เอเจนซีส์ / MGR online - ทางการอินเดียประกาศขยายระยะเวลาเคอร์ฟิวห้ามประชาชนออกนอกเคหสถานในหลายพื้นที่ของแคว้นจัมมูและแคชเมียร์ออกไปเป็นวันที่ 16 รวมถึงในนครศรีนาการ์ ที่เป็นเมืองเอกของแคว้นแห่งนี้ที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม
นอกเหนือจากการขยายเคอร์ฟิวออกไปเป็นวันที่ 16 ติดต่อกันแล้ว รายงานข่าวยังระบุด้วยว่า ทางการอินเดียยังคงดำเนินมาตรการตัดสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และอินเทอร์เน็ตในหลายพื้นที่ของแคว้นจัมมูและแคชเมียร์ต่อไปอีกด้วยเช่นกัน
ก่อนหน้านี้ทางการท้องถิ่นในแคว้นจัมมูและแคชเมียร์ของอินเดียประกาศสั่งปิดหนังสือพิมพ์และยุติการออกอากาศของสถานีโทรทัศน์ในระบบเคเบิลมาตั้งแต่วันที่ 16 ก.ค. หวังช่วยสกัดกั้นความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ประท้วงที่นำมาซึ่งปัญหาความไม่สงบที่เลวร้ายที่สุดในรอบ 6 ปี ที่ดำเนินมาตลอดระยะเวลาหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาในแคว้นแห่งนี้
ความเคลื่อนไหวล่าสุดมีขึ้นภายหลังจากที่ก่อนหน้านี้ทางการท้องถิ่นในแคว้นจัมมูและแคชเมียร์ของอินเดียได้ออกคำสั่งห้ามประชาชนออกนอกเคหสถาน (เคอร์ฟิว) และตัดสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ไปแล้ว เพื่อขัดขวางการเข้าร่วมชุมนุมตามท้องถนนของเหล่าผู้ประท้วง
ก่อนหน้านี้ทางการอินเดียเผยยอดผู้เสียชีวิตล่าสุดจากเหตุการณ์ไม่สงบในแคว้นจัมมูและแคชเมียร์ของตนเพิ่มจำนวนเป็นอย่างน้อย 36 ศพ หลังเกิดการปะทะกันอย่างรุนแรงนับตั้งแต่วันที่ 8 ก.ค.ที่ผ่านมา ระหว่างกลุ่มผู้ประท้วงกับตำรวจปราบจลาจล ขณะที่จำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บพุ่งสูงเกินกว่า 3,100 ราย หลายรายในจำนวนนี้มีอาการสาหัส
การปะทะกันอย่างดุเดือดระหว่างกลุ่มผู้ประท้วงกับตำรวจปราบจลาจลอินเดียมีจุดเริ่มต้นมาจากการที่ผู้ประท้วงจำนวนหลายร้อยคนฝ่าฝืนคำสั่งเคอร์ฟิวห้ามออกจากเคหสถานที่ทางการอินเดียนำมาบังคับใช้ในพื้นที่ตอนใต้ของเขตปุลวามา เพื่อหวังสกัดการเคลื่อนไหวของฝูงชนที่โกรธแค้นต่อการเสียชีวิตของ “บูร์ฮาน วานี” ผู้นำกลุ่มฮิซบุล มูจาฮิดีน วัย 22 ปี ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐบาลอินเดีย และถูกสังหารเมื่อวันที่ 8 ก.ค.ที่ผ่านมาระหว่างการดวลปืนกับกองกำลังความมั่นคงของรัฐบาล
การเสียชีวิตในวันที่ 8 ก.ค. ของวานีซึ่งเป็นผู้มีบทบาทสำคัญตลอด 5 ปีที่ผ่านมาในการปลุกระดมคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ในแคว้นจัมมูและแคชเมียร์ผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ให้ลุกฮือขึ้นต่อต้านรัฐบาลอินเดีย คือต้นตอสำคัญที่นำไปสู่การประท้วงและเหตุรุนแรงตลอดสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 36 ราย รวมถึงตำรวจปราบจลาจล 1 นายที่เสียชีวิตในเขตอนันตนาค ภายหลังจากกลุ่มผู้ประท้วงช่วยกันผลักรถหุ้มเกราะของเขาตกลงไปในแม่น้ำสายหนึ่ง
ขณะที่จำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บพุ่งสูงเกินกว่า 3,100 ราย หลายรายในจำนวนนี้มีอาการสาหัส
ทางการอินเดียออกมายืนยันในเวลาต่อมาว่า นอกเหนือจากการใช้แก๊สน้ำตาและยุทโธปกรณ์เพื่อการควบคุมฝูงชนตามปกติแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจปราบจลาจลในจัมมูและแคชเมียร์ยังมีการใช้ “กระสุนจริง” ในระหว่างภารกิจการบุกเข้าสลายการประท้วงเมื่อช่วงก่อนหน้านี้ รวมถึงการตัดสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และอินเทอร์เน็ตในพื้นที่
ทั้งนี้ แคชเมียร์กลายเป็นศูนย์กลางแห่งการเผชิญหน้า และการปะทะกันหลายครั้งหลายหนระหว่างอินเดียกับปากีสถานตลอดระยะเวลากว่า 70 ปีที่ผ่านมา ถึงแม้จะมีการบังคับใช้ข้อตกลงหยุดยิงระหว่างกันในปี 2003
โดยชาติเพื่อนบ้านทั้งสองซึ่งต่างมี “อาวุธนิวเคลียร์” ไว้ในครอบครอง ต่างอ้างกรรมสิทธิ์และอธิปไตยของตนเหนือดินแดนแถบเทือกเขาหิมาลัยอันสวยงามแห่งนี้ โดยที่อินเดียเป็นฝ่ายยึดครองดินแดน 2 ใน 3 ส่วนของแคว้นแคชเมียร์ ขณะที่ปากีสถานได้ครอบครองแคชเมียร์ในอีก 1 ส่วนที่เหลือ ท่ามกลางรายงานผู้เสียชีวิตจำนวนหลายพันรายที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงในพื้นที่ตลอด 20 ปีหลังสุด