เอเอฟพี - กาชาดเตือนเกาหลีเหนือกำลังเผชิญภัยพิบัติที่ “รุนแรงและซับซ้อน” หลังเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ที่คร่าชีวิตคนจำนวนมาก ขณะที่ชาวโสมแดงอีกนับแสนคนต้องไร้ที่อยู่อาศัย และกำลังต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างเร่งด่วน
เจ้าหน้าที่กู้ภัยเดินทางอย่างยากลำบากเพื่อเข้าไปให้ถึงเขตชนบททางตอนเหนือสุดของรัฐโสมแดง ซึ่งพลเรือนหลายพันชีวิตต้องกลายเป็นคนไร้บ้าน และเสี่ยงเผชิญกับโรคระบาดหลังน้ำท่วม
“เท่าที่พวกเราได้เห็น มันเป็นภัยพิบัติที่ค่อนข้างร้ายแรงและมีความซับซ้อน” คริส สไตเนส หัวหน้าคณะผู้แทนกาชาดประจำเกาหลีเหนือซึ่งเดินทางไปยังพื้นที่ประสบภัย ระบุ
ล่าสุด มีรายงานผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 133 คนจากฝนที่ตกหนักต่อเนื่อง ซึ่งก่อให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันไหลบ่าเข้าท่วมหมู่บ้าน ทำลายชุมชน และพัดพาอาคารบ้านเรือนไปกับกระแสน้ำ
นอกจากนี้ยังมีผู้สูญหายอีกหลายร้อยคน ขณะที่ชาวบ้านราว 140,000 คนกำลังต้องการที่อยู่อาศัยและอาหารประทังชีวิตโดยด่วน
“น้ำซึ่งไหลมาเร็วและแรงได้ทำลายทุกอย่างที่อยู่ในเส้นทางของมัน... ประชาชนต่างพากันค้นหาทรัพย์สินที่พอจะกู้คืนได้จากซากปรักหักพังที่เคยเป็นบ้านของพวกเขา” สไตเนส ระบุ
กาชาดเกาหลีเหนือระบุว่า มีบ้านเรือน 24,000 หลังถูกทำลายย่อยยับ และอีกหลายพันหลังเสียหายบางส่วน ซึ่งขณะนี้ข้อมูลด้านความเสียหายยังมีเพิ่มเติมเข้ามาเรื่อยๆ เนื่องจากเจ้าหน้าที่กำลังเดินทางเข้าไปยังชุมชนที่ถูกตัดขาดจากโลกภายนอก
สไตเนสเล่าว่า “แทบไม่มีสิ่งปลูกสร้างใดเลยที่ยังคงสภาพสมบูรณ์” ในบางหมู่บ้านของเมืองโฮรยอง (Hoeryong) ที่พวกเขาได้เดินทางไป
“ชาวบ้านที่สูญเสียบ้านเรือนต้องอยู่กันอย่างยากลำบาก และมีความเสี่ยงขั้นทุติยภูมิที่อาจเกิดขึ้นตามมา โดยเฉพาะในด้านสุขภาพของประชาชน”
ชาวโสมแดงอย่างน้อย 100,000 คนในเมืองโฮรยองไม่มีน้ำดื่มสะอาด และอีกราว 600,000 คนในพื้นที่ประสบภัยกำลังขาดแคลนน้ำใช้
ภัยพิบัติคราวนี้คาดว่าจะทำให้ภาวะขาดแคลนอาหารในเกาหลีเหนือยิ่งรุนแรงเป็นทวีคูณ เนื่องจากพื้นที่เกษตรกรรมราว 16,000 เฮกตาร์ (100,000 ไร่) ต้องจมอยู่ใต้บาดาล เพียงแค่ไม่กี่สัปดาห์ก่อนเข้าสู่ฤดูเก็บเกี่ยวข้าวโพดและธัญพืช
เกาหลีเหนือเผชิญความสูญเสียรุนแรงแทบทุกครั้งที่เกิดภัยธรรมชาติ โดยเฉพาะอุทกภัย เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาและเนินซึ่งถูกบุกรุกแผ้วถางเพื่อนำมาเป็นเชื้อเพลิง หรือแปลงเป็นพื้นที่เพาะปลูกข้าว เมื่อมีฝนตกหนักน้ำจึงไหลหลากลงมาโดยไม่มีต้นไม้คอยดูดซับหรือยึดผิวหน้าดินเอาไว้
ปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งที่เกิดขึ้นซ้ำซากได้นำมาสู่วิกฤตความอดอยากครั้งใหญ่ในช่วงปี 1994-1998 และสถานการณ์ก็ยิ่งเลวร้ายลงไปอีก เมื่อรัฐบาลโสมแดงบริหารเศรษฐกิจผิดพลาด บวกกับไม่มีพันธมิตรเก่าอย่างสหภาพโซเวียตคอยช่วยเหลือ