xs
xsm
sm
md
lg

ไต้หวันส่ง “เรือรบ” สู่ทะเลจีนใต้ หลังไม่พอใจคำตัดสินของ “ศาลกรุงเฮก”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี - ไต้หวันส่งเรือรบลำหนึ่งไปยังทะเลจีนใต้ในวันนี้ (13) “เพื่อปกป้องอาณาเขตทางทะเลของไต้หวัน” หนึ่งวันหลังจากที่ศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศตัดสินว่าจีนไม่มีสิทธิทางประวัติศาสตร์ในเส้นทางน้ำแห่งนี้และลดน้ำหนักในการอ้างสิทธิของไทเปเหนือหมู่เกาะในทะเลแห่งนี้

ประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน กล่าวปลุกใจเหล่าทหารบนดาดฟ้าของเรือฟริเกตลำนี้ว่า ชาวไต้หวันมีความตั้งใจจริงที่จะ “ปกป้องสิทธิของประเทศของพวกเขา” ก่อนที่เรือรบลำนี้จะมุ่งหน้าไปยังเกาะไทปิงของไต้หวันในหมู่เกาะสแปรตลีย์จากเมืองเกาสงทางตอนใต้

เมื่อวานนี้ (12) ศาลอนุญาโตตุลาการถาวรในกรุงเฮกตัดสินว่า จีนไม่มีสิทธิทางประวัติศาสตร์เหนือพื้นที่ “เส้นประ 9 เส้น” ตามที่กล่าวอ้าง และว่าจีนได้ละเมิดสิทธิอธิปไตยของฟิลิปปินส์ในเขตเศรษฐกิจจำเพาะ

สำหรับไทเป ศาลตัดสินว่าเกาะไทปิงที่ควบคุมโดยไต้หวันและเป็นเกาะใหญ่ที่สุดในหมู่เกาะสแปรตลีย์ในทางกฎหมายแล้วเป็นโขดหินที่ไม่ได้ทำให้ไทเปได้เขตเศรษฐกิจจำเพาะ ทำให้น้ำหนักการอ้างสิทธิของไต้หวันเหนือน่านน้ำโดยรอบเกาะแห่งนี้ลดลง

รัฐบาลไต้หวันระบุว่า คำตัดสินนี้ “ไม่อาจยอมรับได้อย่างสิ้นเชิง” และไม่มีอำนาจผูกมัดทางกฎหมาย เนื่องจากศาลอนุญาโตตุลาการไม่ได้เชิญไทเปเข้ามีส่วนร่วมในการพิจารณาคดีนี้หรือร้องขอความคิดเห็นจากพวกเขา

“การตัดสินเรื่องทะเลจีนใต้โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดประเภทเกาะไทปิงเป็นการคุกคามต่อสิทธิของประเทศเราในหมู่เกาะและน่านน้ำของทะเลจีนใต้” ไช่ บอกกับทหารบนดาดฟ้าของเรือลำนี้ซึ่งถูกออกอากาศโดยสถานีข่าวหลายช่อง

“ภารกิจตรวจการณ์นี้จะแสดงให้เห็นความตั้งใจจริงของประชาชนชาวไต้หวันที่จะปกป้องสิทธิของประเทศของพวกเขา” เธอกล่าวก่อนที่จะลงจากเรือรบลำนี้

กระทรวงกลาโหมประกาศว่าจะ “ยืนหยัดปกป้องอาณาเขตและอำนาจอธิปไตยของไต้หวัน” พร้อมระบุว่า ไต้หวันจะไม่เปลี่ยนแปลงการอ้างสิทธิในน่านน้ำยุทธศาสตร์แห่งนี้เพราะว่าคำตัดสินดังกล่าว

กระทรวงฯ ระบุในถ้อยแถลงว่า พวกเขาจะยังคงส่งเครื่องบินและเรือไปทำภารกิจตรวจการณ์ยังพื้นที่ดังกล่าวอยู่และจะยังคงระวังตัวอย่างสูงเพื่อปกป้องความมั่นคงแห่งชาติ

หม่า อิงจิ่ว ผู้ดำรงตำแหน่งก่อนหน้าไช่ไปเยือนเกาะไทปิงเมื่อเดือนมกราคมเพื่อตอกย้ำการอ้างสิทธิของไต้หวันและแสดงให้เห็นว่าไทปิงเป็นเกาะไม่ใช่โขดหิน ความเคลื่อนไหวซึ่งเรียกเสียงวิจารณ์จากสหรัฐฯและการประท้วงจากเวียดนามและฟิลิปปินส์

หมู่เกาะสแปรตลีย์ยังถูกอ้างสิทธิเป็นบางส่วนหรือทั้งหมดโดยจีน เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และบรูไนด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น