รอยเตอร์/เอเจนซีส์ / MGR online - ผลสำรวจล่าสุดพบข้อมูล มีชาวฝรั่งเศสราว 1 ใน 10 (11%) เท่านั้นที่เชื่อว่าการไหลบ่าเข้าประเทศของเหล่าผู้อพยพจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของแดนน้ำหอม
ผลสำรวจความคิดเห็นล่าสุดในฝรั่งเศสที่จัดทำโดยสำนักวิจัย “Ipsos Mori” และมีการเผยแพร่ในวันพุธ (24 ส.ค.) ระบุ มีกลุ่มตัวอย่างชาวฝรั่งเศสเพียง 11 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่เชื่อว่าการไหลบ่าเข้าประเทศของเหล่าผู้อพยพจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของแดนน้ำหอม โดยเฉพาะในแง่ของการสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจ
ผลสำรวจยังพบด้วยว่า มากกว่า 2 ใน 3 ของกลุ่มตัวอย่างชาวฝรั่งเศสยอมรับว่ารู้สึกหวาดกลัวภัยคุกคามจากพวกผู้ก่อการร้ายที่แฝงตัวเข้าประเทศมาในคราบของ “ผู้อพยพที่อดอยากและหนีภัยสงคราม” ในประเทศบ้านเกิด
ด้าน ไบรซ์ เตอแอ็งตูริเยร์ ผู้อำนวยการของสำนักวิจัยอิปโซส ประจำฝรั่งเศส ออกมาให้ความเห็นว่า ปัญหาผู้อพยพ โดยเฉพาะการไหลบ่าเข้าสู่ประเทศต่างๆ ในยุโรปของผู้อพยพจากซีเรีย อัฟกานิสถาน และอิรัก ได้กลายเป็นประเด็นปัญหาระดับโลกไปแล้วตลอดระยะเวลา 2 ขวบปีมานี้ และว่า ปัญหาการไหลทะลักของผู้อพยพซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมนี้แยกกันไม่ออกกับจำนวนเหตุก่อการร้ายที่พุ่งสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ
ผลสำรวจความคิดเห็นล่าสุดของ Ipsos Mori นี้ถูกเผยแพร่ออกมาเพียง 1 วันหลังจากที่สื่อดังอย่างรอยเตอร์นำเสนอข้อมูลล่าสุดที่บ่งชี้ว่าหลายประเทศในยุโรปขณะนี้มียอดขาย “อาวุธปืน” เพิ่มสูงขึ้น จากการที่ประชาชนจำนวนไม่น้อยเริ่มรู้สึกไม่มั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของตนเอง หวั่นตกเป็นเหยื่อของภัยก่อการร้าย และการก่ออาชญากรรมในรูปแบบต่างๆ โดยฝีมือของบรรดาผู้อพยพชาวมุสลิมที่ไหลบ่าเข้าสู่ยุโรป
ข้อมูลที่รวบรวมโดยรอยเตอร์ระบุว่า ยอดการจำหน่ายอาวุธปืน รวมถึงคำร้องขอในการครอบครองอาวุธในหลายประเทศของยุโรปเพิ่มสูงขึ้นอย่างสำคัญในรอบ 1 ขวบปีที่ผ่านมา
รายงานระบุว่า จำนวนผู้ยื่นคำร้องขอจดทะเบียนครอบครองอาวุธปืนได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งในสวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรีย และสาธารณรัฐเช็ก ซึ่งเป็นประเทศที่กฎหมาย “เปิดช่อง” ให้ประชาชนสามารถถือครองอาวุธปืนได้
ในขณะที่ในเยอรมนี ซึ่งมีกฎหมายการครอบครองอาวุธปืนที่เข้มงวดมากกว่าและแทบไม่เปิดโอกาสให้พลเรือนได้ถือครองอาวุธปืนได้นั้น มีรายงานว่า ยอดการจำหน่าย “อุปกรณ์ป้องกันตัวที่มิใช่อาวุธปืน” เช่น สเปรย์พริกไทย และเครื่องช็อต กระแสไฟฟ้าแบบพกพา มีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก และติดอันดับสินค้าขายดีในหลายเมืองของประเทศ รวมถึงในกรุงเบอร์ลิน ที่เป็นเมืองหลวง
ด้านฮันส์เพเทอร์ ครือซี โฆษกสำนักงานตำรวจประจำเขตซังต์ กาลเลน ของสวิตเซอร์แลนด์ ออกมาเปิดเผยว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับเหตุโจมตีโดยผู้ก่อการร้าย รวมถึงปัญหาอาชญากรรม โดยฝีมือของผู้อพยพที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่ของยุโรปในช่วงก่อนหน้านี้
ในสาธารณรัฐเช็กมีรายงานว่า ประธานาธิบดี มิลอส เซมัน ซึ่งแต่เดิมมีจุดยืนในการควบคุมอาวุธปืนอย่างแข็งขัน ได้ประกาศผ่อนปรนความเข้มงวดของมาตรการห้ามถือครองอาวุธปืนในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา และเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถซื้อหาอาวุธปืนเพื่อการป้องกันตัวได้ง่ายขึ้นนับตั้งแต่เกิดเหตุโจมตีโดยผู้ก่อการร้ายที่เมืองนีซทางภาคใต้ของฝรั่งเศส จนยอดคำขออนุญาตถือครองอาวุธในสาธารณรัฐเช็กพุ่งสูงทะลุ 6,000 กระบอกไปแล้วเฉพาะในช่วงครึ่งแรกของปี 2016 นี้
รายงานล่าสุดระบุด้วยว่า จำนวนใบอนุญาตถือครองอุปกรณ์ป้องกันตัวแบบพกพา เช่น สเปรย์พริกไทย และเครื่องช็อตกระแสไฟฟ้า ในเยอรมนีได้เพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 49 ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2016 นี้ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2015