เอเจนซีส์ / MGR online - กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ออกคำสั่งด่วนในวันพฤหัสบดี (29 ก.ย.) ให้เจ้าหน้าที่รัฐบาลอเมริกันทุกหน่วยงานที่ประจำการอยู่ในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก พร้อมด้วยสมาชิกในครอบครัวเร่งเดินทางออกจากอดีตดินแดนอาณานิคมของเบลเยียมแห่งนี้ ท่ามกลางความหวั่นวิตกว่าสถานการณ์รุนแรงในประเทศนี้อาจลุกลามบานปลาย
เนื้อหาในคำแถลงล่าสุดของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ครอบคลุมพื้นที่กรุงคินชาซา เมืองหลวงของสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ตลอดจนเมืองใหญ่ทั่วประเทศ และระบุว่านอกเหนือจากการให้เจ้าหน้าที่รัฐบาลอเมริกันทุกหน่วยงานที่ประจำการอยู่ในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก พร้อมด้วยสมาชิกในครอบครัวเร่งเดินทางออกนอกประเทศแล้ว บรรดาแผนการจัดส่งเจ้าหน้าที่ชาวอมริกันเข้ามาปฏิบัติภารกิจเพิ่มเติมในประเทศนี้ก็ได้ถูกยุติลงแบบไม่มีกำหนดเช่นเดียวกัน
เหตุปะทะกันอย่างรุนแรงระหว่างกองกำลังความมั่นคงของฝ่ายรัฐบาล กับผู้ประท้วงฝ่ายต่อต้านที่ปะทุขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตหลายสิบราย
การประท้วงที่นำไปสู่เหตุนองเลือดดังกล่าวเป็นผลพวงต่อเนื่องมาจากการที่ประชาชนจำนวนเรือนหมื่นในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกรวมตัวเดินขบวนในกรุงคินชาซา เมืองหลวงของประเทศเมื่อ 31 ก.ค. เพื่อแสดงพลังต่อต้านรัฐบาลและกดดันให้ประธานาธิบดีโจเซฟ คาบิลา สละอำนาจและหันหลังให้กับการเมืองอย่างสิ้นเชิง หลังหมดวาระในเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้
การรวมตัวเดินขบวนของประชาชนเรือนหมื่นในกรุงคินชาซาหนดังกล่าว ถูกระบุว่าเป็นการแสดงออกถึงความไม่พอใจของประชาชนในอดีตดินแดนอาณานิคมของเบลเยียมแห่งนี้ ต่อการที่ประธานาธิบดีคาบิลา ผู้นำวัย 45 ปีที่ใกล้หมดวาระในเดือน พ.ย.นี้ยังคงดึงดันไม่จัดการเลือกตั้งครั้งใหม่ เพื่อให้ประชาชนได้เลือกผู้นำประเทศคนต่อไป ท่ามกลางกระแสข่าวที่ระบุว่าคาบิลาหวังว่าตนเองจะสามารถกลับมาครองอำนาจต่อได้อีก
รายงานข่าวระบุว่า โจเซฟ คาบิลา ซึ่งก้าวขึ้นครองอำนาจแทนบิดาของเขาที่ถูกลอบสังหารตั้งแต่เมื่อปี 2001 กำลังดำเนินความพยายามจัดการลงประชามติเพื่อหาทางยกเลิกบทบัญญัติทางกฎหมายในเรื่องวาระการครองอำนาจเพื่อให้ตัวเขาเองสามารถอยู่ในตำแหน่งได้แบบ “ไม่มีการหมดวาระ”
อย่างไรก็ดี แผนการของคาบิลาในการหาทางครองอำนาจต่อไป ถูกต่อต้านอย่างหนักจากบรรดานักการเมืองฝ่ายค้าน รวมถึงประชาชนจำนวนมากที่ระบุว่าผลงานในการบริหารประเทศของคาบิลาตั้งแต่ปี 2001 นั้น “ไม่คู่ควร” ต่อการที่เขาจะได้บริหารประเทศต่อไป และเรียกร้องให้คาบิลาจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ตามกำหนดเดิมในช่วงปลายปีนี้
สถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกเวลานี้กำลังสร้างความกังวลใจให้บรรดาประเทศผู้บริจาค ที่พากันหวั่นเกรงว่าความขัดแย้งทางการเมืองล่าสุดอาจผลักให้ประเทศนี้ถอยกลับเข้าสู่ภาวะสงครามกลางเมืองอีกครั้ง หลังจากสงครามภายในระลอกที่แล้วได้ปะทุขึ้นในประเทศนี้ในระหว่างปี 1996-2003 ในพื้นที่ภาคตะวันออกของประเทศ และคร่าชีวิตผู้คนไปนับล้าน
ด้านคณะกรรมการการเลือกตั้งอิสระแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (ซีอีเอ็นไอ) ประกาศเมื่อ 20 ส.ค. เลื่อนการจัดเลือกตั้งประธานาธิบดีของประเทศออกไปจนกว่าจะถึงเดือนกรกฎาคม ปี 2017 เป็นอย่างน้อย อ้างเหตุผล “ไม่มีงบ” สำหรับจัดการเลือกตั้ง รวมถึงความล่าช้าในการขึ้นทะเบียนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งที่มีจำนวนกว่า 30 ล้านคน
การประกาศเลื่อนจัดการเลือกตั้ง ที่เกิดขึ้นในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกหมายความว่า ประธานาธิบดีโจเซฟ คาบิลา ผู้นำคนปัจจุบันในวัย 45 ปี จะได้ครองอำนาจต่อไปจนถึงช่วงกลางปีหน้าเป็นอย่างน้อย และจะเป็นการดำรงตำแหน่งเกินกว่า 2 วาระตามบทบัญญัติทางรัฐธรรมนูญของประเทศ
ในความเป็นจริงแล้ว ประธานาธิบดีโจเซฟ คาบิลา ผู้นำคนปัจจุบันซึ่งชนะการเลือกตั้งมาแล้ว 2 สมัยในปี 2006 และปี 2011 มีกำหนดจะต้องพ้นจากวาระในเดือนธันวาคมปีนี้ ท่ามกลางข้อครหาของฝ่ายค้านที่ว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งอิสระแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (ซีอีเอ็นไอ) กำลังสมรู้ร่วมคิดกับคาบิลาในการเปิดช่องให้เขาได้อยู่ในอำนาจต่อไป
อย่างไรก็ดี คำแถลงของทางซีอีเอ็นไอที่มีการส่งถึงพรรคการเมืองทั่วประเทศระบุว่า การขึ้นทะเบียนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งที่มีจำนวนกว่า 30 ล้านคน ที่เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมานั้น จะไม่แล้วเสร็จทันการเลือกตั้งตามกำหนดเดิมในช่วงปลายปีนี้ และอาจต้องใช้เวลายาวนานถึง 16 เดือนเป็นอย่างน้อย พร้อมย้ำว่าปัญหาที่เกิดขึ้นถือเป็นอุปสรรคทางเทคนิค มิใช่เป็นการจงใจเอื้อประโยชน์ของทางคณะกรรมการฯ ให้แก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทางการเมือง
ด้านแหล่งข่าวทางการทูตในกรุงคินชาซาเปิดเผยว่า นอกเหนือจากความล่าช้าในการขึ้นทะเบียนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งดังกล่าวแล้ว ทางคณะกรรมการการเลือกตั้งอิสระแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (ซีอีเอ็นไอ) ยังต้องประสบปัญหาด้านงบประมาณในการจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดี และอาจต้องขอรับการสนับสนุนจากองค์กรระหว่างประเทศ
จนถึงขณะนี้กาบิลาซึ่งก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อปี 2001 และคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งในปี 2006 และปี 2011 ยังคงไม่ออกมาประกาศการตัดสินใจถึงอนาคตทางการเมืองของตัวเขา ขณะที่หลายฝ่ายคาดหวังว่าการจัดการเลือกตั้งทั่วไปและการเลือกตั้งประธานาธิบดีตามกำหนดเดิมที่จะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายนนี้น่าจะนำมาซึ่งการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองอย่างสันติเป็นครั้งแรกของดินแดนที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้ผลิตแร่ทองแดงรายใหญ่ของโลกแห่งนี้ นับตั้งแต่ได้รับเอกราชจากเบลเยียมเมื่อปี 1960 และต้องเผชิญสงครามกลางเมืองที่ยาวนานระหว่างปี 1998-2003