รอยเตอร์ - รัฐบาลฟิลิปปินส์จะยังรักษาความสัมพันธ์อันดีในด้านการค้าและเศรษฐกิจกับสหรัฐฯ ต่อไป แม้ว่าประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต จะประกาศกร้าวระหว่างเยือนจีนว่าต้องการ “ตัดขาด” กับอเมริกาก็ตาม รามอน โลเปซ รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ฟิลิปปินส์ แถลงวันนี้ (21 ต.ค.)
คำพูดที่น่าตกตะลึงของดูเตอร์เต มีขึ้นระหว่างที่เขาพบปะกับเหล่านักธุรกิจกว่า 200 คนที่กรุงปักกิ่ง เพื่อเปิดทางสำหรับพันธมิตรทางการค้าใหม่ ในขณะที่ความสัมพันธ์กับพันธมิตรเก่าแก่อย่างสหรัฐฯ ดูเหมือนจะเสื่อมทรามลงเรื่อยๆ
“ณ เวทีนี้ ด้วยความเคารพ นี่คือเวทีที่ผมจะประกาศตัดขาดจากสหรัฐฯ” ดูเตอร์เต บอกกับเหล่านักธุรกิจทั้งชาวจีนและชาวฟิลิปปินส์ ท่ามกลางเสียงปรบมือดังกึกก้อง ณ เวทีสัมมนาในมหาศาลาประชาชน ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรีจีน จาง เกาลี่ เข้าร่วมด้วย
“ทั้งทางทหารและทางเศรษฐกิจ แต่อาจไม่รวมถึงทางสังคม นั่นคือสิ่งที่อเมริกาได้สูญเสียมันไปแล้ว”
ความพยายามของดูเตอร์เตที่จะฟื้นฟูความสัมพันธ์อันดีกับจีนมีขึ้น หลังจากที่ศาลอนุญาโตตุลาการถาวร ณ กรุงเฮก มีคำพิพากษาเมื่อหลายเดือนก่อนว่า ปักกิ่งไม่มีสิทธิทางประวัติศาสตร์ในทะเลจีนใต้ โดยเป็นคดีที่ยื่นฟ้องโดยรัฐบาลชุดเก่าของฟิลิปปินส์
นี่คือการปรับเปลี่ยนนโยบายต่างประเทศครั้งสำคัญนับตั้งแต่อดีตนายกเทศมนตรีเมืองดาเวาวัย 71 ปีรายนี้เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อวันที่ 30 มิ.ย.
รัฐมนตรีโลเปซ ซึ่งให้สัมภาษณ์กับซีเอ็นเอ็นฟิลิปปินส์ พยายามอธิบายความหมายของสิ่งที่ดูเตอร์เตกล่าว โดยยืนยันว่า “ท่านประธานาธิบดีไม่ได้พูดถึงการตัดขาด”
“ในเรื่องความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ เราไม่ได้ยุติการค้าและการลงทุนกับอเมริกา ประธานาธิบดีเพียงแต่เน้นว่าท่านต้องการกระชับความสัมพันธ์กับจีนและเพื่อนบ้านในอาเซียน ซึ่งเราได้ทำการค้ากับประเทศเหล่านี้มานานหลายร้อยปีแล้ว”
โลเปซชี้ว่า ฟิลิปปินส์ “ไม่ต้องการพึ่งพาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมากเกินไป”
“แต่แน่นอนว่า เราจะไม่เลิกทำการค้าและลงทุนร่วมกับชาติตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐฯ”
ผู้นำขาโหดแดนตากาล็อกยังกล่าวต่อบรรดานักธุรกิจในจีนด้วยว่า เขาได้ “ปรับตัวเข้ากับกระแสค่านิยม” ของปักกิ่ง
“บางทีผมอาจจะไปเยือนรัสเซียเพื่อพูดคุยกับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน และบอกเขาว่ามีเรา 3 ประเทศ คือ จีน ฟิลิปปินส์ และรัสเซีย อยู่ฝ่ายเดียวกันในโลกใบนี้... และนั่นคือหนทางเดียว”
คำพูดของดูเตอร์เต คงจะสร้างความหวั่นวิตกไม่น้อยต่อสหรัฐฯ ซึ่งประธานาธิบดีบารัค โอบามา มองว่ามะนิลาเป็นพันธมิตรที่สำคัญยิ่งต่อยุทธศาสตร์ “ปรับสมดุลสู่เอเชีย” เพื่อต่อต้านอิทธิพลจีน