เอเอฟพี - พลเมืองโสมแดงที่สูญเสียบ้านเรือนจากอุทกภัยครั้งเลวร้ายเมื่อช่วงเดือน ส.ค.- ก.ย. ที่ผ่านมา โดยเฉพาะเด็ก ๆ เสี่ยงที่จะต้องเผชิญกับ “หายนะครั้งที่สอง” เมื่อฤดูหนาวมาเยือน องค์กรบรรเทาทุกข์เตือน
น้ำท่วมใหญ่ที่จังหวัดฮัมยอง (Hamyong) เมื่อช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ได้คร่าชีวิตชาวบ้านโสมแดงไปกว่า 130 คน ขณะที่ประชาชนอีกราว 70,000 คน ต้องไร้ที่อยู่
กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) และมูลนิธิ เซฟ เดอะ ชิลเดรน ได้มีถ้อยแถลงร่วมวันนี้ (7 ต.ค.) ว่า พื้นที่ประสบภัยในเกาหลีเหนือจะมีอุณหภูมิลดต่ำกว่าศูนย์องศาเซลเซียสในช่วงปลายเดือน ต.ค. เมื่อฤดูหนาวอันยาวนานเริ่มย่างกรายเข้ามา
“เด็กหลายพันคนกำลังทุกข์ทรมาน และฤดูหนาวนี้อาจกลายเป็นหายนะครั้งที่ 2 สำหรับพวกเขา หากเราไม่เร่งเหลือช่วยเด็ก ๆ และครอบครัวชาวเกาหลีเหนือเหล่านี้” โอยุนไซฮัน เดนเดฟโนรอฟ หัวหน้าคณะทำงานของ UNICEF ในเกาหลีเหนือ ระบุ
“พวกเขาไม่เหลืออะไรสักอย่าง ไม่ว่าจะน้ำดื่มสะอาด อาหาร ยารักษาโรค หรือที่อยู่อาศัย หากไม่มีใครให้ความสนใจ เด็ก ๆ เหล่านี้จะยิ่งลำบาก”
แม่น้ำถูเหมินซึ่งกั้นพรมแดนบางส่วนของจีนและเกาหลีเหนือได้เอ่อล้นตลิ่ง และไหลหลากเข้าท่วมหมู่บ้านหลายแห่ง พัดพาสิ่งปลูกสร้างจมหายไปกับกระแสน้ำ
ขณะนี้ยังมีชาวเกาหลีเหนือหลายหมื่นคนต้องการอาหารและที่อยู่อาศัยอย่างเร่งด่วน
เปาโล ฟัตโตริ ผู้อำนวยการ เซฟ เดอะ ชิลเดรน ในเกาหลีเหนือ เรียกร้องให้ชาติผู้บริจาคทั้งหลายระดมเงินช่วยเหลือเหยื่อน้ำท่วมโสมแดง ก่อนที่ฤดูหนาวจะมาถึง
องค์กรทั้งสองได้ขอระดมเงินบริจาค 28.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับเป็นทุนช่วยเหลือทั้งเฉพาะหน้าและระยะยาว โดยจะนำไปซ่อมแซมระบบประปา และจัดหาปัจจัยยังชีพที่จำเป็น เช่น อาหาร ชุดสุขอนามัย และที่พักชั่วคราว
ก่อนหน้านี้ สภากาชาดก็ได้เรียกร้อง “มาตรการเร่งด่วน” เพื่อช่วยชาวโสมแดงก่อนถึงฤดูหนาว ทว่า โครงการระดมทุน 15.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 21 ก.ย. เพิ่งจะได้รับเงินสนับสนุนจริง ๆ แค่ 11%
องค์กรบรรเทาทุกข์หลายแห่ง ยอมรับว่า การขอความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมให้แก่ชาวเกาหลีเหนือเป็นเรื่องยากขึ้นทุกวัน หลังจากรัฐบาลเปียงยางเดินหน้าทดสอบนิวเคลียร์อย่างต่อเนื่องจนถูกนานาชาติคว่ำบาตร
ผู้บริจาคบางรายตั้งคำถามว่า เกาหลีเหนือมีเงินทุนพัฒนาและทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ แต่เหตุใดจึงไม่มีปัญญาเจียดเงินช่วยเหลือพลเมืองที่กำลังเดือดร้อนจากน้ำท่วม
สมาพันธ์กาชาดสากลและสมาคมเสี้ยวเดือนแดง (IFRC) ชี้ว่า ผู้รอดชีวิตที่ไร้บ้านต้องนำเศษไม้มาจุดไฟเพื่อความอบอุ่น หลังจากถ่านไม้ซึ่งพวกเขาเก็บสะสมไว้ใช้สูญหายไปกับน้ำ
เกาหลีเหนือเผชิญความสูญเสียรุนแรงแทบทุกครั้งที่เกิดภัยธรรมชาติ โดยเฉพาะอุทกภัย เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาและเนิน ซึ่งถูกบุกรุกแผ้วถางเพื่อนำมาเป็นเชื้อเพลิง หรือแปลงเป็นพื้นที่เพาะปลูกข้าว เมื่อมีฝนตกหนักน้ำจึงไหลหลากลงมาโดยไม่มีต้นไม้คอยดูดซับ หรือยึดผิวหน้าดินเอาไว้
ปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งที่เกิดขึ้นซ้ำซาก ได้นำมาสู่วิกฤตความอดอยากครั้งใหญ่ในช่วงปี 1994 - 1998 และสถานการณ์ก็ยิ่งเลวร้ายลงไปอีก เมื่อรัฐบาลโสมแดงบริหารเศรษฐกิจที่ผิดพลาด บวกกับไม่มีพันธมิตรเก่าอย่างสหภาพโซเวียตคอยช่วยเหลือ
พายุฝนรุนแรงเมื่อฤดูร้อนปี 2012 ได้คร่าชีวิตชาวโสมแดงไปอย่างน้อย 169 คน