เอเจนซีส์ / MGR online – คณะกรรมการการเลือกตั้งอิสระแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (ซีอีเอ็นไอ) ประกาศในวันเสาร์ (20 ส.ค.) เลื่อนการจัดเลือกตั้งประธานาธิบดีของประเทศออกไปจนกว่าจะถึงเดือนกรกฎาคม ปี 2017 เป็นอย่างน้อย อ้างเหตุผล “ไม่มีงบ” สำหรับจัดการเลือกตั้ง รวมถึงความล่าช้าในการขึ้นทะเบียนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งที่มีจำนวนกว่า 30 ล้านคน
การประกาศเลื่อนจัดการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกหมายความว่า ประธานาธิบดี โจเซฟ คาบิลา ผู้นำคนปัจจุบันในวัย 45 ปี ซึ่งก้าวขึ้นครองอำนาจตั้งแต่เดือนมกราคม ปี 2001 ต่อจากโลร็องต์ คาบิลา บิดาของเขาที่ถูกลอบสังหาร จะได้ครองอำนาจต่อไปจนถึงช่วงกลางปีหน้าเป็นอย่างน้อย และจะเป็นการดำรงตำแหน่งเกินกว่า 2 วาระตามบทบัญญัติทางรัฐธรรมนูญของประเทศ
ในความเป็นจริงแล้วประธานาธิบดี โจเซฟ คาบิลา ผู้นำคนปัจจุบันของสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกซึ่งชนะการเลือกตั้งมาแล้ว 2 สมัยในปี 2006 และปี 2011 มีกำหนดจะต้องพ้นจากวาระในเดือนธันวาคมปีนี้ ท่ามกลางข้อครหาของฝ่ายค้านที่ว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งอิสระแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (ซีอีเอ็นไอ) กำลังสมรู้ร่วมคิดกับประธานาธิบดีคาบิลาในการเปิดช่องให้เขาได้อยู่ในอำนาจต่อไป
อย่างไรก็ดี คำแถลงของทางซีอีเอ็นไอ ที่มีการส่งถึงพรรคการเมืองทั่วประเทศระบุว่า การขึ้นทะเบียนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งที่มีจำนวนกว่า 30 ล้านคน ที่เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมานั้น จะไม่แล้วเสร็จทันการเลือกตั้งตามกำหนดเดิมในช่วงปลายปีนี้ และอาจต้องใช้เวลายาวนานถึง 16 เดือนเป็นอย่างน้อย พร้อมย้ำว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นถือเป็นอุปสรรคทางเทคนิค มิใช่เป็นการจงใจเอื้อประโยชน์ของทางคณะกรรมการฯ ให้แก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทางการเมือง
ด้านแหล่งข่าวทางการทูตในกรุงคินชาซาเปิดเผยว่า นอกเหนือจากความล่าช้าในการขึ้นทะเบียนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งดังกล่าวแล้ว ทางคณะกรรมการการเลือกตั้งอิสระแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (ซีอีเอ็นไอ) ยังต้องประสบปัญหาด้านงบประมาณในการจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดี และอาจต้องขอรับการสนับสนุนจากองค์กรระหว่างประเทศ
จนถึงขณะนี้กาบิลาซึ่งก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อปี 2001 และคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งในปี 2006 และปี 2011 ยังคงไม่ออกมาประกาศการตัดสินใจถึงอนาคตทางการเมืองของตัวเขา ขณะที่หลายฝ่ายคาดหวังว่า การจัดการเลือกตั้งทั่วไปและการเลือกตั้งประธานาธิบดีตามกำหนดเดิมที่จะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายนนี้น่าจะนำมาซึ่งการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองอย่างสันติเป็นครั้งแรกของดินแดนที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้ผลิตแร่ทองแดงรายใหญ่ของโลกแห่งนี้นับตั้งแต่ได้รับเอกราชจากเบลเยียมเมื่อปี 1960 และต้องเผชิญสงครามกลางเมืองที่ยาวนานระหว่างปี 1998-2003