เอเอฟพี - รองประธานาธิบดี โจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯและประธานาธิบดี เปโตร โปโรเชนโก ของยูเครนเรียกร้องการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนฝักใฝ่รัสเซียโดยเร็วท่ามกลางความตึงเครียดกับมอสโคที่พุ่งสูงขึ้น ทำเนียบขาวระบุเมื่อค่ำวันศุกร์ (19)
ไบเดนและโปโรเชนโก "แสดงความกังวลเกี่ยวกับการสู้รบที่รุนแรงยิ่งขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ในภาคตะวันออกของยูเครนซึ่งการละเมิดข้อตกลงหยุดยิงโดยกองกำลังแบ่งแยกดินแดนโปรรัสเซียอยู่ในระดับสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2015 ส่วนใหญ่ด้วยการใช้อาวุธหนัก" ถ้อยแถลงของทำเนียบขาวระบุ
เคียฟและตะวันตกกล่าวหาว่ารัสเซียว่าสนับสนุนกบฏแบ่งแยกดินแดนในภาคตะวันออกของยูเครนและส่งกองทหารข้ามพรมแดน ข้อกล่าวหาซึ่งมอสโคปฏิเสธ
ไบเดนและโปโรเชนโก "เน้นย้ำถึงความจำเป็นที่จะต้องมีการแก้ไขปัญหาทางการเมืองและการทูตให้กับความขัดแย้งนี้ผ่านการบังคับใช้ข้อตกลงกรุงมินสก์อย่างเต็มที่โดยทุกฝ่าย" ถ้อยแถลงระบุเสริม
ข้อตกลงกรุงมินสก์ซึ่งถูกลงนามเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปี 2015 โดยมีฝรั่งเศสและเยอรมนีเป็นคนกลางและมีประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซียเป็นพยานด้วยเรียกร้องให้มีการหยุดยิงพร้อมกับมาตรการทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมเพื่อยุติความขัดแย้งนี้
ไบเดนบอกกับโปโรเชนโกผ่านทางโทรศัพท์ว่า เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ "ส่งข้อความถึงรัสเซียว่าโลกกำลังจับตาดูและเน้นย้ำความจำเป็นที่จะต้องผ่อนคลายสถานการณ์นี้" เขายังเรียกร้องให้ยูเครนแสดงความอดกลั้นด้วย
เมื่อวันพฤหัสบดี (18) โปโรเชนโกกล่าวว่า เขาไม่อาจเพิกเฉยต่อการรุกรานเต็มขั้นของรัสเซียในขณะที่ความรุนแรงลุกลามในภาคตะวันออก ท่ามกลางข้อกล่าวหาว่ารัสเซียกำลังเสริมแสนยานุภาพทางทหารในภูมิภาคนี้
เมื่อวานนี้ (19) กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯระบุว่า ทหารรัสเซียตามแนวพรมแดนมีการฝึกซ้อมรบอยู่เป็นประจำ
ข้อกล่าวหาของโปโรเชนโกมีขึ้นหลังจากที่ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซียต่อว่าเคียฟอย่างรุนแรงจากเหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นบริเวณชายแดนระหว่างไครเมียซึ่งถูกมอสโคควบรวมเมื่อเดือนมีนาคมปี 2014 และยูเครน โดยกล่าวหาเคียฟว่า "ก่อการร้าย"
เจ้าหน้าที่รัสเซีย 2 คนเสียชีวิตในเหตุการณ์ดังกล่าวซึ่งยูเครนปฏิเสธว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง
เมื่อวันศุกร์ (19) ปูตินไปเยือนไครเมียเพื่อยกระดับมาตรการรักษาความปลอดภัยที่นั่น มันเป็นการเยือนแหลมทะเลดำครั้งที่ 5 ของเขานับตั้งแต่ที่ยึดมันจากยูเครน
นอกจากนี้ไบเดนและโปโรเชนโกยังหารือกันเกี่ยวกับเงื่อนไขของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) สำหรับการให้ความช่วยเหลือทางการเงินก้อนถัดไป ทำเนียบขาวระบุ