รอยเตอร์/เอเจนซีส์ - หนังสือพิมพ์ซันเดย์ไทม์ส สื่ออังกฤษรายงานล่าสุด ว่า อาจมีความเป็นไปได้ว่า อังกฤษอาจลาออกจากสหภาพยุโรปในช่วงปลายปี 2019 แทน ต่างจากที่นักการเมืองอังกฤษได้คาดการณ์ไว้ว่า จะสามารถเกิดขึ้นได้เร็วกว่านั้น หลังแหล่งข่าวในรัฐบาลอังกฤษชุดใหม่ของนายกหญิง เทเรซา เมย์ ชี้ว่า หน่วยงานเกี่ยงข้องกับ BREXIT ยังไม่มีความพร้อม ด้านกระทรวงการคลังอังกฤษออกแถลง ข้อตกลงผูกพันโปรเจกต์ยุโรปด้านวิทยาศาสตร์และการเกษตรที่ลงนามก่อนฤดูใบไม้ร่วงปีนี้ จะยังคงได้รับการอุดหนุนต่อจากกระทรวงแทนหลังจากอังกฤษลาออกจากอียู
รอยเตอร์รายวานวันนี้ (14 ส.ค.) ว่า ถึงแม้ผลการลงประชามติ BREXIT เกิดขึ้นในวันที่ 23 มิ.ย. ที่ผ่านมา แต่ทว่านายกรัฐมนตรีหญิงอังกฤษคนใหม่ เทเรซา เมย์ ได้ออกแถลงการณ์ประกาศว่า เธอจะยังไม่เริ่มต้นการใช้มาตรา 50 (Article 50) ของสนธิสัญญาว่าด้วยการออกจากสมาชิกภาพอียู ซึ่งมีกระบวนการที่ต้องใช้ระยะเวลาร่วม 2 ปี โดยเมย์อ้างว่า ทางอังกฤษต้องการเวลาในการเตรียมพร้อมสำหรับการเจรจาต่าง ๆ
เลียม ฟ็อกซ์ (Liam Fox) รัฐมนตรีกระทรวงการค้าระหว่างประเทศ ชี้ว่า คาดว่า เดือนกรกฎาคมปีหน้าจะถือเป็นช่วงเวลาเหมาะสมที่อังกฤษจะเริ่มต้นหารือการประกาศลาออกจากความเป็นสมาชิก
แต่อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวใกล้ชิดคณะ รมว.อังกฤษ ได้เปิดเผยกับสื่อซันเดย์ไทม์ส ว่า เชื่อว่า ทางอังกฤษสามารถเริ่มต้นใช้มาตรา 50 ได้หลังจากนั้นไปแล้ว ซึ่งความล่าช้าในการเริ่มต้นกระบวนการ BREXIT สืบเนื่องมาจากกระทรวงและหน่วยงานใหม่ที่ได้เพิ่งถูกตั้งขึ้น เพื่อจัดการ BREXIT และการเจรจาทางการค้านั้นยังไม่มีความพร้อมทางด้านเจ้าหน้าที่
หนังสือพิมพ์ซันเดย์ไทมส์ รายงานเพิ่มเติมว่า การเลือกตั้งฝรั่งเศสในเดือนมิถุนายน และของเยอรมันในเดือนกันยายน เชื่อว่า จะส่งผลบีบคั้นต่อระยะเวลาที่ทางลอนดอนต้องประกาศเริ่มต้นกระบวนการตามมาตรา 50 ของสนธิสัญญากรุงลิสบอน
รอยเตอร์รายงานต่อว่า การเลื่อนออกไปของกระบวนการ BREXIT จะเรียกเสียงวิจารณ์จากกลุ่มนักวิจารณ์ที่สนับสนุนอังกฤษประกาศแยกตัวซึ่งอยู่ร่วมกับพรรคอนุรักษ์อังกฤษของนายกรัฐมนตรีหญิงได้ ซึ่งมีสมาชิกระดับสูง เช่น จอห์น เรดวูด (John Redwood) ที่เป็นผู้นำในการเรียกร้องให้ลอนดอนเร่งดำเนินการประกาศแยกตัว
ในขณะเดียวกัน รัฐมนตรีการคลังอังกฤษคนใหม่ ฟิลลิป แฮมมอนด์ (Philip Hammond) ได้ออกมายืนยันว่า อังกฤษจะยังคงสนับสนุนในโปรเจกต์ต่าง ๆ ของสหภาพยุโรปถึงแม้จะออกจากการเป็นสมาชิกแล้ว บีบีซีรายงานเพิ่มเติม หลังจากก่อนหน้านี้ บรรดานักวิทยาศาสตร์ออกมาแสดงความกังวลว่า เม็ดเงินในการทำวิจัยจะหดลงหลังจากอังกฤษได้ลาออกจากสมาชิกสหภาพยุโรป
โดย แฮมมอนด์ ได้ยืนยันว่า โปรเจกต์เกี่ยวข้องกับการเกษตร วิทยาศาสตร์ และอื่น ๆ ที่ได้รับการลงนามก่อนช่วงฤดูใบไม้ร่วงของปีนี้ จะได้รับการอุดหนุนจากกระทรวงการคลังอังกฤษแทนด้วยตัวเลข 6 พันล้านปอนด์ต่อปี ซึ่งพบว่าโปรเจกต์ทางด้านการเกษตรของสหภาพยุโรปได้รับการอุดหนุนจากอังกฤษไปจนถึงปี 2020
แต่ทว่าบรรดานักวิจารณ์ได้ลงความเห็นว่า ดูเหมือนการออกมารับรองของแฮมมอนด์จะยังคงไม่เพียงพอ และยังคงมีความไม่แน่นอนต่อไป
ซึ่งนอกจากโปรเจกต์ที่อังกฤษได้ลงนามก่อนฤดูใบไม้ร่วงปีนี้ ที่ทางแฮมมอนด์ระบุ ยืนยันจะยังคงช่วยเหลือ ยังรวมไปถึงโปรเจกต์วิจัยฮอไรซัน รีเสิร์ช ฟันดิง (Horizon research funding) ที่ได้รับการลงนามก่อนการลาออกจากสหภาพยุโรป ทางกระทรวงการคลังอังกฤษจะยังคงให้ความช่วยเหลือเช่นกัน
บีบีซีรายงานว่า โครงการฮอไรซัน 2020 ของยุโรป ที่มีเม็ดเงิน 80 พันล้านยูโร เป็นช่องทางการให้ทุนวิจัยและการคิดค้นต่อสถาบันการศึกษาอังกฤษ ในช่วงที่อังกฤษยังเป็นสมาชิก
และนอกจากนี้ กลุ่มสหภาพชาวนาแห่งชาติอังกฤษ NFU ยังประกาศว่า การออกมาให้คำมั่นของรัฐมนตรีการคลังอังกฤษ ถือเป็นข่าวดี โดยพบว่าในปัจจุบันนี้บรรดาชาวนายุโรปได้รับเงินช่วยเหลือและเงินอุดหนุนอื่น ๆ ภายใต้โปรเจกต์ Common Agricultural Policy (CAP) ของอียู
บีบีซีรายงานว่า โดยต่อปีเกษตรกรเหล่านี้จะได้รับเงินราว 3 พันล้านปอนด์ โดยชาวนาได้รับเงินช่วยเหลือเช็คก้อนโตจำนวน 1 ล้านปอนด์ ซึ่งเป็นเงินที่มอบให้กับการเป็นเจ้าของที่ดิน และการดูแลสัตว์ป่า