ถือได้ว่ารูดม่านปิดฉากไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สำหรับสงครามกลางเมืองระหว่างรัฐบาลโคลอมเบีย กับกลุ่มกบฏนิยมซ้ายที่เรียกตัวเองว่า กองกำลังติดอาวุธปฏิวัติแห่งโคลอมเบีย (Fuerzas Armadas Revolucionarias de Colombia : FARC) หรือกลุ่มกบฏ “ฟาร์ก” ที่จับอาวุธฆ่าฟันกันมายาวนานเกินครึ่งศตวรรษนับตั้งแต่ ปี ค.ศ. 1964 เป็นต้นมา
ความขัดแย้งที่ยืดเยื้อยาวนาน ระหว่างกลุ่มกบฏใหญ่ที่สุดในโคลอมเบียอย่างฟาร์ก กับรัฐบาลกลางในกรุงโบโกตาที่ดำเนินมานานถึง 52 ปีเต็ม ได้สิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการ ในทันทีที่ข้อตกลงหยุดยิงแบบถาวร มีผลบังคับใช้ในวันจันทร์ที่ 29 สิงหาคมที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าคู่ขัดแย้งทั้งสองฟากฝั่งจะยังคงต้องเดินหน้าอีกหลายขั้นหลายตอนนับจากนี้ตามข้อกำหนดในข้อตกลง เพื่อสร้างสันติภาพอย่างยั่งยืน ซึ่งรวมถึง ขั้นตอนสำคัญยิ่งอย่างการจัดการ “ลงประชามติ” เพื่อรับรองต่อสัญญาสันติภาพ ที่ทางการโคลอมเบีย คาดว่า อาจสามารถจัดขึ้นได้ในราวช่วงต้นเดือนตุลาคม (ภายในสัปดาห์แรกของเดือนตุลาคม) ที่จะถึงนี้
สงครามกลางเมืองโคลอมเบียระหว่างรัฐบาลโบโกตา กับกลุ่มกบฏฟาร์กที่นิยมลัทธิมาร์กซิสต์-เลนินนิสต์เริ่มปะทุขึ้นตั้งแต่ปี 1964 และเป็นความขัดแย้งที่ได้ชื่อว่า “นองเลือดที่สุด”ในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของภูมิภาคลาตินอเมริกานี้ ได้คร่าชีวิตผู้คนใน “ดินแดนแห่งกาแฟและโคเคน” แห่งนี้ไปแล้ว มากกว่า 218,000 คน ซึ่งในจำนวนนี้มากกว่า 177,300 คน เป็นพลเรือนผู้บริสุทธิ์
นอกเหนือจากยอดผู้เสียชีวิตที่พุ่งสูงถึงหลายแสนราย สงครามกลางเมืองที่มีต้นตอมาจากความขัดแย้งแตกต่าง ระหว่างอุดมการณ์ทางการเมืองของฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวาในโคลอมเบียนี้ ยังทำให้มีผู้ถูกลักพาตัวไปมากกว่า 27,000 คน และยังมีผู้ที่สูญหายแบบไร้ร่องรอย-ไม่ทราบชะตากรรมอีกมากกว่า 25,000 คน ยังไม่นับรวมกับเหยื่อ “กับระเบิด” อีกเกือบ 10,200 ราย และผู้อพยพพลัดถิ่นที่ต้องละทิ้งถิ่นฐานบ้านเรือนของตน เพื่อเอาชีวิตรอดจากสงครามนี้อีกมากกว่า 5.7 ล้านคน
ติโมเลออน ฮิเมเนซ หรือ “สหายตีโมเชนโก” ผู้นำกลุ่มกบฏ FARC ในวัย 57 ปีออกคำสั่งในวันอาทิตย์ (28 ส.ค.) ที่ผ่านมาให้นักรบทั้งหมดของฝ่ายตน หยุดยิงเป็นการถาวรตั้งแต่เวลา 00.01 น. ของวันจันทร์ (29 ส.ค.) ตามเงื่อนไขของข้อตกลงสันติภาพ กับรัฐบาลโคลอมเบีย ที่ถูกผลักดันจนลุล่วงตั้งแต่กลางสัปดาห์ก่อน
ด้านประธานาธิบดี ฮวน มานูเอล ซานโตส ผู้นำโคลอมเบีย เปิดเผยผ่าน “ทวิตเตอร์” ตั้งแต่เมื่อวันศุกร์ (26 ส.ค.) หลังลงนามในคำสั่งยุติปฏิบัติการทางทหารทั้งปวงต่อกลุ่มกบฏ FARC โดยผู้นำโคลอมเบียระบุ “การสิ้นสุดของความขัดแย้งได้มาถึงแล้ว” พร้อมให้คำมั่นว่า กองทัพโคลอมเบียจะยุติปฏิบัติการทางทหารในทุกรูปแบบต่อกลุ่มกบฏนิยมซ้ายกลุ่มนี้ตั้งแต่วันจันทร์ (29) เช่นกัน
กว่าจะมาถึงจุดนี้ กระบวนการเจรจาสันติภาพในกรุงฮาวานา เมืองหลวงของคิวบา ที่มีรัฐบาลคิวบาและนอร์เวย์เป็นผู้สนับสนุน ต้องใช้เวลายาวนานกว่า 4 ปีนับตั้งแต่ปี 2012 และการเจรจานี้ต้องประสบภาวะหวุดหวิดที่จะล่มลงแบบไม่เป็นท่าหลายต่อหลายหนในช่วงก่อนหน้านี้
รายงานข่าวระบุว่า กลุ่มกบฏ FARC นี้เริ่มเป็นฝ่ายประกาศการ “หยุดยิงแบบข้างเดียว” มาตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปี 2015 เป็นต้นมา เพื่อแสดงออกถึงความจริงใจที่จะร่วมผลักดันให้เกิดสันติภาพที่ถาวรในโคลอมเบีย ถึงแม้ในความเป็นจริงแล้วในโคลอมเบียจะยังมีกลุ่มติดอาวุธกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยอีกหลายกลุ่มที่ยังไม่ยอมเข้าร่วมกระบวนการเจรจาสันติภาพกับทางการ ตามอย่างกลุ่ม FARC
จนถึงขณะนี้ มีกระแสข่าวแพร่สะพัดว่าทั้ง ประธานาธิบดี ฮวน มานูเอล ซานโตส ผู้นำโคลอมเบีย และติโมเลออน ฮิเมเนซ หรือ “สหายตีโมเชนโก” ผู้นำกลุ่มกบฏ FARC จะร่วมกันลงนามในข้อตกลงสันติภาพฉบับสมบูรณ์ ในช่วงปลายเดือนกันยายนนี้ ขณะที่กระบวนการปลดอาวุธสมาชิกกลุ่มกบฏที่คาดว่า จะมีจำนวนระหว่าง 7,500 – 10,000 รายนั้น อาจต้องใช้ระยะเวลาอีกนานกว่าครึ่งปีโดยอยู่ภายใต้การดูแลขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น)
แหล่งข่าวทางการทูตในกรุงโบโกตาเปิดเผยว่า รัฐบาลของประธานาธิบดีซานโตส คาดหวังจะจัดการลงประชามติเพื่อรับรองข้อตกลงสันติภาพ ในช่วงต้นเดือนตุลาคมนี้ ท่ามกลางผลสำรวจความคิดเห็นที่ระบุว่า ถึงแม้ประชาชนชาวโคลอมเบียส่วนใหญ่จะรู้สึกรังเกียจเคียดแค้นกลุ่มกบฏฟาร์ก แต่พวกเขาก็พร้อมลงคะแนนหนุนข้อตกลงสันติภาพ ในครั้งนี้
อย่างไรก็ดี ความพยายามอย่างไม่ลดละของรัฐบาลโคลอมเบีย ภายใต้การนำของประธานาธิบดีซานโตสในการปิดฉากการเจรจาสันติภาพกับกลุ่มกบฏ FARC ถูกวิจารณ์อย่างรุนแรงจากพรรคการเมืองฝ่ายค้าน ที่เป็นพวกฝ่ายขวาของอดีต ประธานาธิบดี อัลบาโร อูริเบ
โดยอูริเบซึ่งในปัจจุบันทำหน้าที่เป็นสมาชิกวุฒิสมาชิกโคลอมเบียด้วย ได้ออกโรงเรียกร้องให้ประชาชน “โหวตโน” คว่ำร่างข้อตกลงสันติภาพฉบับนี้ ที่ถูกมองว่าเอื้อประโยชน์ และ “มีเมตตา” ให้แก่ฝ่ายกบฏมากเกินไป
นับจากนี้ เป็นที่คาดกันว่า อาจต้องใช้เวลายาวนานอีกถึง 10 ปี หรือต้องรอถึงปี ค.ศ. 2026 กว่าที่กลไกต่างๆ ตามข้อตกลงสันติภาพโคลอมเบียจะเสร็จสิ้นสมบูรณ์ แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ความพยายามทั้งปวงตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา ที่นำมาสู่กระบวนการสันติภาพในประเทศนี้ที่มีจุดเริ่มต้นมาจากการยอม “ถอยคนละก้าว” ของคู่ขัดแย้งได้ให้ผลลัพธ์อย่างคุ้มค่า และสมควรอย่างยิ่ง ที่จะถูกนำไปปรับใช้เพื่อเป็นบทเรียน และเป็นต้นแบบให้กับอีกหลายประเทศทั่วโลก ที่ยังเผชิญหน้ากับปัญหาความขัดแย้งรุนแรง ถึงขั้นที่พี่น้องร่วมชาติต้องลุกขึ้นมา จับอาวุธ “ฆ่าฟันกันเอง” เป็นรายวัน