รอยเตอร์ - ในการนับคะแนนเลือกตั้งเบื้องต้นของการเลือกตั้งนิการากัว ล่าสุด พบว่า ประธานาธิบดี ดาเนียล ออร์เตกา (Daniel Ortega) ชนะการเลือกตั้งเป็นสมัยที่ 3 ติดต่อกัน ด้วยคะแนนเสียงสนับสนุน 72.1% ในจุดการนับผลคะแนนที่เสร็จสิ้นไปแล้ว 66.3%
รอยเตอร์รายงานวันนี้ (7 พ.ย.) ว่า นิการากัวได้เลือกผู้นำคนเดิมกลับเข้ามาอีกครั้งเป็นสมัยที่ 3 ติดต่อกันในการเลือกตั้งที่ถูกจัดขึ้นในวันอาทิตย์ (6 พ.ย.) ส่งผลให้ ประธานาธิบดี ดาเนียล ออร์เตกา (Daniel Ortega) และศรีภรรยา โรซาริโอ มูริโญ (Rosario Murillo) ซึ่งดำรงตำแหน่ง รองประธานาธิบดี กลับเข้ามาอีกครั้ง สร้างความดีใจให้กับกลุ่มผู้สนับสนุนพรรคแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติซานดินิสตา FSLN ได้เฉลิมฉลองบนถนนสายต่างๆ ในกรุงมานากัว อย่างครื้นเครง
โดยสำนักงานเลือกตั้งแห่งชาตินิการากัว แถลงว่า มีคูหาเลือกตั้งที่ได้รับการนับคะแนนเสร็จสิ้นไปแล้วล่าสุด 66.3% และพบว่า ออร์เตกาได้คะแนนเสียงสนับสนุน 72.1%
ส่วนคู่แข่ง ตัวแทนพรรคกลางขวาเสรีประชาธิปไตย PLC แม็กซิมิโน โรดิเกวซ (Maximino Rodriguez) ได้คะแนนมาอันดับ 2 แบบทิ้งห่าง อยู่ที่ 14.2%
ออร์เตกา ในวัย 70 ปี ได้ออกแถลงการณ์กับผู้สนับสนุนหลังจากหย่อนบัตรลงคะแนนเลือกตั้งในวันอาทิตย์ (6 พ.ย.) ว่า “ในเวลานี้ เป็นชาวนิการากัวทั้งหลายที่ต้องตัดสิน เพราะในเวลานี้เราไม่มีนายพลแยงกี้แม้แต่คนเดียวอยู่ในประเทศแห่งนี้” ผู้นำนิการากัวประกาศ โดยอ้างไปถึงช่วงเวลาที่สหรัฐฯได้เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองภายในแดนละตินอเมริกา และเขาได้กล่าวต่อว่า “เป็นพวกเราชาวนิการากัวที่นับผลคะแนนเลือกตั้ง นี่คือ อำนาจประชาธิปไตย”
อย่างไรก็ตาม กลุ่มการเมืองฝ่ายตรงกันข้ามกับประธานาธิบดีนิการากัว ได้ประกาศว่า ออร์เตการ์พยายามที่จะตั้งราชวงศ์ใหม่ โดยการแต่งตั้งญาติในครอบครัวที่ใกล้ชิดขึ้นดำรงตำแหน่งสำคัญๆ หลังจากที่พรรครัฐบาลนิการากัวของเขาประสบความสำเร็จสามารถผลักดันให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญประเทศ สิ้นสุดข้อจำกัดสมัยการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีในปี 2014
ซึ่งเป็นที่น่าประหลาดใจ เมื่อพบว่า รอยเตอร์ชี้ ถึงแม้ว่าจะมีความไม่ราบรื่นเกิดขึ้น แต่ทว่า เผด็จการนิการากัว อดีตนักรบกองโจรนั้น มีความสัมพันธ์ที่ดีฉันท์มิตรกับผู้นำโลกที่ 1 ประธานาธิบดีสหรัฐฯ บารัค โอบามา แสดงให้เห็นว่า อดีตเผด็จการผู้นี้หันมาเป็นนักการทูตอย่างเต็มตัว ที่ยังคงสามารถกระชับความสัมพันธ์กับอดีตศัตรูยุคสงครามเย็นไว้ได้
แต่ทว่าประเด็นประชาธิปไตยยังคงเป็นจุดที่เปราะบาง เพราะสหรัฐฯได้ออกกฎหมายนิกา แอ็กต์ (Nica Act) ซึ่งระบุความช่วยเหลือด้านการเงินแก่นิการากัวแบบมีเงื่อนไข เพื่อกำหนดว่าประเทศแห่งนี้ต้องมีความก้าวหน้าในด้านประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และการต่อต้านคอร์รัปชัน ส่งผลทำให้รัฐบาลนิการากัวของออร์เตกา ประท้วงวอชิงตันถึงการเข้ามาแทรกแซงในเดือนกันยายนล่าสุด