xs
xsm
sm
md
lg

กำลังการผลิตไฟฟ้าทั่วโลกจาก ‘พลังงานหมุนเวียน’ แซงหน้า ‘ถ่านหิน’ แล้ว IEA ยืนยัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<i>ภาพจากแฟ้มถ่ายเมื่อ 21 มีนาคม 2015 แสดงให้เห็นกังหันลม และเสาไฟฟ้าแรงสูง ที่โรงไฟฟ้าพลังลมในเมืองฮามิ เขตปกครองตนเองชนชาติอุยกูร์แห่งซินเจียง (ซินเกียง) ของจีน ทั้งนี้รายงานไออีเอระบุว่า ในปีที่แล้วจีนติดตั้งกังหันลมใช้ผลิตไฟฟ้าเฉลี่ยแล้ว 2 เครื่องทุกๆ 1 ชั่วโมง </i>
บีบีซีนิวส์/เอเจนซีส์ - สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency หรือ IEA) ระบุในรายงานฉบับใหม่ที่เผยแพร่เมื่อวันอังคาร (25 ต.ค.) ว่า ศักยภาพความสามารถของโลกในการผลิตกระแสไฟฟ้าโดยใช้แหล่งพลังงานหมุนเวียนต่างๆ เวลานี้ได้แซงหน้าถ่านหินไปแล้ว

ไออีเอ ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างรัฐบาลภายใต้กรอบโครงขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) ระบุในรายงานฉบับนี้ว่า ในกำลังความสามารถผลิตไฟฟ้าของโลกที่เพิ่มขึ้นเมื่อปีที่แล้วนั้น มาจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนถึงกว่าครึ่งหนึ่ง

รายงานฉบับนี้แจกแจงว่า ทุกๆ วันเมื่อปี 2015 ทั่วโลกติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อใช้ผลิตไฟฟ้าโดยเฉลี่ยวันละครึ่งล้านแผง ขณะที่ในประเทศจีนมีการติดตั้งกังหันลมเพื่อใช้ผลิตไฟฟ้าเช่นกัน เฉลี่ยเท่ากับ 2 เครื่องทุกๆ 1 ชั่วโมง

แหล่งพลังงานหมุนเวียน เป็นต้นว่า ลม, แสงอาทิตย์, และกระแสน้ำ ถูกจับตามองว่าเป็นส่วนประกอบหลักอย่างหนึ่งในความพยายามของนานาชาติที่จะต่อสู้กับปัญหาโลกร้อน

ในขั้นตอนนี้ยังเป็นกำลังความสามารถของพลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้า ที่แซงหน้ากำลังความสามารถในการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน ไม่ใช่ปริมาณกระแสไฟฟ้าที่ผลิตออกมาได้จริงๆ

เนื่องจากพลังงานหมุนเวียนนั้นมีลักษณะเกิดขึ้นเป็นช่วงๆ มีขาดหายมีเว้นวรรค ตัวอย่างเช่น ต้องขึ้นอยู่กับการสาดแสงของดวงอาทิตย์ หรือต้องมีลมพัด ไม่เหมือนกับถ่านหินซึ่งสามารถผลิตไฟฟ้าได้วันละ 24 ชั่วโมงตลอดทั้งปี

ดังนั้น เทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนจึงหลีกเลี่ยงไม่พ้นที่จะผลิตไฟฟ้าได้ต่ำกว่าศักยภาพความสามารถเป็นอย่างมาก

แต่กระนั้นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นนี้ก็ถือเป็นพัฒนาการที่น่าตื่นตะลึง
<i>แผงวงจรพลังแสงอาทิตย์ที่ใช้ผลิตไฟฟ้าจำนวนมากมายของนิคมไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์แห่งใหญ่ที่สุดในยุโรป ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองเซสตัส ประเทศฝรั่งเศส  ภาพจากแฟ้มภาพนี้ถ่ายวันที่ 1 ธันวาคม 2015 อันเป็นวันเปิดนิคมแห่งนี้อย่างเป็นทางการ </i>
ฟาตีห์ บิรอล ผู้อำนวยการบริหารของไออีเอ บอกว่า “เรากำลังเป็นพยานการเปลี่ยนแปลงพลิกโฉมของตลาดกระแสไฟฟ้าทั่วโลก ที่นำโดยพลังงานหมุนเวียน”

การที่กำลังความสามารถของพลังงานหมุนเวียนขยายตัวออกไปรวดเร็วเช่นนี้ สะท้อนให้เห็นถึงต้นทุนที่ลดต่ำลงในการใช้ลมบริเวณชายฝั่ง และแผงพลังงานแสงอาทิตย์มาผลิตไฟฟ้า ซึ่งรายงานฉบับนี้บรรยายว่า เป็นการลดต่ำลงที่น่าประทับใจ และไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดขึ้นได้เลย “แม้กระทั่งเมื่อสัก 5 ปีที่แล้ว”

เวลานี้ไออีเอคาดหมายว่าแนวโน้มที่ต้นทุนลดต่ำลงเช่นนี้ยังจะดำเนินต่อไป

ทั้งนี้ เทคโนโลยีด้านพลังแสงอาทิตย์และด้านพลังลม น่าที่จะมีส่วนถึงราวสามในสี่ของอัตราเติบโตในอนาคตของพลังงานหมุนเวียนทั้งหลายโดยรวม

ขณะที่การผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำก็ยังจะเติบโตต่อไป รายงานบอกพร้อมกับชี้ว่า แต่น่าที่จะขยายตัวไปด้วยอัตราที่ชะลอลงกว่าเมื่อก่อน

ต้นทุนที่ลดต่ำลงยังเป็นเหตุผลหนึ่งซึ่งทำให้ไออีเอปรับเพิ่มคำทำนายเกี่ยวกับกำลังความสามารถในการผลิตไฟฟ้าของพลังงานทดแทนในอนาคตข้างหน้า

ส่วนอีกปัจจัยหนึ่งที่ระบุเอาไว้ในรายงานฉบับนี้เช่นกัน ได้แก่ นโยบายของรัฐบาลต่างๆ ที่ให้แรงจูงใจทางการเงินแก่การใช้พลังงานหมุนเวียนมาผลิตไฟฟ้า

ตัวอย่างเช่น สหรัฐฯ มีการขยายเวลาการลดภาษี โดยที่รายงานชี้ด้วยว่าการเปลี่ยนนโยบายในจีน, อินเดีย, เม็กซิโก ก็เป็นพลังอันสำคัญซึ่งอยู่เบื้องหลังการที่ไออีเอคาดการณ์ว่าการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจะเติบโต
<i>เหล่าช่างเทคนิคคอยดูแลตู้กระแสไฟฟ้า ระหว่างพิธีเปิดสถานที่ผลิตไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ ในเมืองโบคอล ประเทศเซเนกัล เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2016 โครงการนี้เป็นโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในแถบซับ-ซาฮารา ของแอฟริกา </i>
รายงานนี้กล่าวว่า ศูนย์กลางของการเติบโตในการใช้พลังงานหมุนเวียนกำลังเคลื่อนมาที่พวกชาติตลาดเศรษฐกิจเกิดใหม่ทั้งหลาย

โดยที่จีน “ยังคงเป็นผู้นำของโลกยังไม่อาจโต้แย้งได้ในเรื่องการขยายการใช้พลังงานหมุนเวียน โดยเป็นผู้มีส่วนในการเติบโตถึงเกือบๆ 40%”

ถึงแม้รายงานฉบับนี้ชี้ให้เห็นถึงบทบาทของพลังงานหมุนเวียนซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมากมายยิ่งกว่าที่เคยคาดการณ์กันแม้เมื่อไม่นานมานี้ แต่ไออีเอก็ยังคงคิดว่ายังจะมีการขยายบทบาทยิ่งกว่านี้อีก

บิรอลบอกว่า “แม้กระทั่งการคาดหมายที่สูงขึ้นเหล่านั้นก็ยังถือว่าอยู่ในระดับแค่พอประมาณ เมื่อเปรียบเทียบกับศักยภาพอันมหึมาที่ยังไม่ได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์ของพลังงานหมุนเวียน”

ยิ่งกว่านั้น นอกเหนือจากใช้ผลิตไฟฟ้าแล้ว พลังงานหมุนเวียนก็มีบทบาทน้อยมากๆ ในแวดวงอื่นๆ ของการใช้พลังงาน

ดังที่รายงานชี้ว่า พลังงานหมุนเวียนยังแทรกตัวเข้าไปได้ช้าในเรื่องของการขนส่งและการให้ความร้อน

รายงานยังเตือนด้วยว่า พลังงานหมุนเวียนต้องแสดงบทบาทให้มากขึ้นเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ เนื่องจากพลังงานชนิดนี้ไม่ว่าใช้เพื่อผลิตไฟฟ้าหรือใช้ในเรื่องอื่นๆ ถือเป็นกลุ่มของเทคโนโลยีสำคัญกลุ่มหนึ่งสำหรับลดการปล่อยไอเสียของก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

โดยที่หากไม่ใช้พลังงานหมุนเวียนแล้ว ก็อาจต้องมาใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างเช่นถ่านหินและน้ำมัน ซึ่งก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก

ไออีเอระบุว่า การทำให้ได้ตามเป้าหมายของนานาชาติในการจำกัดการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศนั้น จำเป็นต้องมีอัตราการปล่อยไอเสียคาร์บอนน้อยลงไปอีกมาก ซึ่งก็หมายถึงการลดใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และเร่งนำเอาพลังงานหมุนเวียนแทรกตัวเข้าไปใช้ประโยชน์ในทั้ง 3 ภาค อันได้แก่ การผลิตไฟฟ้า, การขนส่ง, และการให้ความร้อน

กำลังโหลดความคิดเห็น