รอยเตอร์ - รัฐมนตรีการคลังจีน หลู จีเหว่ย (Lou Jiwei) แถลงกลางที่ประชุมซัมมิต G20 ระดับรัฐมนตรีการคลังและผู้ว่าการธนาคารชาติต่างว่า ชาติยักษ์ใหญ่ผู้นำเศรษฐกิจกลุ่ม G20 ต้องมีร่วมมือกันมากกว่านี้ หลังจากที่ผ่านมานโยบายการเงินและการคลังเริ่มไม่ส่งผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจโลก ท่ามกลางวิกฤต BREXIT ที่ยังแผลงฤทธิ์ไม่เลิก
รอยเตอร์รายงานวันนี้ (23 ก.ค.) ว่า การประชุมซัมมิต G20 ระดับรัฐมนตรีการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางถูกจัดขึ้นในเฉิงตู เมืองเอกของมณฑลเสฉวน ซึ่งในงานนี้มีผู้อำนวยการสถาบันการเงินระหว่างประเทศ IMF คริสติน ลาการ์ด เข้าร่วม
โดยรัฐมนตรีคลังจีน หลู จีเหว่ย (Lou Jiwei) ได้ขึ้นกล่าวในวันเสาร์ (23 ก.ค.) ถึงการที่จะทำให้เศรษฐกิจโลกมีการเติบโตอย่างมั่นคงโดยไม่มีอะไรสะดุด เห็นความจำเป็นที่บรรดาชาติยักษ์ใหญ่ผู้นำทางเศรษฐกิจต้องเพิ่มความร่วมมือให้มากขึ้น หลังจากล่าสุดทั่วโลกต่างปั่นป่วนเพราะพิษ BREXIT โดยหลูแถลงยืนยันว่า “ความจำเป็นที่ต้องทำให้เศรษฐกิจโลกยังคงมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง แข็งแกร่ง และสมดุล ยังคงเป็นนโยบายหลักของกลุ่ม G20”
แม้ว่าในไม่กี่ปีที่ผ่านมาจะมีหลายชาติได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่หลูยังคงชี้ว่าผลการกระตุ้นที่เกิดจากนโยบายการเงินการคลังเหล่านี้เริ่มอ่อนแรง และไร้ประสิทธิภาพ แต่ทว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเพราะนโยบายเหล่านี้ กลับยังคงถูกพบอย่างต่อเนื่อง
รัฐมนตรีการคลังจีนแถลงต่อว่า “ชาติสมาชิก G20 ทั้งหลายเห็นสมควรที่ต้องเพิ่มนโยบายร่วมมือและสื่อสาร รวมไปถึงการจัดทำนโยบายมติร่วม (policy consensus) และชี้นำการคาดหวังของตลาด และนอกจากนี้ ยังรวมไปถึงการจัดทำนโยบายการคลังแบบมองไปข้างหน้า ที่ต้องมีความโปร่งใส และเพิ่มประสิทธิภาพในนโยบายการเงิน” หลู จีเหว่ยแถลง
รอยเตอร์รายงานว่า และในการพบปะระดับทวิภาคีระหว่างรัฐมนตรีการคลังญี่ปุ่น ทาโร อาโสะ (Taro Aso) และรัฐมนตรีการคลังสหรัฐฯ แจ็ก ลูว์ ได้ตอกย้ำให้เห็นถึงความสำคัญที่ชาติสมาชิก G20 ต่างๆ ต้องตระหนักถึงภัยอันตรายจากการทำสงครามสกุลเงินตราต่างประเทศ ซึ่งในขณะนี้พบว่า ตลาดต่างๆกำลังกระสับกระส่ายด้วยความคาดหวังว่าธนาคารกลางญี่ปุ่นจะออกมาสั่งลดตัวเลขการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อ และขยายมาตรการกระตุ้นที่ได้ออกมาแล้ว เนื่องมาจากที่ผ่านมาการส่งออกถูกพิษค่าเงินเยนที่แข็งตัวทุบอย่างหนัก และการบริโภคที่อ่อนตัวลงได้เพิ่มความกดดันไปยังเศรษฐกิจและราคาสินค้า
ทั้งนี้ หลังเกิดวิกฤต BREXIT ที่ทางอังกฤษประกาศขอแยกตัวจากสหภาพยุโรป ทำให้สกุลเงินเยนกลายเป็นแหล่งหลบภัยชั้นดีของบรรดานักลงทุนทั่วโลก และทำให้ค่าเงินเยนแข็งตัวมากที่สุด โดยแตะที่ 106 เยนต่อดอลลาร์ ซึ่งก่อนหน้านี้ทางอาโสะได้เคยออกมาเตือนถึงการแข็งค่าอย่างรวดเร็วของเงินเยน
รอยเตอร์รายงานว่า ทางสหรัฐฯ ได้เคยทำนายถึงการลดค่าของสกุลเงินหยวนของจีนต่ำลงอีก 5 ปีครึ่งข้างหน้า และรวมไปถึงปฎิกริยาที่ออกมาจากธนาคารกลางจีน ถือเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ และจะสอดคล้องกับการเปลี่ยนผ่านของการอิงอัตราแลกเปลี่ยนตามตลาด “ถือว่าเป็นการวิจารณ์อย่างเหมาะสมหากจะพูดว่า การเคลื่อนไหวที่ต่ำลงในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาของสกุลเงินหยวนจีน นั้นเกิดขึ้นเนื่องมาจากการผลักดันจากนโยบายการตัดสินใจ” หลูแถลง
รอยเตอร์รายงานต่ออีกว่า การประชุม G20 ที่ปักกิ่งเป็นเจ้าภาพอยู่นี้ ถือเป็นเวทีเปิดตัวของฟิลิป แฮมมอนด์ (Philip Hammond) รัฐมนตรีคลังอังกฤษหน้าใหม่ ที่ได้รับแต่งตั้งจากรัฐบาลอังกฤษของนายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์หลังจากผลการลงประชามติออกมาแล้ว โดยมีการคาดว่า แฮมมอนด์อาจถูกกดดันอย่างหนักจากที่ประชุมถึงแผนการที่ทางรัฐบาลอังกฤษจะออกมาเพื่อยังคงทำให้เศรษฐกิจยังคงเติบโตท่ามกลางสถานการณ์ปั่นป่วนเพราะฤทธิ์ BREXIT
หนึ่งในแหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังชาติเอเชียได้ให้ความเห็นว่า “จะต้องมีความสนใจอย่างล้นหลามต่อการประชุมครั้งนี้ ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกที่ถูกจัดขึ้น หลังจากพิษ BREXIT ได้ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกตกระนาว” และยังกล่าวต่อว่า “ส่วนตัวแล้ว คาดหวังว่าที่ประชุมจะมีการถกเถียงไปที่ประเด็นผลกระทบระยะยาวจากวิกฤต BFEXIT ที่เกิดขึ้นกับระบบเศรษฐกิจ ที่คาดว่าน่าจะเป็นสิ่งที่ต้องให้ความกังวลอย่างหนักต่อประเทศระบบเศรษฐกิจเกิดใหม่”
รอยเตอร์รายงานว่า ในสัปดาห์นี้ทางสถาบันการเงินระหว่างประเทศ IMF ได้ปรับลดตัวเลขคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกลงเนื่องมาจากปัญหา BREXIT โดยอ้างว่าเนื่องมาจากความไม่แน่นอนของความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างอังกฤษและสหภาพยุโรปในอนาคต จะทำให้เกิดการชะลอตัวด้านการลงทุนและกระทบต่อความมั่นใจการบริโภค
ทั้งนี้ ในวันศุกร์ (22 ก.ค.) รัฐมนตรีการคลังอังกฤษคนใหม่ได้ประกาศว่า อังกฤษสามารถเปลี่ยนแปลงนโยบายการคลังได้หากมีความจำเป็นเกิดขึ้น