เอเอฟพี/รอยเตอร์ - เยอรมนีในวันพุธ(24ส.ค.) ประกาศให้ประชาชนกักตุนอาหารและน้ำเพื่อเตรียมรับมือกับความเป็นไปได้ที่จะถูกโจมตีก่อการร้ายหรือการโจมตีทางไซเบอร์ รวมถึงเกิดภัยพิบัติระดับชาติ ความเคลื่อนไหวที่เป็นไปตามรายงานข่าวของสื่อมวลชนก่อนหน้านี้ ขณะที่มันเป็นแผนยุทธศาสตร์ป้องกันพลเรือนฉบับแรกนับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามเย็น
คณะรัฐมนตรีของนางอังเกลา แมร์เคิล เห็นชอบแผน 70 หน้า ณ ช่วงเวลาที่ เยอรมนี ตกอยู่ในความหวาดหวั่นตามหลังเหตุอิสลามิสต์โจมตี 2 ครั้งในเดือนกรกฎาคมและเหตุโจมตีก่อการร้ายที่รุนแรงกว่ามากที่ฝรั่งเศสและเบลเยียมในปีนี้
คำในภาษาเยอรมนีเกี่ยวกับการกักตุนเสบียงในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉินคือ "Hamsterkaeufe" และสื่อมวลชนบางแห่งเย้ยหยันล้อเลียนแผนดังกล่าวของรัฐบาลว่าสนับสนุนให้ชาวเยอรมนีกักตุนอาหารราวกับสัตว์เลี้ยงตัวเล็กๆ
แม้จะเริ่มดำเนินการมานานแล้ว แต่มาตรการความมั่นคงนี้ กำลังกลายเป็นประเด็นหลักของการหาเสียงก่อนศึกเลือกตั้งสภาท้องถิ่นใน 2 รัฐในเดือนหน้าและศึกเลือกตั้งทั่วไปในปี 2017 ขณะที่แผนดังกล่าวยังรวมไปถึงการเพิ่มงบประมาณใช้จ่ายของตำรวจและห้ามคลุมหน้าแบบแบบบูร์กาด้วย
แผนยุทธศาสตร์ที่มีการเปิดตัวในวันพุธ(24ส.ค.) ได้วางกรอบมาตรการป้องกันไว้ก่อนต่างๆ เพื่อรับมือกับเหตุการณ์ทั้งหลาย อย่างเช่นก่อการร้าย การโจมตีด้วยอาวุธเคมีและการโจมตีทางไซเบอร์ อย่างไรก็ตามกระทรวงมหาดไทยชี้แจงว่ามันไม่ได้หมายความว่าภัยคุกคามใกล้เข้ามาแล้ว
ในแผนยุทธศาสตร์ระบุว่า สถานการณ์นโยบายความมั่นคงของเยอรมนีเกิดความเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง หลังจากโครงสร้างการป้องกันพลเรือนระดับรัฐบาลกลางถูกยุบไปในปี 1995 เพราะมีการผ่อนคลายนโยบายความมั่นคงหลังการรวมชาติเยอรมนี
ทั้งนี้แผนยุทธศาสตร์ระบุ
ว่าแม้เยอรมนีไม่น่าจะเกิดเหตุร้ายที่ต้องใช้การป้องกันแบบร่วมสมัย แต่ก็ควรเตรียมพร้อมรับมือเหตุร้ายในอนาคต สืบเนื่องจากการแพร่ขยายอาวุธทำลายล้างสูง ความขัดแย้งที่เกิดจากกลุ่มก่อการร้ายและการโจมตีไซเบอร์เป็นภัยโดยตรงต่อเยอรมนีและพันธมิตร
โดยแผนยุทธศาสตร์ ได้แนะนำให้ประชาชนกักตุนอาหารสำหรับบริโภคอย่างน้อย 10 วัน และน้ำดื่มอย่างน้อย 5 วัน ในกรณีที่เกิดวิกฤตระดับชาติ นอกจากนี้ยังวางกรอบต่างๆสำหรับความจำเป็นที่ต้องมีระบบเตือนภัยที่ครอบคลุมกว่าเดิมที่แจ้งเตือนผู้คนยามที่มีเหตุฉุกเฉิน รวมถึงยกระดับการป้องกันอาคารและศักยภาพของระบบสาธารณสุข
นอกจากนี้แล้วมันยังบ่งชี้ถึงความเป็นไปได้ที่อาจรื้อฟื้นการเกณฑ์ทหารหากมีความจำเป็น หลังถูกยกเลิกไปในปี 2011 แนวคิดที่ก่อข้อถกเถียงอย่างกว้างขวาง "ไม่ควรรื้อฟื้นการเกณฑ์ทหาร ไม่มีเหตุผลที่ต้องทำแบบนั้น มันไร้เหตุผลสิ้นดี" อีวา โฮเกิล ส.ส.จากพรรคโซเชียล เดโมแครต บอกกับสถานีวิทยุแห่งนี้
ทั้งนี้ในแผนยุทธศาสตร์ป้องกันพลเรือยังระบุด้วยว่าเห็นควรให้พลเรือนเข้ามาเป็นกำลังเสริมให้กองทัพในภารกิจต่างๆอย่างเช่นกำกับการจราจร ค้นหาที่พักและมอบเชื้อเพลิง