(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)
G-20 Summit in Hangzhou: A personal perspective
By Richard L. King
03/09/2016
จีนกำลังเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมซัมมิตเหล่าประมุขแห่งรัฐของกลุ่ม จี-20 ขึ้นที่หางโจว นครริมทะเลสาบที่มีชื่อเสียงถูกกล่าวขวัญกันมานมนาน ซึ่งตั้งอยู่ใต้ลงมาจากมหานครเซี่ยงไฮ้ สำหรับโลกตะวันตก ตั้งแต่เมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 13 มาร์โค โปโล ก็ได้พร่ำพรรณนาอย่างซาบซึ้งถึงความงดงามตามธรรมชาติของหางโจว ที่บังเอิญเป็นภูมิลำเนาถิ่นกำเนิดของบรรพบุรุษของผม
ครั้งสุดท้ายก่อนหน้านี้ที่หางโจวปรากฎโฉมบนเวทีโลก คงต้องย้อนหลังไปจนถึงปี 1929 เมื่อมีการจัดงานนิทรรศการนานาชาติที่ใช้ชื่อว่า “งานนิทรรศการนานาชาติซีหู” (West Lake International Expo) ขึ้นที่นั่น งานดังกล่าวจัดขึ้นโดยคุณปู่ของผม ซึ่งเป็นนายแบงก์และผู้นำของภาคประชาสังคมคนสำคัญ
โลกของประเทศจีนและของเมืองหางโจวในยุคปลายทศวรรษ 1920 ครั้งนั้น ช่างแตกต่างผิดแผกอย่างมากมายเหลือเกินกับประเทศจีนในทุกวันนี้ ในตอนนั้นประเทศนี้เพิ่งปรากฏตัวขึ้นมาจากการโค่นล้มราชวงศ์ผู้ปกครองแผ่นดินมังกรราชวงศ์สุดท้าย ถึงแม้ได้มีการสถาปนาสาธารณรัฐตั้งแต่ปี 1912 แล้ว ทว่าการเริ่มต้นของระบอบปกครองใหม่นี้ก็เต็มไปด้วยความอ่อนแอโยกคลอน ไม่นานเท่าใดเลยหลังได้รับการประกาศจัดตั้งขึ้นโดย ซุน ยัตเซ็น (Sun Yat-sen) สาธารณรัฐแห่งนี้ก็ถูกจี้จับลักพาไปเป็นตัวประกันโดย หยวน ซื่อไข่ (Yuan Shi-kai) ผู้ประกาศแต่งตั้งตนเองเป็นจักรพรรดิองค์ใหม่ทว่าอยู่ได้ไม่นานก็สิ้นอายุขัยไป จากนั้นประเทศนี้ก็จมถลำลงสู่ความปั่นป่วนยุ่งเหยิงโดยที่ไม่ได้มีรัฐบาลกลางซึ่งทรงประสิทธิภาพใดๆ พวกขุนศึกพากันแย่งกันตัดเฉือนเข้าครอบครองตั้งตนเป็นใหญ่ตามพื้นที่ส่วนต่างๆ ของประเทศ
ในปี 1926 เจียง ไคเชค ซึ่งได้ยกกองทัพดำเนินการปราบขุนศึกภาคเหนือ (Northern Expedition) จนสามารถปราบปรามยังความปราชัยให้แก่ขุนศึกจำนวนมาก กระทั่งอย่างไรเสียก็คงต้องยอมรับว่าได้เป็นผู้รวบรวมประเทศจีนให้เป็นเอกภาพ เมื่อพิจารณาถึงข้อเท็จจริงที่ว่าเวลานั้นประเทศนี้อยู่ในสภาพอ่อนแอเปราะบางขนาดไหนแล้ว ทำให้ผมรู้สึกประหลาดใจมากที่คุณปู่และเหล่าเพื่อนร่วมงานของทานยังคงสามารถดำเนินการจนกระทั่งจัดงานเอ็กซ์โปปี 1929 ขึ้นมาได้
แน่นอนทีเดียวว่าประเทศจีนในทุกวันนี้มีความแตกต่างผิดแผกออกไปมากมาย เวลานี้จีนมีเสถียรภาพและเป็นเอกภาพ นับตั้งแต่การสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนขึ้นในปี 1949 ประเทศนี้ก็ได้ดำเนินการสร้างตนเองขึ้นมาใหม่อย่างสม่ำเสมอ ยุคเรอนาซองส์ของจีนกำลังอยู่ในสภาพเติบใหญ่สยายปีกอย่างเต็มที่แล้วในเวลานี้ ประธานาธิบดีสี จะให้การต้อนรับเหล่าผู้นำโลกคนอื่นๆ ซึ่งเดินทางมาหางโจว ในฐานะที่เขาเป็นประมุของชาติเจ้าของระบบเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก
รายการความสำเร็จของจีนในตลอดระยะเวลา 30 กว่าปีที่ผ่านมา ช่างน่าตื่นใจชวนให้ตื่นตะลึงเสียจริงๆ ประเทศจีนเวลานี้มีเครือข่ายรางรถไฟความเร็วสูงที่ยาวที่สุดในโลกนั่นคือกว่า 12,000 ไมล์ มากกว่าเครือข่ายรางไฮสปีดของประเทศอื่นๆ ทั้งหมดรวมกันเสียอีก ตอนที่ผมยังเป็นเด็กนั้น การเดินทางระหว่างหางโจวกับเซี่ยงไฮ้ ซึ่งห่างกันเพียงแค่ 100 ไมล์เศษๆ ต้องใช้เวลา 4 ชั่วโมง ทุกวันนี้เส้นทางเดียวกันนั้นใช้เวลาเพียง 40 นาทีเมื่อโดยสารขบวนรถไฟความเร็วสูงที่ทั้งรวดเร็ว, มีประสิทธิภาพ, ในราคาที่สามารถจับจ่ายไหว
จีนยังได้สร้างสะพานหลายแห่งซึ่งติดอยู่ในรายชื่อของพวกสะพานยาวที่สุดของโลก หนึ่งในนี้ได้แก่ สะพานอ่าวหางโจว (Hangzhou Bay Bridge) ซึ่งอยู่ใกล้ๆ กับสถานที่ใช้จัดการประชุมซัมมิต จี20 คราวนี้ นอกจากนั้นจีนยังมีเครื่องคอมพิวเตอร์ซึ่งเร็วที่สุดในโลก และกล้องโทรทรรศน์วิทยุซึ่งใหญ่ที่สุดในโลก
ความสำเร็จอันน่าตื่นตะลึงเหล่านี้และอย่างอื่นๆ อีก เป็นโครงการภายในประเทศ ทว่าจีนก็ได้เริ่มต้นแลกเปลี่ยนแบ่งปันความรู้และเงินทุนกับส่วนอื่นๆ ของโลกแล้ว เวลานี้จีนกำลังดำเนินแผนการริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (One Belt, One Road) ซึ่งจะทำให้แดนมังกรกลับมาติดต่อเชื่อมโยงกับโลกตะวันตกอีกครั้งหนึ่ง โดยอาศัยทั้งเส้นทางบกและเส้นทางทะเล ผ่านไปตามแนวเส้นทางสายไหมครั้งโบราณ ทั้งนี้หางโจวคือศูนย์กลางชั้นนำแห่งหนึ่งของการผลิตแพรไหมในจีนตั้งแต่ครั้งอดีตมาจนถึงในปัจจุบัน
ธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย (Asian Infrastructure Investment Bank ใช้อักษรย่อว่า AIIB) ซึ่งมีจีนเป็นผู้นำ ให้สัญญาที่จะเปลี่ยนแปลงรูปโฉมของภูมิภาคยูเรเชีย (Eurasia) เรื่องนี้สอดคล้องกับธีมหลักของการประชุมซัมมิตกลุ่ม จี20 ปีนี้ ซึ่งมุ่งเน้น “ความริเริ่ม(Innovative), การบูรณาการ(Integrated), การติดต่อเชื่อมโยงกัน(Interconnected), และการให้ทุกฝ่ายเข้ามีส่วนร่วม(Inclusive)”
การเลือกหางโจวเป็นสถานที่ประชุมซัมมิตคราวนี้ ถือว่ามีความเหมาะสมสอดคล้องกับธีมดังกล่าวนี้อย่างสมบูรณ์ ความงดงามที่สืบทอดมาตั้งแต่โบราณของนครแห่งนี้ ได้กลายเป็นท้องเรื่องของงานศิลปะและงานวรรณศิลป์อย่างต่อเนื่องกันมาหลายร้อยปีแล้ว ทุกวันนี้ เมืองนี้ยังเป็นนครแห่งอุตสาหกรรมสมัยใหม่จำนวนมาก รวมทั้งเป็นที่ตั้งของอาลีบาบา (Alibaba) บริษัทอีคอมเมิร์ชรายใหญ่ที่สุดของโลก และ จีลี่ (Geely) บริษัทเจ้าของกิจการรถยนต์วอลโว
ตอนที่ อาลีบาบา จดทะเบียนเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เมื่อปี 2014 ก็ได้กลายเป็นบริษัทที่มูลค่าการเสนอขายหุ้นใหม่ต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (initial public offering หรือ IPO) สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ เหล่าผู้ก่อตั้งต่างกลายเป็นอภิมหาเศรษฐีร่ำรวยเกินระดับพันล้านดอลลาร์ไปในทันที แต่ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นเสียอีกก็คือ ลูกจ้างพนักงานจำนวนมากของบริษัทก็กลายเป็นเศรษฐีเงินล้าน เนื่องจากบริษัทได้ดำเนินมาตรการที่ไม่ค่อยมีใครทำกันตั้งแต่ก่อนหน้านั้น ด้วยการมอบหุ้นในบริษัทให้แก่พวกเขา จากความมั่งคั่งร่ำรวยใหม่ๆ ที่เพิ่งประสบพบเจอ พวกเขาจำนวนมากเลือกที่จะเริ่มต้นจัดตั้งกิจการลงทุนของพวกเขาเอง อันเป็นปรากฏการณ์ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีอยู่แล้วในสหรัฐอเมริกา
ไม่น่าประหลาดใจอะไรเลยที่มีบางคนเรียกหางโจวว่าเป็น “ซิลิคอนแวลลีย์ของประเทศจีน” เหมือนๆ กับ ซีลิคอนแวลลีย์ดั้งเดิมในสหรัฐฯ หางโจวก็ได้รับพรจากการที่มีซัปพลายทางด้านนักวิทยาศาสตร์, วิศวกร, และผู้บริหารจัดการทางธุรกิจ ซึ่งผ่านการศึกษาอบรมสูงๆ มาแล้ว อยู่จำนวนมากมายมหาศาล โดยที่มหาวิทยาลัยเจ้อเจียง (Zhejiang University) ของหางโจว คือหนึ่งในมหาวิทยาลัยชั้นเยี่ยมที่สุดในประเทศจีน --เราอาจจะเรียกว่าเป็นมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดของโลกตะวันออก ได้กระมัง
เจ้อเจียง มณฑลของจีนซึ่งมีหางโจวเป็นเมืองเอก เป็นที่รู้จักเลื่องลือกันมานานช้าในเรื่องที่พลเมืองให้ความสำคัญกับเรื่องการศึกษาและการเป็นผู้ประกอบการ มณฑลนี้ผลิตนายแบงก์ออกมาจำนวนมาก รวมทั้งคุณปู่และคุณตาของผม ซึ่งทั้งคู่ต่างก็อยู่ในคณะผู้ก่อตั้งธนาคาร “แบงก์ออฟไชน่า” (Bank of China)
พวกบริษัทสายการเดินเรือทะเลรายใหญ่ที่สุดของโลกบางแห่งก็ก่อตั้งขึ้นโดยชาวพื้นเมืองของมณฑลเจ้อเจียง เป็นต้นว่า สายการเดินเรือ โอเรียนต์ โอเวอร์ซีส์ คอนเทนเนอร์ ไลน์ (Orient Overseas Container Line หรือ OOCL) ที่ก่อตั้งโดย ซี.วาย. ต่ง (C.Y. Tung) บิดาของ ซี.เอช. ต่ง (C.H. Tung) ผู้บริหารสูงสุดคนแรกของเขตบริหารพิเศษฮ่องกง และกลุ่มเวิลด์-ไวด์ ชิปปิ้ง กรุ๊ป (World-Wide Shipping Group) ที่ก่อตั้งโดย วาย.เค. เป่า (Y.K. Pao)
ถ้าเรายืนอยู่ตรงชายฝั่งของทะเลสาบซีหู (West Lake) แล้วมองไปทางตะวันตก ทิวทัศน์ซึ่งพบประจักษ์แก่สายตาสามารถที่จะเป็นภาพจากงานภาพวาดคลาสสิกของจีนได้ทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นสะพานโค้ง หรือเขื่อนดินแห่งต่างๆ ซึ่งเรียงรายด้วยต้นหลิว (willow) ที่ทอดกิ่งลงไปในทะเลสาบ หรือเมื่อมองผ่านสายหมอกไปยังที่ห่างไกลออกไปจะเห็นภูเขาผงาดเงื้อมประดับประดาด้วยเจดีย์เป็นระยะ ครั้นเมื่อผินหน้าไปอีกทางหนึ่ง ก็จะพบนครสมัยใหม่ซึ่งเป็นที่พำนักของผู้คนเรือนล้านๆ อุดมไปด้วยอาคารสูงระฟ้าและแสงนีออนสว่างสดใส หยินและหยางของจีนแห่งสมัยใหม่และจีนแห่งยุคโบราณ ปรากฏให้เห็นเคียงข้างกันอย่างเต็มๆ ตา
หางโจวคุยอวดว่ามีสถานที่ทางประวัติศาสตร์มากมาย ซึ่งผมขอรับรองเสนอแนะให้ไปเยี่ยมเยียน ไม่ว่าด้วยเหตุผลทางธุรกิจหรือเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ การเดินเตร็ดเตร่ไปตามชายฝั่งทะเลสาบซีหู, การขี่จักรยานไปตามถนนบนเขื่อนดิน, หรือการลัดเลาะผ่านดงดอกบัวในเรือรูปร่างคล้ายเรือกอนโดลา เป็นยาถอนพิษอันวิเศษสุดสำหรับการคลายความตึงเครียดในชีวิตสมัยใหม่ การไปเที่ยวชมวัดหลิงอิ่น (Lingyin) หนึ่งในวัดพุทธที่ใหญ่ที่สุดและรุ่มรวยที่สุดในประเทศจีน บางทีอาจจะพบกับเรื่องเซอร์ไพรซ์ เป็นต้นว่า จำนวนของผู้ศรัทธามาเคารพบูชาซึ่งเต็มไปทั้งวัด และสวนแห่งต่างๆ ของวัดเพื่อการค้นหาธรรมที่อยู่เหนือโลก
หางโจวยังได้รับพรในเรื่องของการเป็นแหล่งต้นตำรับของอาหารจีนประณีตบรรจงที่สุดบางชนิด โดยที่ว่ากันว่านายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล ของเยอรมนีโปรดปรานมาก บางทีเธออาจจะคุ้นเคยกับ ปลาเปรี้ยวหวานทะเลสาบซีหู, ไก่ขอทาน, หมูตงโพ, หรือ บะหมี่ง่ายๆ ที่เรียกกันว่า เพียน เอ๋อ ชวน (pian er chuan) ซึ่งคุณปู่ของผม และดังนั้นจึงถ่ายทอดมาถึงตัวผมเองด้วย ถือเป็นอาหารสุดโปรด
อาหารเหล่านี้ควรต้องควบคู่กับการดื่มชาหลงจิ่ง (Dragon Well tea) ที่ผู้คนจำนวนมากถือกันว่าเป็นชาเขียวยอดเยี่ยมที่สุดในโลก ส่วนสำหรับใครที่ต้องการเครื่องดื่มซึ่งแรงยิ่งกว่านั้น ไวน์ข้าวดีที่สุดในจีนนั้นมาจากเส่าซิง (Shaoxing) ที่อยู่ไม่ไกลจากหางโจว ไวน์ข้าวชนิดนี้ควรดื่มในตอนอุ่นๆ ซึ่งก็เป็นธรรมเนียมของคุณปู่ของผม ผู้มักเหลือจิบสุดท้ายในถ้วยให้ไว้ผมเสมอ
ในช่วงไม่กี่วันนี้ ในเมืองหางโจว สายตาของโลกจะได้เหลือบแลมองความผสมผสานกันระหว่างโบราณกับสมัยใหม่, ระหว่างความงดงามกับความโฉบเฉี่ยว ซึ่งก็เป็นภาพย่อส่วนของประเทศชาติหนึ่งซึ่งกำลังเข้าไปสู่ช่วงเวลา 5,000 ปีของตนเอง เข้าไปสู่อารยธรรมหลายเชิงชั้นของตนเอง
ริชาร์ด แอล. คิง PhD เป็นวาณิชธนกร (investment banker) และนักลงทุนในเวนเจอร์แคปิตอล (venture capitalist) ที่เกษียณอายุแล้ว เขาได้รับปริญญาเอกด้านฟิสิกส์นิวเคลียร์จากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก (NYU) และยังเข้าศึกษาที่ สถาบันบัณฑิตสเติร์นบริหารธุรกิจ (Stern Graduate School of Business) ของ NYU อีกด้วย เขาเคยเป็นอาจารย์สอนฟิสิกส์นิวเคลียร์ที่สถาบันพาณิชย์นาวีสหรัฐฯ (U.S. Merchant Marine Academy) เมืองคิงส์พอยต์ รัฐนิวยอร์ก, เป็นทรัสตีผู้หนึ่งของสถาบันจีน (China Institute), เป็นสมาชิกของคณะกรรมการที่ปรึกษาทางวิทยาศาสตร์ ที่ NYU, เป็นกรรมการคนหนึ่งของ Committee of 100 ดร.คิง มีรกรากอยู่ที่เซี่ยงไฮ้ก่อนเดินทางมายังสหรัฐฯ ทั้งปู่และตาของเขาต่างอยู่ในคณะผู้ก่อตั้ง แบงก์ออฟไชน่า