xs
xsm
sm
md
lg

รองนายใหญ่ไอเอ็มเอฟ จี้ เยอรมัน “เลิกบ้ารัดเข็มขัด”กรีซ แนะสร้างการเติบโตเป็นทางออกวิกฤตหนี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพจากเอเอฟพี
เอเจนซีส์ / MGR online –เดวิด ลิปตัน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ชื่อดังของเยอรมนี ซุดดอยต์เชอ ไซตุง (Suddeutsche Zeitung) ระบุ ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลเยอรมนีจะต้องเพิ่มการใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อสร้างการเติบโตให้กับเศรษฐกิจของกรีซและดึงกลุ่มยูโรโซนออกจากวิกฤต ชี้ แค่ “รัดเข็มขัด” อย่างเดียวไม่เพียงพอ

ขณะเดียวกัน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ไอเอ็มเอฟ ยังระบุผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ชื่อดังของเมืองเบียร์ว่า ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลเบอร์ลินภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีหญิง อังเกลา แมร์เคิล จะต้องดำเนินมาตรการที่ก่อให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจในกรีซ ควบคู่ไปกับการพิจารณา “ยกเลิกหนี้สิน” บางส่วนให้กับกรีซด้วย

“ผมกล้าพูดได้ว่า ลำพังการรักษาวินัยการคลังและบังคับใช้มาตรการรัดเข็มขัดที่เข้มงวดเพียงอย่างเดียว ไม่เพียงพอต่อการดึงกรีซออกจากวิกฤต สิ่งสำคัญที่รัฐบาลเยอรมนีควรต้องตระหนักในเวลานี้ คือ จะต้องทำอย่างไร เพื่อกระตุ้นให้เศรษฐกิจที่บอบช้ำของกรีซกลับมาอยู่ในเส้นทางของการเติบโต และยืนหยัดได้ด้วยขาของตัวเองโดยเร็ว แทนการแบมือขอรับแต่เงินช่วยเหลือ” ลิปตันกล่าว พร้อมชี้ รัฐบาลเยอรมนีควรเพิ่มการลงทุนทางด้าน “โครงสร้างพื้นฐาน” เพื่อสร้าง “ความต้องการใหม่ๆ” สำหรับสินค้าส่งออกและสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจกลุ่มประเทศยูโรโซน

ความเคลื่อนไหวล่าสุดของรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ไอเอ็มเอฟ มีขึ้นภายหลังจากมีกระแสข่าวแพร่สะพัดในตลาดการเงินทั่วยุโรปว่า ทางไอเอ็มเอฟไม่ต้องการมีส่วนร่วมใดๆ ในแผนให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจระลอกที่ 3 ต่อกรีซหากรัฐบาลเยอรมนียังไม่ยอมพิจารณา “ยกหนี้สิน” บางส่วนให้กับรัฐบาลเอเธนส์และยังคงหนุนการใช้มาตรการรัดเข็มขัดต่อกรีซแบบ “ไม่ลืมหูลืมตา”

ก่อนหน้านี้ โวล์ฟกัง ชอยเบิล รัฐมนตรีคลังเยอรมนีออกมาย้ำว่า ไอเอ็มเอฟจะยังคงมีส่วนร่วมในแพ็คเกจช่วยเหลือกรีซครั้งที่ 3 ที่จะส่งถึงมือรัฐบาลกรีซภายในสิ้นปี 2016 นี้อย่างแน่นอน เช่นเดียวกับที่ไอเอ็มเอฟเคยร่วมช่วยเหลือกรีซใน 2 ครั้งก่อนหน้านี้

ทั้งนี้ แพ็คเกจให้ความช่วยเหลือครั้งที่ 3 ต่อกรีซที่มีมูลค่าสูงถึง 86,000 ล้านยูโร (ราว 3.37 ล้านล้านบาท)นั้น ผ่านความเห็นชอบร่วมกันของรัฐบาลเอเธนส์และกลุ่มยูโรโซนแล้วตั้งแต่เมื่อเดือนกรกฎาคมปี 2015 แลกเปลี่ยนกับการที่รัฐบาลกรีซจำต้องดำเนินมาตรการขึ้นภาษีและตัดลดการใช้จ่ายภาครัฐลง แต่ความขัดแย้งภายในสหภาพยุโรป (อียู) รวมถึงกลุ่มยูโรโซน และไอเอ็มเอฟ เกี่ยวกับแนวทางการแก้วิกฤตที่เหมาะสม รวมถึง ความล่าช้าในการปฏิบัติตามเงื่อนไขขอรับความช่วยเหลือของรัฐบาลกรีซ ส่งผลให้การจ่ายเงินช่วยเหลืองวดนี้ล่าช้ากว่ากำหนด


กำลังโหลดความคิดเห็น