เอพี - แอช คาร์เตอร์ รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ระบุในวันพฤหัสบดี (29 ก.ย.) ให้สัญญาว่าอเมริกาจะขัดเกลาสมรรถภาพทางทหารในเอเชียแปซิฟิกให้แหลมคมยิ่งขึ้น เพื่อคงไว้ซึ่งอำนาจและอิทธิพลในภูมิภาคดังกล่าว ที่กำลังรู้สึกได้ถึงผลกระทบจากความเข้มแข็งทางทหารของจีนที่เพิ่มขึ้น
การรับปากต่อหน้าทหารของคาร์เตอร์ เกิดขึ้นเมื่อวันพฤหัสบดี บนเรือบรรทุกเครื่องบิน “ยูเอสเอส คาร์ล วินสัน” ในซานดิเอโก
นายใหญ่เพนตากอนได้ระบุถึงสิ่งที่เขาเรียกว่า “ขั้นตอนต่อไปของการปักหมุดเอเชีย” อันเป็นการปรับสมดุลพันธกิจด้านความมั่นคงของอเมริกา หลังจากที่ไปเน้นภูมิภาคตะวันออกกลางอยู่นานหลายปี
คำพูดของคาร์เตอร์นั้นมุ่งเป้าไปที่การสร้างความอุ่นใจให้กับบรรดาชาติพันธมิตรที่กำลังหวั่นวิตกเพราะพฤติกรรมของจีนในทะเลจีนใต้
เมื่อ 3 วันก่อนหน้านั้น คาร์เตอร์ก็เพิ่งจะพูดที่ฐานขีปนาวุธนิวเคลียร์ในนอร์ทดาโกตา เกี่ยวกับเรื่องสร้างกองกำลังนิวเคลียร์อีกครั้ง ทำให้เกิดการตอบสนองอย่างรุนแรงจากกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย โดยระบุว่า คำแถลงของคาร์เตอร์นั้นตีความได้ถึงการประกาศความตั้งใจที่จะลดข้อจำกัดของการใช้อาวุธนิวเคลียร์
คาร์เตอร์บอกว่า เพนตากอนจะสร้างเรือดำน้ำโจมตีให้มีความสามารถในการสู้รบมากขึ้น รวมถึงจะทุ่มเงินมากขึ้นเพื่อสร้างโดรนใต้ทะเล ที่สามารถปฏิบัติการได้ในบริเวณน้ำตื้นอันเป็นจุดที่เป็นข้อจำกัดของเรือดำน้ำ
“อเมริกาจะเดินหน้าขัดเกลาแสนยานุภาพทางทหารให้แหลมคมยิ่งขึ้น เพื่อที่เราจะได้คงไว้ซึ่งการมีอำนาจทางทหารมากที่สุดในภูมิภาค และเป็นตัวเลือกพันธมิตรด้านความมั่นคง” คาร์เตอร์กล่าว
คำปราศรัยของคาร์เตอร์ดูเหมือนจะปูทางไว้สำหรับการประชุมที่ฮาวายในวันศุกร์ ซึ่งจะมีผู้ดำรงตำแหน่งเดียวกันจาก 10 ชาติอาเซียนมาร่วมประชุม เดิมทีนั้นอาเซียนก่อตั้งขึ้นโดยมุ่งไปที่ประเด็นเรื่องการค้า แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ด้วยการส่งเสริมของสหรัฐฯ ทำให้มีการหาทางเพิ่มเรื่องกลาโหมและกองทัพเข้าไปด้วย แม้อเมริกาจะไม่ใช่สมาชิกอาเซียน แต่ก็หาทางจะใช้อาเซียนเป็นที่หารือพัฒนาการเป็นหุ้นส่วนด้านความมั่นคง ท่ามกลางความกังวลเรื่องการสร้างแสนยานุภาพทางทหารของจีนในภูมิภาคดังกล่าว
บนเที่ยวบินของคาร์เตอร์ ที่เดินทางจากซานดิเอโกไปฮาวายเมื่อวันพฤหัสบดี เจ้าหน้าที่กลาโหมระดับสูงรายหนึ่งบนเครื่องได้บอกกับนักข่าวว่า คาร์เตอร์นั้นคาดว่าจะได้ยินเรื่องความกังวลจากรัฐมนตรีชาติอาเซียนบางราย เช่น สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เกี่ยวกับเรื่องภัยคุกคามที่พวกเขาประสบมา จากพวกหัวรุนแรงที่คาดว่าจะเดินทางกลับประเทศหลังจากไปช่วยสู้รบให้กับกลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) ในอิรักและซีเรีย
เจ้าหน้าที่กลาโหมคนดังกล่าวซึ่งให้ข้อมูลโดยไม่เปิดเผยตัวตนตามกฏที่เพนตากอนกำหนดไว้ ได้บอกว่า สมาชิกไอเอสหลายร้อยคนได้เดินทางจากอิรักและซีเรีย กลับไปแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว และอาจจะมีอีกมากถึง 1,000 คนที่จะกลับไปอีก ตอนที่กลุ่มไอเอสเผชิญกับการกดดันทางทหารมากขึ้น
คาร์เตอร์ยังได้ระบุถึงความพยายามของเพนตากอนที่จะปักหมุดเอเชียด้วยการเปลี่ยนแปลงหรือปรับสมดุลกองกำลังสหรัฐฯ เพื่อหันเหความสนใจไปยังภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก หลังจากที่เน้นใช้ยุทธศาสตร์และปฏิบัติการในตะวันออกกลางอยู่หลายปี
เมื่อเดือนเมษายน คาร์เตอร์เคยบอกว่า กำลังเพิ่มจำนวนบุคลากรของกองทัพสหรัฐฯ ในภูมิภาคเอเชีย รวมถึงส่งอาวุธล้ำสมัยไปประจำการที่นั่น อาทิ เครื่องบินรบ F-22 และ F-35, เครื่องบินตรวจการณ์ทางทะเล P-8 Poseidon รวมถึงมีการจัดส่งเครื่องบินทิ้งระเบิดอย่าง B-2 และ B-52 เข้าไปอย่างต่อเนื่อง พร้อมด้วยบรรดาเรือรบบนพื้นผิวน้ำรุ่นใหม่ล่าสุด อย่างเช่น เรือจู่โจมยกพลขึ้นบก “ยูเอสเอส อเมริกา”
เพนตากอนเจอกับหลายปัญหาในเอเชีย หลังจากครั้งล่าสุดที่คาร์เตอร์ได้พบกับบรรดารัฐมนตรีกลาโหมในภูมิภาคดังกล่าว หนึ่งในนั้นคือความสัมพันธ์กับฟิลิปปินส์ที่เสื่อมถอยแบบกระทันหัน
ตอนคาร์เตอร์ไปเยือนฟิลิปปินส์เมื่อเดือนเมษายน เขาได้ยกย่องความเข้มแข็งของสัมพันธภาพที่มีต่อกัน โดยพูดถึงการเยือนของเขาว่าเปิดยุคใหม่ของการเป็นพันธมิตรที่ยาวนาน ซึ่งอ้างอิงถึงเรื่องข้อตกลงความร่วมมือเพื่อยกระดับด้านกลาโหมฟิลิปปินส์-สหรัฐฯ
แต่ดูเหมือนว่าความใกล้ชิดนั้นจะย่ำแย่ลงไปมาก เมื่อประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต ชนะการเลือกตั้งในเดือนมิถุนายน ซึ่งผู้นำฟิลิปปินส์คนใหม่แสดงออกให้เห็นหลายครั้งว่าไม่ชอบอเมริกา ทั้งการเรียกประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯ ว่าเป็น “ลูกกะหรี่” แถมยังไล่ทหารอเมริกันให้ออกจากภาคใต้ของประเทศตนเอง รวมถึงประกาศว่าการซ้อมรบร่วมฟิลิปปินส์-สหรัฐฯ ในสัปดาห์หน้าจะเป็นครั้งสุดท้ายที่ดำเนินการร่วมกัน