เอเอฟพี - รัฐมนตรีคลังกลุ่มยูโรโซนบรรลุข้อตกลงสำคัญกับรัฐบาลกรีซวันนี้ (25 พ.ค.) ในการบรรเทาภาระหนี้ให้แก่เอเธนส์ตามที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เรียกร้อง และยังปลดล็อกวงเงินกู้งวดใหม่ให้อีก 10,300 ล้านยูโร
ไอเอ็มเอฟยืนยันว่ากองทุนจะยอมร่วมมือกับยุโรปปล่อยกู้ให้แก่เอเธนส์ต่อไปก็ต่อเมื่อมีการ “ลดหนี้” เท่านั้น ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากเยอรมนีซึ่งไม่เห็นด้วยกับวิธีรอมชอมเช่นนี้
รัฐมนตรีคลังจากกลุ่ม 19 ประเทศที่ใช้สกุลเงินยูโรได้จัดการประชุมที่บรัสเซลส์เป็นเวลา 2 วัน หลังจากที่รัฐสภากรีซอนุมัติการตัดลดงบประมาณ และขึ้นภาษีตามที่องค์กรเจ้าหนี้เรียกร้อง
เจอโรน ดิจเซลโบลม รัฐมนตรีกระทรวงการคลังเนเธอร์แลนด์และประธานยูโรกรุ๊ป ออกมาประกาศว่า ที่ประชุมรัฐมนตรีคลังยูโรโซนได้บรรลุข้อตกลง “ผ่าทางตันครั้งใหญ่” เพื่อแก้ไขวิกฤตหนี้สินกรีซ
“นี่คือช่วงเวลาสำคัญอีกครั้งหนึ่งสำหรับโครงการช่วยเหลือกรีซ... หลังจากเมื่อฤดูร้อนที่ผ่านมาได้เกิดวิกฤตความเชื่อมั่นอย่างรุนแรงในกลุ่มของเรา” ดิจเซลโบลมแถลงต่อสื่อมวลชน
รัฐบาลกรีซจำเป็นต้องได้รับเงินกู้งวดใหม่เพื่อนำไปชำระหนี้แก่ธนาคารกลางแห่งยุโรป (อีซีบี) และไอเอ็มเอฟภายในเดือน ก.ค. และเวลานี้ก็เริ่มไม่มีเงินที่จะจ่ายค่าจ้างรายวันแก่พนักงานของรัฐ
รัฐมนตรีคลังยูโรโซนตกลงที่จะอนุมัติเงินกู้ 10,300 ล้านยูโรให้แก่กรีซ หลังเสร็จสิ้นขั้นตอนการตรวจสอบอย่างเป็นทางการครั้งแรกสำหรับแพกเกจเงินกู้ก้อนที่ 3 มูลค่า 86,000 ล้านยูโรที่ได้ตกลงกันไว้เมื่อเดือน ก.ค. ปีที่แล้ว
กรีซจะได้รับเงินก้อนแรก 7,500 ล้านยูโรในเดือน มิ.ย. ส่วนที่เหลือเจ้าหนี้จะทยอยเบิกจ่ายให้เป็นงวดๆ
ปัญหาใหญ่สำหรับการประชุมครั้งนี้อยู่ที่การเจรจาเพื่อคลี่คลายความเห็นต่างระหว่างองค์กรเจ้าหนี้กรีซ ซึ่งก็คือรัฐบาลยูโรโซนและไอเอ็มเอฟ เกี่ยวกับสถานะทางเศรษฐกิจของเอเธนส์ และการบรรเทาหนี้
“ยูโรกรุ๊ปสามารถตกลงกันได้ในวันนี้เรื่องมาตรการแก้ไขวิกฤตหนี้สินกรีซ ซึ่งจะทยอยดำเนินการแบบเป็นขั้นเป็นตอน” ดิจเซลโบลมกล่าว พร้อมระบุว่า ตน “มีความยินดี” ที่จะยืนยันว่าไอเอ็มเอฟจะร่วมโครงการปล่อยกู้ให้กรีซต่อไป
ก่อนที่การประชุมรัฐมนตรีคลังยูโรโซนจะเริ่มขึ้น ไอเอ็มเอฟได้เผยแพร่รายงานซึ่งระบุว่ากรีซมีภาระหนี้สูงถึง 180% ของจีดีพี ซึ่งไม่สามารถจัดการอย่างยั่งยืน (unsustainable) และจำเป็นต้องได้รับการบรรเทาหนี้
ไอเอ็มเอฟยังเตือนด้วยว่า หากไม่มีการปรับโครงสร้างหนี้ กรีซจะต้องแบกรับหนี้สินสูงถึง 260% ของจีดีพีภายในปี 2060
เยอรมนีซึ่งเป็นขุมพลังใหญ่ของยูโรโซนประกาศคัดค้านการลดหนี้ให้กรีซมาโดยตลอด และย้ำว่ามาตรการเช่นนี้ “ยังไม่มีความจำเป็น” แต่ก็นับเป็นโชคดีของเอเธนส์ที่เบอร์ลินยอมผ่อนปรนจุดยืนเพื่อที่จะเหนี่ยวรั้งไอเอ็มเอฟเอาไว้
โวล์ฟกัง ชอยเบิล รัฐมนตรีคลังเยอรมนี ยอมรับว่า “ถ้าไม่มีไอเอ็มเอฟ ก็ไม่สามารถจะมีโครงการปล่อยกู้ต่อไปได้” พร้อมยืนยันว่า “เราไม่ได้ทะเลาะกับไอเอ็มเอฟ”