xs
xsm
sm
md
lg

ภาคใต้อินเดียร้าวฉาน ชาวบ้านในสองรัฐเปิดศึกชิงน้ำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอเจนซีส์ - ฝูงชนชาวอินเดียในรัฐกรณาฏกะ ที่กำลังโกรธแค้นพากันบอกว่ายอมตายแต่ไม่ยอมให้คนจากรัฐข้างเคียงมาแบ่งใช้แม่น้ำคาเวรี ทั้งยังมีการจุดไฟเผายางรถยนต์วางระเกะระกะ ทำให้ถนนเส้นที่มุ่งไปสู่เมืองเบงกาลูรู (บังกาลอร์) ถูกปิดกั้น

เมื่อวันอังคารมีการประกาศเคอร์ฟิวที่เบงกาลูรู เมืองใหญ่ทางตอนใต้ของอินเดีย เพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อย เพราะมีอาคารหลายแห่ง กับรถบัสที่ใช้เดินทางข้ามไปยังเบงกาลูรู ล้วนถูกจุดไฟเผาและปล้นสะดม

ไม่กี่วันก่อนหน้านั้น มีการประท้วงไปทั่วรัฐกรณาฏกะ สืบเนื่องจากการที่ศาลสูงตัดสินให้รัฐดังกล่าวต้องแบ่งแม่น้ำคาเวรี ให้คนในรัฐทมิฬนาฑูมาร่วมใช้ประโยชน์ด้วย

การจลาจลในเบงกาลูรูเกิดขึ้นเมื่อวันจันทร์ โดยมีเป้าหมายสำคัญเป็นธุรกิจของคนจากรัฐทมิฬนาฑู รวมถึงรถยนต์ที่มีป้ายทะเบียนจากรัฐดังกล่าว

“ฝูงชนจำนวนมากเคลื่อนไหวกันอยู่ทั่วเมือง พวกเขาชูธงของรัฐกรณาฏกะแล้วพากันปิดการจราจร ผมเห็นรถบรรทุกจากทมิฬนาฑูถูกจุดไฟเผาอย่างน้อย 2 - 3 คัน” นักข่าวท้องถิ่นระบุ

“เคพีเอ็น ทราเวล” หนึ่งในบริษัทให้บริการรถบัสที่ใหญ่สุดในภาคใต้ของอินเดีย และเป็นธุรกิจของรัฐทมิฬนาฑู ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์นี้ ผู้จัดการทั่วไปของบริษัท ระบุว่า มีรถประมาณ 40 คันที่ถูกทุบทำลายและถูกจุดไฟเผา ผู้คนพากันขว้างปาสิ่งของใส่รถ ทุบกระจกรถ

“ลูกจ้าง 8 รายได้รับบาดเจ็บ มูลค่าความเสียหายสูงมาก ประมาณ 4 ล้านรูปีต่อรถหนึ่งคัน แล้วนี่มันเสียหายไปตั้ง 40 คัน คุณคำนวณดูสิ ทั้งรถบัส รถบรรทุก รวมถึงข้าวของอื่น ๆ ที่เจ้าของมาจากรัฐทมิฬนาฑูล้วนถูกโจมตี แม้กระทั่งรถบางคันที่จดทะเบียนในรัฐกรณาฏกะ แถมเรายังจ่ายภาษีให้ที่นั่นยังโดนเลย มันน่าตกใจมากสำหรับเรา” ผู้จัดการที่ไม่ขอเผยนาม ระบุ

วิทยาลัยและธุรกิจที่อยู่ในเมืองศูนย์กลางเทคโนโลยีแห่งนี้ อาทิ Amazon กับคู่แข่งในท้องถิ่นอย่าง Flipkart ล้วนได้รับความปั่นป่วนจากเหตุความรุนแรงที่ยาวนานตลอดวัน จนมีการจับกุมผู้คนมากถึง 350 ราย

รัฐกรณาฏกะกำลังทุกข์ทนจากภัยแล้งที่หนักสุดในรอบ 42 ปี ฝนที่ตกลงมาน้อยในช่วงฤดูมรสุม 3 ครั้งที่ผ่านมา ทำให้มีเกษตรกรฆ่าตัวตายในรัฐนี้สูงกว่า 1,300 รายในปีที่แล้ว เพิ่มขึ้นมากเมื่อเทียบกับ 321 รายในปีก่อนหน้านั้น

สถานการณ์ที่รัฐทมิฬนาฑูดีกว่าเพียงเล็กน้อย เกษตรกรของที่นั่นได้ขอให้รัฐบาลประกาศเป็นภาวะภัยแล้ง และเริ่มมีการให้ความช่วยเหลือบรรเทาทุกข์

ศาลสูงที่ดูแลเรื่องการใช้ประโยชน์จากน้ำในแม่น้ำคาเวรี ซึ่งไหลผ่านทั้งสองรัฐ ได้ตัดสินในเดือนนี้ กรณีที่รัฐกรณาฏกะกักเก็บน้ำของแม่น้ำดังกล่าวไว้ โดยสั่งว่าในแต่ละวันจะต้องปล่อยน้ำ 15,000 ลูกบาศก์ฟุตต่อวินาที ไปสู่รัฐทมิฬนาฑู จนนำไปสู่เหตุจลาจล

จากข้อมูลของทางการ ทั้งสองรัฐนี้ กระทบกระทั่งกันมานานกว่าศตวรรษ เกี่ยวกับเรื่องการแบ่งใช้แม่น้ำคาเวรี ทำให้ศาลสูงและรัฐบาลกลางต้องยื่นมือเข้ามาดูแล ซึ่งที่ผ่านมาเคยมีผู้เสียชีวิตถึง 18 ราย ในเหตุจลาจลต่อต้านรัฐทมิฬนาฑู จากคำตัดสินของศาลสูงแบบเดียวกันนี้เมื่อปี 1991


กำลังโหลดความคิดเห็น