เอเจนซีส์ - ผู้นำจาก 193 ประเทศทั่วโลก เตรียมลงนามปฏิญญาสหประชาชาติครั้งประวัติศาสตร์ในการกำจัด “ซูเปอร์บั๊ก” หรือแบคทีเรียดื้อยาที่ทำให้โรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ รักษายากขึ้น ผู้เชี่ยวชาญเชื่อหากสำเร็จ จะช่วยรักษาชีวิตผู้คนได้ปีละ 700,000 คน
นับเป็นครั้งที่ 4 ที่สหประชาชาติ บรรลุปฏิญญาว่าด้วยปัญหาสุขภาพ หลังจากออกปฏิญญาฉบับแรกว่าด้วยโรคเอดส์ในปี 2001, โรคไม่ติดต่อในปี 2011 และ อีโบลา ปี 2013
การประชุมนี้ที่กำหนดจัดขึ้นในวันพุธ (21 ก.ย.) จะนำหัวหน้ารัฐบาลและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอาวุโสมาหารือกันข้างเคียงการประชุมสมัชชาใหญ่ยูเอ็นที่ดำเนินอยู่ในขณะนี้ที่นิวยอร์ก
ภายใต้ร่างปฏิญญา ประเทศต่าง ๆ จะมุ่งมั่นควบคุมการใช้ยาปฏิชีวนะ ส่งเสริมให้ประชาชนตื่นตัวกับปัญหานี้ และสนับสนุนการวิจัยการรักษาทางเลือก โดยประเทศที่ลงนามทั้งหมดมีเวลา 2 ปีในการเสนอแผนปฏิบัติการ
องค์การอนามัยโลก (ฮู) หวังว่า การประชุมนี้จะดึงดูดความสนใจและเงินสนับสนุนจากภาครัฐสำหรับการจัดการกับซูเปอร์บั๊กที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ
เคจิ ฟูกูดะ เจ้าหน้าที่อาวุโสของฮูที่รับผิดชอบปัญหาเชื้อโรคดื้อยาต้านจุลชีพ ระบุว่า ซูเปอร์บั๊กทำให้โลกสูญเสียความสามารถในการรักษาการติดเชื้อ เพิ่มความเสี่ยงในการมีผู้เสียชีวิตมากขึ้น คุกคามความสามารถในการดูแลรักษาผู้ป่วย รวมถึงความสามารถในการผลิตอาหารให้เพียงพอต่อความต้องการ
รายงานการศึกษาฉบับหนึ่งของอังกฤษเมื่อไม่นานมานี้พบว่า ภายในปี 2050 พัฒนาการของซูเปอร์บั๊กอาจทำให้มีผู้เสียชีวิตถึงปีละ 10 ล้านคนทั่วโลก พอ ๆ กับจำนวนผู้เสียชีวิตจากมะเร็งชนิดต่าง ๆ
ปัจจุบัน มีผู้เสียชีวิตจากซูเปอร์บั๊กปีละ 700,000 คน โดย 23,000 คนในจำนวนนี้อยู่ในอเมริกา
ต้นเหตุสำคัญของซูเปอร์บั๊ก คือ การใช้ยาต้านจุลชีพพร่ำเพรื่อหรือใช้ผิดวัตถุประสงค์ทั่วโลก
ความเสี่ยงนี้ไม่ได้มาจากยาใช้รักษามนุษย์และรักษาสัตว์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงอุตสาหกรรมปศุสัตว์ที่มีการให้ยาปฏิชีวนะอย่างกว้างขวางเพื่อเพิ่มขนาด และเชื้อโรคดื้อยาสามารถเข้าสู่ร่างกายมนุษย์จากการปนเปื้อนในน้ำ หรือของเสียจากสัตว์ หรือเนื้อสัตว์
เชื้อโรคดื้อยาถูกค้นพบครั้งแรกเมื่อต้นทศวรรษ 1950 โดย อเล็กซานเดอร์ เฟลมมิง ผู้ค้นพบยาเพนนิซิลิน ทว่า ช่วงไม่กี่ปีหลังมานี้ปัญหานี้ลุกลามจนน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากข้อเท็จจริงที่ว่า ไม่มีการคิดค้นยาปฏิชีวนะใหม่ ๆ ขึ้นมาเลย
ปัจจุบัน คนจำนวนมากพบว่า ร่างกายต้านทานต่อยารักษา ทั้งโรคที่ซ่อนเร้น หรือแม้แต่โรคทั่วไป เช่น โรคผิวหนัง โรคเลือด หรือการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ
โรคติดเชื้อที่รักษายากที่สุด คือ วัณโรค ซึ่งยูเอ็นระบุว่า แต่ละปีมีคน 480,000 คน มีอาการดื้อยาปฏิชีวนะ นอกจากนั้นการติดเชื้อที่รักษายากยังมีที่มาจากการติดเชื้อขณะนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล และโรคที่ถ่ายทอดทางเพศสัมพันธ์ เช่น โรคหนองใน
ฟูกูดะ เตือนว่า จะไม่มียาปฏิชีวนะใหม่ๆ ออกสู่ตลาดอย่างน้อยอีก 2 ทศวรรษ เนื่องจากบริษัทยามองว่า ไม่คุ้มค่าสำหรับการวิจัย
อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่อาวุโสจากฮู ระบุว่า มีความตื่นตัวกับปัญหานี้มากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งรวมถึงในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่อย่างเช่นไทย
ขณะเดียวกัน หลายประเทศ ส่วนใหญ่ในแถบสแกนดิเนเวีย พยายามจำกัดการใช้ยาปฏิชีวนะ เช่น นอร์เวย์ที่ห้ามการใช้ยาชนิดนี้ในฟาร์มปลาระบบปิดโดยเด็ดขาด
ฟูกูดะ ทิ้งท้ายว่า เชื้อโรคดื้อยากลายเป็น “ภัยร้ายของสังคม” เช่นเดียวกับปัญหาโลกร้อนและเอชไอวี
นอกจากแวดวงสาธารณสุขแล้ว เมื่อไม่นานมานี้ ผู้นำของธนาคารโลกและกลุ่มจี 20 ก็ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากซูเปอร์บั๊กที่มีต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกและการแก้ปัญหาความยากจน
วันจันทร์ที่ผ่านมา (19) ธนาคารโลก เตือนว่า หากไม่สามารถควบคุมซูเปอร์บั๊กได้ โลกอาจมีประชากรยากจน 28 ล้านคน ในปี 2050 ขณะที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ทั่วโลกลดลงอย่างน้อย 1.1% หรือมากสุดถึง 3.8% เท่ากับในช่วงวิกฤตการเงินปี 2008 และผลผลิตปศุสัตว์โลกลดลง 2.6 - 7.5% ต่อปี
ธนาคารโลกยังประเมินว่า จำเป็นต้องลงทุนปีละ 9,000 ล้านดอลลาร์ ในด้านสุขภาพคนและสัตว์ เพื่อร่วมจัดการกับปัญหาเชื้อโรคดื้อยา