความยินดีกับทรัมป์ ในวันที่ 9 พ.ย. ตั้งแต่การนับคะแนนในบางรัฐยังไม่ทันเสร็จสิ้น เนื่องจากรัฐเท่าที่ทรัมป์ชนะมา ก็เพียงพอที่จะได้เสียงคณะผู้เลือกตั้ง (อิเล็กเทอรัลโหวต) ถึง 270 เสียงแล้ว
ทั้งนี้ นี่ถือเป็นครั้งที่ 2 ในรอบศตวรรษที่เดโมแครตชนะป๊อปปูลาร์โหวต แต่แพ้ศึกชิงทำเนียบขาว โดยครั้งแรก คือ ปี 2000 ที่อดีตรองประธานาธิบดี อัล กอร์ แพ้ จอร์จ ดับเบิลยู บุช แม้ได้คะแนนเสียงจากประชาชนมากกว่าเกือบ 544,000 เสียง
เนื่องจากผลการเลือกตั้งจะถือว่าออกมาอย่างเป็นทางการ ต่อเนื่องคณะผู้เลือกตั้งทั่วสหรัฐฯไปลงมติเลือกประธานาธิบดีขั้นสุดท้ายกันในวันที่ 19 เดือนหน้า ในระหว่างนี้ก็ได้ปรากฏข่าวเกี่ยวกับความพยายามที่จะทักท้วง หรือกระทั่งขัดขืนลบล้างผลการเลือกตั้งคราวนี้ออกมา
เดลิสตาร์ หนังสือพิมพ์แทบลอยด์ของอังกฤษ รายงานเมื่อวันพุธ (23) ว่า ขณะนี้ มีคณะผู้เลือกตั้งอย่างน้อย 6 คน ประกาศเพิกเฉยต่อเสียงโหวตของประชาชน และจะเลือก ฮิลลารี คลินตัน ผู้สมัครจากพรรคเดโมแครตแทน ที่สำคัญ คณะผู้เลือกตั้งเหล่านี้ยังเตรียมชักชวนคณะผู้เลือกตั้งจากรัฐอื่นๆ ให้ย้ายไปเทคะแนนให้คลินตันด้วย
ขณะที่สื่อในสหรัฐฯ ระบุว่า มีคณะผู้เลือกตั้งที่เรียกตัวเองว่าเป็นกลุ่มแฮมิลตัน อิเล็กเตอร์ (Hamilton Electors) ออกคำแถลงในวันพุธ (23) ระบุว่า มีผู้ออกเสียงไม่น้อยกว่า 3 คน ที่ประกาศขัดขืนไม่โหวตลงคะแนนให้กับว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ แต่จะเสาะหาตัวเลือกอื่นที่เหมาะสมของพรรครีพับลิกัน สำหรับเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม สมาชิกกลุ่มแฮมิลตันเท่าที่มีการเผยชื่อกันออกมา ได้แก่ ไมเคิล บากา ที่เป็นคณะผู้เลือกตั้งจากรัฐโคโลราโด และ เบรต ชิอาฟาโล จากรัฐวอชิงตัน ปรากฏว่า เป็นผู้เลือกตั้งที่สังกัดพรรคเดโมแครต
ทั้งนี้ ในประวัติศาสตร์อเมริกัน เรื่องราวแบบนี้แทบไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเลย โดยครั้งสุดท้ายที่มีคณะเลือกตั้งแปรพักตร์ คือ ในปี 1808 และผู้ก่อหวอดมีจำนวน 6 คน เท่ากับครั้งนี้ หากรายงานข่าวของเดลิสตาร์เชื่อถือได้
นอกจากนั้น โอกาสที่จะเกิดปรากฏการณ์เช่นนี้ในคราวนี้ยังริบหรี่ลงอีก หลังจากเมื่อวันพุธ (3) สำนักงานเลขาธิการแห่งรัฐมิชิแกน เปิดเผยผลการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการ ที่ระบุว่า ทรัมป์ได้คะแนนเสียงในรัฐนี้ 2,279,543 คะแนน ส่วนคลินตันได้ 2,268,839 คะแนน ซึ่งหากทรัมป์ได้รับการประกาศให้เป็นผู้ชนะในมิชิแกน จะเท่ากับว่า เขาได้คะแนนคณะผู้เลือกตั้งรวม 306 เสียง ขณะที่คะแนนของคลินตันยังอยูที่ 232 คะแนนเท่าเดิม
มิชิแกนถือเป็นรัฐสุดท้ายที่ยังไม่มีการประกาศชื่อผู้ชนะ โดยผลการนับคะแนนที่เปิดเผยนี้ จะถือเป็นผลเลือกตั้งอย่างเป็นทางการต่อเมื่อได้รับการตรวจสอบและรับรองโดยคณะกรรมการตรวจนับคะแนนเลือกตั้งในวันที่ 28 ที่จะถึงนี้
ในอีกด้านหนึ่ง สื่อสหรัฐฯเช่น สำนักข่าวเอพี รายงานว่า ได้มีกลุ่มทนายความด้านการเลือกตั้งและผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูล นำโดย จอห์น โบนิฟาซ ทนายความด้านสิทธิการออกเสียง และ เจ. อเล็กซ์ ฮัลเดอร์แมน ผู้อำนวยการของศูนย์เพื่อความมั่นคงปลอดภัยทางคอมพิวเตอร์และสังคม มหาวิทยาลัยมิชิแกน ได้ติดต่อกับทีมรณรงค์หาเสียงของคลินตันในสัปดาห์นี้ เกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่คลินตันอาจจะร้องขอให้นับคะแนนเสียงทั้งหมดกันใหม่ใน 3 รัฐสมรภูมิสำคัญที่เธอเป็นฝ่ายพ่ายแพ้เพียงนิดเดียว ได้แก่ วิสคอนซิน, มิชิแกน และ เพนซิลเวเนีย ซึ่งในหลายๆ เทศมณฑล การโหวตใช้วิธีออกเสียงด้วยเครื่องออกเสียงอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งนี้ เพื่อให้แน่ใจว่า ไม่มีมีการโจมตีทางไซเบอร์เพื่อบิดเบือนผลรวมของการเลือกตั้ง
นิตยสาร นิวยอร์กแมกกาซีน เป็นผู้รายงานข่าวนี้เป็นเจ้าแรกตั้งแต่หลายวันก่อน และ ฮัลเดอร์แมน ได้เขียนบทความโพสต์ในเว็บไซต์ “มีเดียม” วันพุธ (23) ยอมรับว่า ทางกลุ่มยังไม่มีหลักฐานใดๆ ว่า มีการโจมตีทางไซเบอร์ หรือมีความผิดปกติในการออกเสียงใดๆ แต่เห็นว่าควรมีการนับคะแนนใหม่เพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีการเล่นสกปรก
อย่างไรก็ดี จวบจนถึงวันพุธ (23) ทีมหาเสียงของคลินตันก็ยังไม่ได้ออกมาเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ ตลอดจนไม่ได้ตอบคำถามของสื่อ ว่า จะยื่นคำร้องขอให้นับคะแนนกันใหม่หรือไม่ ในขณะที่เส้นตายการยื่นคำร้องเช่นนี้กำลังใกล้เข้ามาเต็มทีแล้ว
.
ทรัมป์เดินหน้าฟอร์ม ครม.ตั้ง 2 หญิงเป็นทูตยูเอ็น-รมว.ศึกษาฯ
ทางด้าน ทรัมป์ ยังคงเดินหน้าสรรหาว่าที่คณะรัฐมนตรี และผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญๆ โดยในวันพุธ (23) เขาเสนอชื่อนักการเมืองหญิงสายอนุรักษนิยม 2 คน ซึ่งหนึ่งในนั้นเคยมีกรณีวิพากษ์วิจารณ์ตอบโต้กับเขาอย่างรุนแรงมาก่อน
ทรัมป์ เสนอชื่อ นิกกี เฮลีย์ ผู้ว่าการรัฐเซาท์แคโรไลนา วัย 44 ปี เป็นเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำสหประชาชาติ ซึ่งบ่งชี้ว่า ว่าที่ประธานาธิบดีพร้อมยกโทษให้ฝ่ายตรงข้ามบางคน เพื่อเพิ่มความหลากหลายในคณะทำงานของตน ทั้งนี้ ในสหรัฐฯถือว่าตำแหน่งนี้เทียบเท่าบุคคลในคณะรัฐมนตรี และจะต้องให้วุฒิสภาพิจารณารับรองก่อน การแต่งตั้งจึงจะมีผล
เฮลีย์ เป็นบุตรสาวของผู้อพยพชาวอินเดีย เธอเติบโตขึ้นมาในครอบครัวชาวซิกข์ ทว่า เธอระบุในตอนหลังว่าเธอเป็นคริสเตียน เมื่อปีที่แล้ว เธอเคยสนับสนุนการตัดสินใจของสมาชิกสภานิติบัญญัติของเซาท์แคโรไลนา ในการปลดธงของสมาพันธรัฐอเมริกาจากอาคารรัฐสภา หลังสมาชิกลัทธิคนขาวสุดโต่งคนหนึ่งสังหารคนผิวดำ 9 คนในโบสถ์
การตัดสินใจดังกล่าวทำให้กลุ่มเหยียดผิวออกมาประท้วง นอกจากนั้น ในระหว่างที่เธอช่วย มาร์โค รูบิโอ คู่แข่งของทรัมป์ในการเลือกตั้งขั้นต้นตอนต้นปีนี้ เฮลีย์ได้ตำหนิทรัมป์ที่ไม่ยอมประกาศตัดขาดจากกลุ่มผิวขาวรุนแรงสุดโต่ง “คูคลักซ์แคลน” และถูกทรัมป์ตอบโต้ผ่านทวิตเตอร์ว่า “ชาวเซาท์แคโรไลนาต้องอับอายเพราะ นิกกี เฮลีย์”
ขณะเดียวกัน ทรัมป์ยังประกาศแต่งตั้ง เบ็ตซี เดอโวส ผู้บริจาคเงินรายใหญ่ของพรรครีพับลิกัน และนักเคลื่อนไหวสนับสนุนโรงเรียนทางเลือกแทนโรงเรียนรัฐบาล เข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีศึกษาธิการ ทั้งนี้ ถือเป็นชัยชนะสำหรับแนวทางอนุรักษนิยมด้านสังคม
เบ็ตซี เดอโวส เป็นภรรยาของ ริชาร์ด มาร์วิน “ดิก” เดอโวส จูเนียร์ บุตรชายของ ริชาร์ด เดอโวส หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งอาณาจักรธุรกิจ “แอมเวย์”
มีรายงานว่า ทรัมป์ ยังเล็งเสนอชื่อ เบน คาร์สัน ประสาทศัลยแพทย์เกษียณอายุ และอดีตคู่แข่งขันชิงตำแหน่งตัวแทนรีพับลิกัน ลงสู้ศึกทำเนียบขาวของเขา เข้าคุมกระทรวงการเคหะ อีกทั้งมีรายงานว่า มิตต์ รอมนีย์ อดีตผู้ว่าการรัฐแมสซาชูเซตส์ ที่เคยปะทะคารมกับทรัมป์ อาจได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ
.
.