รอยเตอร์ - มีผู้ถูกสังหารในความเกี่ยวข้องกับยาเสพติดแล้วกว่า 1,800 ศพในฟิลิปปินส์ นับตั้งแต่ประธานาธิบดี โรดริโก ดูเตอร์เต เข้ารับตำแหน่งเมื่อ 7 สัปดาห์ก่อน และประกาศทำสงครามกับยาเสพติด จากข้อมูลของตำรวจ ซึ่งสูงกว่าที่เคยคาดหมายไว้อย่างมาก
โรนัลด์ เดลา โรซา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติฟิลิปปินส์บอกกับคณะกรรมาธิการวุฒิสภาเมื่อวันจันทร์ (22 ส.ค.) ว่า มีพ่อค้ายาและผู้เสพ 712 รายถูกสังหารในปฏิบัติการต่างๆ ของตำรวจ นับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมเป็นต้นมา
นอกจากนี้แล้ว เดลา โรซา ยังเผยด้วยว่า ตำรวจยังอยู่ระหว่างการสืบสวนเหตุสังหารที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดอีก 1,067 ราย แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติม ความคิดเห็นที่มีขึ้น 1 วันหลังจากนายดูเตอร์เตออกมาตอบโต้กลับสหประชาชาติที่วิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับระลอกแห่งการสังหาร
สหรัฐฯ ซึ่งเป็นพันธมิตรใกล้ชิดของฟิลิปปินส์ ก็แสดงความกังวลต่อรายงานการปลิดชีวิตโดยศาลเตี้ยเหล่าบุคคลต้องสงสัยเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมยาเสพติด และเรียกร้องรัฐบาลของนายดูเตอร์เตให้คำรับประกันว่าเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายจะยึดมั่นบรรทัดฐานสิทธิมนุษยชน
จนถึงวันอาทิตย์ (21 ส.ค.) เจ้าหน้าที่ฟิลิปปินส์ระบุว่ามีผู้ต้องสงสัยค้ายาถูกสังหารในสงครามยาเสพติดของนายดูเตอร์เตรวมแล้วราวๆ 900 คน อย่างไรก็ตาม จำนวนนี้ยังไม่รวมถึงเหล่าผู้เสียชีวิตนับตั้งแต่นายดูเตอร์เตชนะศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีในวันที่ 9 พฤษภาคม
นายดูเตอร์เตพูดด้วยถ้อยคำที่แข็งกร้าวระหว่างแถลงข่าวในค่ำคืนวันอาทิตย์ (21 ส.ค.) ขู่จะให้ฟิลิปปินส์ถอนตัวจากสหประชาชาติ เผยอาจตั้งองค์กรระหว่างประเทศขึ้นมาใหม่ โดยชวนจีนและประเทศในแอฟริกาเข้าร่วม ทั้งยังสาดถ้อยคำหยาบคายใส่ยูเอ็นอีกระลอก ฐานบังอาจวิจารณ์สงครามกวาดล้างอาชญากรรมของตนเอง
อย่างไรก็ตาม เพอร์เฟกโต ยาเซย์ รัฐมนตรีต่างประเทศฟิลิปปินส์ ระบุในวันจันทร์ (22 ส.ค.) ว่ามะนิลายังเป็นสมาชิกของสหประชาชาติต่อไป และชี้แจงความเห็นของประธานาธิบดีดูเตอร์เตว่าเป็นการแสดงความผิดหวังเท่านั้น
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ 2 คน เรียกร้องมะนิลาหยุดการประหารและเข่นฆ่าโดยศาลเตี้ย
ในประเด็นนี้ ยาเซย์ระบุ นายดูเตอร์เตให้สัญญายึดมั่นต่อสิทธิมนุษยชนในการต่อสู้กับยาเสพติด และได้สั่งการให้ตำรวจสืบสวนและดำเนินคดีต่อผู้กระทำผิด พร้อมกับวิจารณ์คณะผู้เขียนรายงานของยูเอ็นว่าด่วนสรุปตามอำเภอใจว่ารัฐบาลฟิลิปปินส์ละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชน
แอนนา ริเชย์ อัลเลน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุอเมริกาเชื่อในหลักนิติธรรม กระบวนการทางกฎหมาย และความเคารพต่อสิทธิมนุษยชนอันเป็นสากล และหลักการเหล่านี้จะสนับสนุนความปลอดภัยระยะยาว “เราขอเรียกร้องอย่างหนักแน่นให้ฟิลิปปินส์รับประกันว่าเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายของพวกเขาจะปฏิบัติตามภาระหน้าที่ด้านสิทธิมนุษยชน”