รอยเตอร์ - รัฐบาลสหรัฐฯ ออกมาแสดงความกังวลเมื่อวานนี้ (23 พ.ย.) หลังทราบข่าวว่าทางการมาเลเซียอ้างกฎหมายความมั่นคงจับกุมนักเคลื่อนไหวและนักวิจารณ์คนหนึ่ง ซึ่งเป็นแกนนำขับไล่นายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัค
มาเรีย ชิน อับดุลเลาะห์ ประธานกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อการปฏิรูปเลือกตั้ง “เบอร์ซิห์” (Bersih) ถูกตำรวจควบคุมตัวตั้งแต่วันศุกร์ที่แล้ว (18) โดยอ้างว่าเธอมีพฤติกรรมฝ่าฝืนกฎหมายความมั่นคง (มาตรการพิเศษ) หรือ SOSMA ซึ่งรัฐบาลนาจิบได้นำมาบังคับใช้เมื่อปี 2012 เพื่อปราบปรามพวกหัวรุนแรงที่เป็นภัยต่อความมั่นคง
นักเคลื่อนไหวสตรีผู้นี้ถูกจับเพียง 1 วันก่อนการชุมนุมใหญ่ “เบอร์ซิห์ 5.0” ซึ่งชาวมาเลเซียนับแสนคนได้พากันสวมเสื้อสีเหลืองเดินขบวนไปตามท้องถนนในกรุงกัวลาลัมเปอร์ เพื่อขับไล่นายกรัฐมนตรีที่ถูกครหาว่ายักยอกเงินนับพันๆ ล้านดอลลาร์ไปจากกองทุนเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ วัน มาเลเซีย ดีเวลลอปเมนต์ เบอร์ฮัด (1MDB)
“รัฐบาลสหรัฐฯ รู้สึกกังวลเมื่อทราบข่าวว่า มาเรีย ชิน อับดุลเลาะห์ ถูกจับกุมและแยกขังเดี่ยว ภายใต้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ” อลิเซีย เอ็ดเวิร์ดส โฆษกหญิงกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์ผ่านอีเมล
วอชิงตันยังเป็นกังวลที่รัฐบาลมาเลเซียไล่ล่าจับกุมนักเคลื่อนไหวและนักการเมืองฝ่ายค้านอีกหลายคน ก่อนหน้าการชุมนุมประท้วงใหญ่เมื่อวันเสาร์ (19)
นักเคลื่อนไหวและแกนนำฝ่ายค้านนับสิบคนถูกตำรวจเสือเหลืองบุกรวบตัวก่อนที่การเดินขบวนของกลุ่มเบอร์ซิห์จะเริ่มขึ้น ทว่าเกือบทั้งหมดได้รับการปล่อยตัวแล้ว เว้นแต่เพียง มาเรีย ชิน อับดุลเลาะห์
“สหรัฐฯ ยังคงยึดมั่นในความเป็นหุ้นส่วนที่เข้มแข็งและแน่นแฟ้นยิ่งขึ้นเรื่อยๆ กับมาเลเซีย และด้วยความเป็นหุ้นส่วนนี้ เจ้าหน้าที่อเมริกันจึงได้แสดงความเป็นห่วงไปยังรัฐบาลมาเลเซียอยู่เนืองๆ เกี่ยวกับหลักนิติธรรม สิทธิมนุษยชน และเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ซึ่งเราก็จะทำเช่นนี้ต่อไป” เอ็ดเวิร์ดส กล่าว
แกนนำกลุ่มเบอร์ซิห์ ระบุว่า มาเรีย วัย 60 ปี ถูกแยกขังเดี่ยวภายในห้องขนาด 15 คูณ 8 ฟุตที่ไม่มีทั้งหน้าต่างและเตียงนอน ภายในห้องมีหลอดไฟ 2 ดวงเปิดสว่างจ้าตลอด 24 ชั่วโมง
ภายใต้กฎหมาย SOSMA เธออาจจะถูกกักตัวอยู่ได้ถึง 28 วัน โดยไม่ต้องมีการไต่สวนความผิด
คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนมาเลเซียได้ออกมาแถลงวานนี้ (23) ว่าการใช้กฎหมาย SOSMA จับกุม มาเรีย ชิน อับดุลเลาะห์ นั้นปราศจากความชอบธรรม
องค์กรสิทธิมนุษยชนอื่นๆ ก็ระบุเช่นกันว่า การจับกุมแกนนำที่เรียกร้องให้คนออกมาประท้วงอย่างสันติถือเป็นการใช้กฎหมายในทางมิชอบ และนาจิบ จงใจนำกฎหมายที่รุนแรงเกินเหตุ (draconian laws) มาใช้ปิดปากผู้ต่อต้าน
ผู้นำเสือเหลืองถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักตั้งแต่ปีที่แล้ว หลังจากหนังสือพิมพ์วอลล์สตรีทเจอร์เนิลออกมาเสนอรายงานเปิดโปงว่ามีเงินราว 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐถูกยักยอกออกไปจากกองทุน 1MDB และโอนเข้าบัญชีส่วนตัวของนายกฯ เสือเหลือง
ทั้ง นาจิบ และ 1MDB ต่างยืนกรานปฏิเสธข่าวการทุจริต ทว่ากระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ได้ออกมาแฉข้อมูลเมื่อเดือน ก.ค. ว่ามีเงินทุนมากถึง 3,500 ล้านดอลลาร์ถูกขโมยออกไปจากกองทุนที่ นาจิบ ตั้งขึ้นเมื่อปี 2009 และเงินทุนเหล่านั้นบางส่วนถูกโอนเข้าไปยังบัญชีของ “Malaysian Official 1” ซึ่งเจ้าหน้าที่อเมริกันและมาเลเซียระบุว่าหมายถึงตัว “นาจิบ” นั่นเอง