เอเอฟพี - อดีตประธานาธิบดี ฟิเดล รามอส แห่งฟิลิปปินส์ ขอถอนตัวจากการเป็นผู้แทนเจรจากับจีน หลังออกมาแสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับสงครามยาเสพติดของประธานาธิบดี โรดริโก ดูเตอร์เต รวมถึงเรื่องที่ ดูเตอร์เต พูดจาก้าวร้าวกับพันธมิตรสำคัญอย่างสหรัฐฯ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า
ดูเตอร์เต แถลงเมื่อค่ำวานนี้ (1 พ.ย.) ว่า เพิ่งจะได้รับหนังสือลาออกจาก รามอส ซึ่งเป็นรัฐบุรุษที่ประกาศตัวอยู่ข้างตนมาโดยตลอด แต่เมื่อไม่นานนี้กลับออกมาพูดผ่านสื่อว่ารู้สึก “ผิดหวังอย่างใหญ่หลวง” ในตัวผู้นำขาโหด
ดูเตอร์เต ยอมรับว่า เขากับ รามอส มีความเห็นไม่ตรงกันในเรื่องความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ รวมถึงสงครามกวาดล้างอาชญากรรม ซึ่งได้คร่าชีวิตคนไปแล้วกว่า 4,000 คน ในระยะเวลาแค่ 4 เดือน
“ผมทราบว่า ท่านนิยมตะวันตก ท่านเป็นนายทหารที่ศึกษาเล่าเรียนมาจากที่นั่น (สหรัฐฯ) คุณต้องไม่ลืมว่าประธานาธิบดี รามอส จบจากเวสต์พอยน์ต ฉะนั้น ท่านจึงไม่อยากสู้รบปรบมือกับสหรัฐฯ” ดูเตอร์เต บอกกับสื่อมวลชน
รามอส ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้นำฟิลิปปินส์ในช่วงปี 1992 - 1998 ได้รับมอบหมายจาก ดูเตอร์เต ให้เป็นทูตฟื้นฟูความสัมพันธ์กับปักกิ่ง หลังจากที่รัฐบาล เบนิโญ อากีโน ได้นำข้อพิพาททะเลจีนใต้ไปยื่นฟ้องศาลระหว่างประเทศ จนทำให้ฟิลิปปินส์กับจีนต้องบาดหมางอย่างรุนแรง
รามอส วัย 88 ปี เดินทางไปฮ่องกงเมื่อเดือน ส.ค. เพื่อยุติความหมางเมิน และได้เข้าพบเจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีนหลายคน
ฟิลิปปินส์ และจีน ทำข้อตกลงด้านการลงทุนและปล่อยกู้มูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์จากการที่ ดูเตอร์เต เดินทางไปเยือนปักกิ่งเมื่อเดือนที่แล้ว ทว่า ทริปประวัติศาสตร์นี้กลับไม่มี รามอส ร่วมทางไปด้วย
รามอส ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ GMA7 ในสัปดาห์นี้ ว่า ตนตัดสินใจยุติบทบาททูตพิเศษ เพราะได้ทำในสิ่งที่จำเป็นไปหมดแล้ว
อย่างไรก็ตาม คำพูดของ ดูเตอร์เต กลับสะท้อนให้เห็นถึงความร้าวฉานระหว่างเขากับอดีตประธานาธิบดี ผู้ซึ่งเขาเคยแสดงความขอบคุณผ่านสื่อหลายต่อหลายครั้งที่ช่วยสนับสนุนให้ได้เป็นผู้นำประเทศ
รามอส ซึ่งเคยเป็นทั้งตำรวจและทหารระดับนายพล ถือเป็นผู้ทรงอิทธิพลในแวดวงการเมืองฟิลิปปินส์มานานหลายสิบปี และยังมีบทบาทสำคัญในการโน้มน้าวกองทัพให้เลิกหนุนหลังผู้นำเผด็จการ เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ระหว่างการปฏิวัติพลังประชาชน เมื่อปี 1986
ช่วงไม่กี่สัปดาห์มานี้ รามอส ได้แสดงออกอย่างเปิดเผยว่า ไม่เห็นด้วยที่ ดูเตอร์เต พูดจาก้าวร้าวกับสหรัฐฯ และขู่ยกเลิกความเป็นพันธมิตรทางทหารเพียงเพราะไม่พอใจที่ถูกวอชิงตันวิจารณ์เรื่องสงครามอาชญากรรม
“แล้วมันได้อะไรขึ้นมา... เราจะละทิ้งความเป็นหุ้นส่วนที่มีมานานหลายทศวรรษ ศักยภาพทางยุทธวิธี อาวุธยุทโธปกรณ์ที่เข้ากันได้ การลำเลียงขนส่งที่คาดหมายได้ และความเป็นมิตรระหว่างทหารทั้งสองชาติ ไปเสียอย่างนั้นหรือ” รามอส เขียนในบทความซึ่งตีพิมพ์ในวาระ 100 วันที่ ดูเตอร์เต เข้าบริหารประเทศ