เอเอฟพี - องค์การอนามัยโลก (WHO) แถลงเตือนวันนี้ (27 ก.ย.) ว่าประชากรโลก 9 ใน 10 คนกำลังหายใจเอาอากาศคุณภาพแย่เข้าไปในปอดทุกๆ วัน พร้อมเรียกร้องให้นานาชาติเร่งหามาตรการต่อสู้ปัญหามลพิษ ซึ่งเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 6 ล้านคนต่อปี
มาเรีย ไนรา หัวหน้าสำนักงานสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมของ WHO ชี้ว่า ข้อมูลในรายงานชิ้นนี้ “เพียงพอที่จะทำให้เราทุกคนต้องรู้สึกกังวลอย่างมาก”
ผู้เชี่ยวชาญของ WHO ระบุว่า ปัญหามลพิษค่อนข้างรุนแรงเป็นพิเศษในเมืองใหญ่ๆ ทว่า ในเขตชนบทเองก็ใช่จะมีอากาศบริสุทธิ์อย่างที่หลายคนคิด
รายงานชี้ว่า กลุ่มประเทศยากจนมีคุณภาพอากาศต่ำกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว “แต่ในทางปฏิบัติ มลพิษส่งผลกระทบต่อทุกๆ ประเทศในโลก และทุกช่วงชั้นของสังคม”
“นี่คือภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข... ทั่วโลกยังไม่สามารถแก้ไขปัญหามลพิษได้อย่างรวดเร็วพอ” ไนรา กล่าว พร้อมเตือนให้รัฐบาลทั่วโลกเร่งออกมาตรการลดปริมาณยานพาหนะบนท้องถนน ปรับปรุงวิธีจัดการขยะ และส่งเสริมการใช้เชื้อเพลิงหุงต้มที่สะอาด
ผลวิจัยซึ่งสรุปจากการรวบรวมข้อมูลจากสถานที่กว่า 3,000 แห่งทั่วโลก พบว่า “ประชากรโลกร้อยละ 92 อาศัยอยู่ในสถานที่ซึ่งมีมลพิษในอากาศสูงกว่ามาตรฐานของ WHO”
ข้อมูลชุดนี้เน้นไปที่ค่า PM2.5 ซึ่งหมายถึงฝุ่นละเอียดที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมโครมิเตอร์
PM2.5 ประกอบไปด้วยสสารที่เป็นพิษ เช่น ซัลเฟต และคาร์บอนสีดำ ซึ่งสามารถเข้าไปสะสมในปอดและระบบการทำงานของหัวใจได้
อากาศที่มีปริมาณ PM2.5 เกินกว่า 10 ไมโครกรัมต่อ 1 ลูกบาศก์เมตรโดยเฉลี่ยต่อปี ถือว่าไม่ได้มาตรฐานความปลอดภัย
ในบางภูมิภาค ผู้เชี่ยวชาญมีทั้งข้อมูลดาวเทียมประกอบกับการวัดค่า PM2.5 บริเวณพื้นดิน ทว่าในประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ยังไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลภาคพื้นดินได้ WHO จึงต้องใช้วิธีคาดการณ์อย่างหยาบๆ
WHO ประเมินว่า แต่ละปีจะมีประชากรโลกกว่า 6 ล้านคนที่เสียชีวิตจากการสัมผัสมลภาวะ ทั้งในและนอกอาคาร โดยข้อมูลเกี่ยวกับมลพิษนอกอาคารนั้นค่อนข้างชัดเจนว่าเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตปีละกว่า 3 ล้านคน
อย่างไรก็ตาม มลพิษในอาคารก็มีอันตรายไม่แพ้กัน โดยเฉพาะตามบ้านเรือนที่ฐานะยากจนซึ่งมักใช้ถ่านไม้เป็นเชื้อเพลิงประกอบอาหาร
WHO พบว่า การเสียชีวิตจากมลพิษในอากาศเกือบร้อยละ 90 เกิดขึ้นในประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่มีรายได้น้อย-ปานกลาง
ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิกตะวันตก ประเทศที่เผชิญปัญหามลพิษทางอากาศรุนแรงที่สุด ได้แก่ จีน มาเลเซีย และเวียดนาม
การ์โลส โดรา ผู้ประสานงานจากสำนักงานสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมของ WHO ชี้ว่า ยุทธศาสตร์ที่บางประเทศใช้รับมือปัญหามลพิษนั้นไม่ได้ผลเท่าที่ควร ตัวอย่างเช่น การแจ้งเตือนคุณภาพอากาศรายวันในกรุงปักกิ่งก็แทบจะไม่มีผลในการปกป้องสุขภาพประชากรส่วนใหญ่ เนื่องจากอันตรายที่แท้จริงนั้นเกิดจากการสูดอากาศที่มีมลพิษเกินมาตรฐานต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ
โดรา ระบุด้วยว่า การเก็บตัวอยู่ในอาคารในวันที่อากาศเป็นพิษไม่ช่วยอะไรได้มากนัก นอกจากนี้ WHO ยังไม่พบหลักฐานยืนยันว่า การสวมหน้ากากอนามัยสามารถกรองมลพิษในอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพจริง