xs
xsm
sm
md
lg

นักวิจัยชี้ MH370 อาจถูกควบคุมให้ “ร่อน” ลงสู่มหาสมุทร มีแนวโน้ม “ค้นหาผิดที่” มาตลอด 2 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รอยเตอร์ - คณะนักวิจัยจากบริษัทสัญชาติดัตช์ซึ่งทำการสำรวจพื้นทะเลในมหาสมุทรอินเดียตอนใต้เพื่อต้นหาซากเครื่องบิน MH370 ของมาเลเซียแอร์ไลน์ส ตั้งข้อสันนิษฐานว่าเครื่องบินอาจถูกบังคับให้ “ร่อน” ลงอย่างช้าๆ (glide down) และไม่ได้พุ่งดิ่งลงน้ำในนาทีสุดท้ายอย่างที่เข้าใจกัน ซึ่งหากเป็นจริง พวกเขาอาจทำการค้นหา “ผิดที่” มาตลอด 2 ปี

เที่ยวบิน MH370 นำผู้โดยสาร 227 คน และลูกเรือ 12 คนเดินทางออกจากเมืองหลวงมาเลเซียในเวลา 00.21 น.ตามเวลาท้องถิ่นของวันเสาร์ที่ 8 มี.ค. ปี 2014 และมีกำหนดเดินทางถึงกรุงปักกิ่งในเวลา 06.30 น.ก่อนที่เครื่องจะสูญหายไปจากจอเรดาร์เมื่อเวลาประมาณ 02.40 น.ตามเวลาท้องถิ่น หรือประมาณ 2 ชั่วโมง หลังออกเดินทางจากสนามบินนานาชาติกรุงกัวลาลัมเปอร์ โดยที่นักบินไม่ได้ส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือใดๆ อีกทั้งสภาพอากาศก็แจ่มใสปลอดโปร่ง

ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ทีมค้นหาซึ่งนำโดยบริษัทวิศวกรรมฟูโกร (Fugro) ได้สำรวจพื้นทะเลใต้มหาสมุทรอินเดียคิดเป็นพื้นที่พอๆ กับประเทศกรีซ เพื่อค้นหาจุดตกของเครื่องบินลำนี้

ปฏิบัติการค้นหาซึ่งกินพื้นที่ 120,000 ตารางกิโลเมตรในมหาสมุทรอินเดียตอนใต้อาจต้องยุติลงหลังการประชุมหารือระหว่างเจ้าหน้าที่มาเลเซีย จีน และออสเตรเลียในวันศุกร์ (22 ก.ค.) หากยังไม่พบร่องรอยใดๆ เพิ่มเติม

“ถ้ามันไม่อยู่ในบริเวณนี้ ก็แปลว่าต้องไปตกที่อื่น” พอล เคนเนดี ผู้อำนวยการโครงการค้นหา MH370 ของบริษัทฟูโกร ให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์

แม้ เคนเนดี จะไม่ตัดความเป็นไปได้แบบสุดขั้วที่อาจส่งผลให้หาซากเครื่องบินไม่พบ แต่ทีมของเขาก็เชื่อว่า มีความเป็นไปได้สูงที่ MH370 จะค่อยๆ ร่อนลงสู่มหาสมุทร หรือพูดง่ายๆ ว่าเครื่องบินลำนี้ยังถูก “ควบคุม” จนนาทีสุดท้าย กระทั่งไปพบจุดจบนอกพื้นที่ค้นหาซึ่งทีมสืบสวนได้คำนวณคร่าวๆ จากภาพถ่ายดาวเทียม

“ถ้าเครื่องบินยังมีคนควบคุมอยู่ มันอาจจะร่อนต่อไปได้อีกไกลพอสมควร” เคนเนดี กล่าว

“คุณอาจบังคับเครื่องบินให้ร่อนออกไปไกลกว่าพื้นที่ที่เราค้นหาอยู่ก็ได้ ฉะนั้นผมเชื่อว่าข้อสรุปนี้พอมีเหตุผล และอาจจะเป็นอีกสถานการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้น”

ข้อกังขาที่ว่าทีมค้นหาจะสำรวจถูกจุดหรือไม่นั้น อาจก่อให้เกิดกระแสเรียกร้องให้มีการเปิดเผยข้อมูลทั้งหมดต่อสาธารณะ เพื่อให้นักวิชาการและ “บริษัทคู่แข่ง” ของ ฟูโกร ได้ร่วมเสนอทางออก ซึ่งอาจจะช่วยคลายปมปริศนาครั้งใหญ่ที่สุดของแวดวงการบินในขณะนี้

ข้อสันนิษฐานเรื่องการ “ร่อนตก” ของ ฟูโกร ยังถือเป็นครั้งแรกที่เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องกับงานค้นหา MH370 ได้ออกมาสนับสนุนทฤษฎีที่ว่าเครื่องบินถูกควบคุมจนถึงวินาทีสุดท้าย ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นแนวคิดที่ถูกคัดค้านมาตลอด

ตั้งแต่ MH370 สูญหายไปใหม่ๆ ได้มีผู้เสนอทฤษฎีต่างๆ นานาเพื่ออธิบายชะตากรรมของโบอิ้ง 777 ลำนี้ ทั้งเรื่องที่ว่าเครื่องบินตกขณะที่กัปตันและนักบินผู้ช่วยอยู่ครบทั้งสองคน หรืออยู่เพียงคนเดียว หรือไม่มีใครควบคุมเลย? บ้างก็เสนอว่าอาจเป็นการจี้เครื่องบิน และบ้างก็ถกเถียงว่าผู้โดยสารจะเสียชีวิตทั้งหมดหรือไม่? และเครื่องบินได้ร่วงลงสู่ทะเลโดยไม่มีคนควบคุมเลยกระนั้นหรือ?

เรื่องราวยิ่งซับซ้อนหนักขึ้นไปอีก เมื่อพนักงานสอบสวนเชื่อว่าอาจจะมีใครบางคนจงใจปิดระบบติดตามเครื่องบิน transponder ก่อนจะบังคับเครื่องให้ออกนอกเส้นทางไปหลายพันไมล์

อย่างไรก็ตาม บริษัทการบินและหน่วยงานสืบสวนหลายแห่งได้ออกมาคัดค้านทฤษฎีการร่อนตกของ MH370 ในจำนวนนี้ได้แก่ โบอิ้ง ซึ่งเป็นผู้ผลิตเครื่องบิน, ทาเลส เอสเอ ของฝรั่งเศส, คณะกรรมการความปลอดภัยขนส่งแห่งชาติสหรัฐฯ, บริษัทดาวเทียม อินมาร์แซ็ต พีแอลซี ของอังกฤษ, สำนักงานสอบสวนอุบัติเหตุทางการบินของอังกฤษ และองค์การวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการป้องกันประเทศแห่งออสเตรเลีย
พนักงานสอบสวนออสเตรเลียและมาเลเซียร่วมกันตรวจสอบชิ้นส่วนปีกเครื่องบินที่พบนอกชายฝั่งเกาะเปมบา (Pemba Island) ของแทนซาเนีย
ในวันพรุ่งนี้ (22) เจ้าหน้าที่ฝ่ายจีน ออสเตรเลีย และมาเลเซีย จะร่วมกันตัดสินใจว่าจะเดินหน้าค้นหา MH370 ต่อไปอีกหรือไม่ โดยก่อนหน้านี้ทั้ง 3 ชาติได้ตกลงกันไว้ว่า หากยังไม่พบร่องรอยที่เชื่อถือได้ ก็จะไม่ขยายเวลาค้นหาอีก แม้จะมีเสียงเรียกร้องจากญาติผู้โดยสารก็ตาม

การติดตามเที่ยวบิน MH370 ใช้งบประมาณไปแล้วเกือบ 140 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นการค้นหาเครื่องบินที่มีค่าใช้จ่ายแพงที่สุดในประวัติศาสตร์การบินโลก

ขณะที่เริ่มต้นค้นหาเมื่อปี 2014 ทางการได้ตั้งสมมติฐานว่า เครื่องบินไม่ได้ถูกควบคุมโดยมนุษย์ขณะที่ตก ซึ่งหมายความว่าเวลานั้นไม่มีนักบินอยู่ในค็อกพิต หรือนักบินอยู่ในสภาพหมดสติสัมปชัญญะแล้ว เจ้าหน้าที่เชื่อว่า MH370 น่าจะถูกควบคุมด้วยระบบบินอัตโนมัติ (auto-pilot) และร่วงดิ่งลงสู่มหาสมุทรทันทีที่เชื้อเพลิงหมดเกลี้ยง

อย่างไรก็ตาม เคนเนดี ชี้ว่านักบินที่มีประสบการณ์สูงอาจสามารถบังคับเครื่องให้ร่อนต่อไปได้อีกเป็นระยะทางถึง 120 ไมล์ (เกือบ 200 กิโลเมตร) หลังจากที่เชื้อเพลิงหมดเกลี้ยงในระดับความสูงคงที่ (cruising altitude)

กัปตันโบอิ้ง 777 คนหนึ่งให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์ว่า ในกรณีดังกล่าวเครื่องบินอาจไปต่อได้ไม่ถึง 120 ไมล์ ระหว่างนั้นนักบินจะต้องพยายามควบคุมความเร็ว และบังคับเครื่องให้ร่อนลง

“ถ้าพลังงานทุกส่วนหมดลง ระบบบินอัตโนมัติจะถูกปิด และถ้าไม่มีนักบินคอยควบคุมอยู่ด้วย เครื่องบินก็จะร่วงลงจากฟ้าทันที” นักบินผู้นี้เผย

กำลังโหลดความคิดเห็น