xs
xsm
sm
md
lg

ปธ.รัฐสภาอิหร่านย้ำ การโจมตีทางอากาศไม่อาจกำจัดภัยคุกคามก่อการร้าย จี้ยุโรปเร่งลด-เลิกคว่ำบาตรอิหร่านตามสัญญา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภาพจากรอยเตอร์
เอเจนซีส์ / MGR online - อาลี ลาริจานี ประธานรัฐสภาของอิหร่าน ยอมรับในวันอังคาร (12 ก.ค.) ระบุ บรรดากลุ่มก่อการร้ายในภูมิภาคตะวันออกกลางได้กลายเป็นภัยคุกคามสำคัญในระดับโลก และว่า ลำพังเพียง “การโจมตีทางอากาศ” จะไม่สามารถขุดรากถอนโคนภัยคุกคามนี้ได้

“ลัทธิก่อการร้าย ซึ่งในเวลานี้ได้แพร่กระจายจากตะวันออกกลางสู่แผ่นดินของยุโรปแล้ว มิใช่ประเด็นปัญหาที่จะสามารถแก้ไขได้ด้วยการโจมตีทางอากาศ” ประธานรัฐสภาของอิหร่านกล่าวต่อผู้สื่อข่าวในระหว่างให้การต้อนรับและพบหารือกับนายกรัฐมนตรี บอยโก บอริซอฟ แห่งบัลแกเรีย ที่อยู่ระหว่างการเดินทางเยือนกรุงเตหะรานเมื่อวันอังคาร (12)

ประธานรัฐสภาอิหร่านยังระบุด้วยว่า ประเทศของตนมีศักยภาพอันล้นเหลือในการช่วยชาติในยุโรปในการสถาปนาสิ่งที่เรียกว่า “ความมั่นคงอย่างยั่งยืน” ผ่านทางความร่วมมือทางด้านพลังงาน

อย่างไรก็ดี ลาริจานีย้ำว่า ถึงเวลาแล้วที่บรรดาชาติในยุโรปจะต้องเร่งปฏิบัติตาม “คำมั่นสัญญา” ต่างๆ ในการลด-เลิกมาตรการคว่ำบาตรทั้งปวงต่ออิหร่านภายหลังจากการบรรลุข้อตกลงประวัติศาสตร์ด้านนิวเคลียร์ระหว่างกันเมื่อปีที่แล้ว หลังยังคงพบความล่าช้าในการยกเลิกอายัด “ทรัพย์สินในต่างแดน” ของอิหร่าน ตลอดจนอุปสรรคในการทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างเตหะรานกับสถาบันการเงินตะวันตก

ทั้งนี้ อิหร่านและมหาอำนาจทั้ง 6 ชาติ (กลุ่ม P5+1) ซึ่งประกอบไปด้วย 5 ชาติ “สมาชิกถาวร” ของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ คือ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย และสาธารณรัฐประชาชนจีน บวกกับอีก 1 ประเทศมหาอำนาจจากฝั่งยุโรปอย่างเยอรมนี สามารถบรรลุความตกลงประวัติศาสตร์ทางด้านนิวเคลียร์กันได้เมื่อ 14 ก.ค. ปีที่แล้ว ถือเป็นการปิดฉากการเจรจาแบบมาราธอนที่ใช้เวลายาวนานกว่า 1 ทศวรรษ และถือเป็นข้อตกลงซึ่งพลิกโฉมการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคตะวันออกกลางครั้งใหญ่

หลังการบรรลุข้อตกลงดังกล่าว ประธานาธิบดี บารัค โอบามา ผู้นำสหรัฐฯ ออกมาแถลงยกย่องว่า นี่ถือเป็นก้าวย่างสำคัญไปสู่ “โลกแห่งความหวังที่เพิ่มสูงขึ้น” และตอกย้ำในเวลาต่อมาว่าข้อตกลงประวัติศาสตร์นี้ถือเป็นแนวทางที่ดีที่สุดเพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันทางอาวุธนิวเคลียร์ และช่วยลดทอนความตึงเครียดในภูมิภาคตะวันออกกลาง

ขณะที่ประธานาธิบดี ฮัสซัน รูฮานี ผู้นำสายกลางของอิหร่าน ออกแถลงว่า ความสำเร็จในการบรรลุข้อตกลงด้านนิวเคลียร์ครั้งนี้ถือเป็นข้อพิสูจน์ว่าการมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันอย่างสร้างสรรค์เป็นสิ่งที่ได้ผลดียิ่ง และว่า หากการเผชิญหน้ากันอย่างศัตรูระหว่างวอชิงตันกับเตหะรานยังดำเนินอยู่ต่อไปก็คงไม่มีความเป็นไปได้แม้แต่น้อยที่ข้อตกลงเช่นนี้จะเกิดขึ้นได้

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลอิสราเอลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี เบนจามิน เนทันยาฮู ประกาศว่าจะเดินหน้าทำทุกวิถีทางเพื่อหาทางทำลายล้างข้อตกลงอัปยศฉบับนี้ ซึ่งทางฝ่ายอิสราเอลมองว่าเป็น “การยอมจำนนครั้งประวัติศาสตร์” ของสหรัฐฯ และโลกตะวันตก ให้กับชาติที่ชั่วร้ายอย่างอิหร่าน

ภายใต้ข้อตกลงนี้ มาตรการลงโทษ คว่ำบาตรอิหร่านทั้งหลายทั้งปวงของสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป (อียู) และสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ที่บังคับใช้มาอย่างต่อเนื่องยาวนานได้ถูกยกเลิกเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา เพื่อแลกเปลี่ยนกับการที่รัฐบาลเตหะรานยอมตกลงตัดทอนโครงการนิวเคลียร์ของตน ซึ่งสหรัฐฯ และโลกตะวันตกสงสัยมาโดยตลอดว่ามีเป้าหมายในการสร้าง “ระเบิดนิวเคลียร์” ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่เตหะรานยืนกรานปฏิเสธ

นักวิเคราะห์มองว่า การบรรลุข้อตกลงประวัติศาสตร์ครั้งนี้ถือเป็นชัยชนะครั้งสำคัญยิ่ง ทั้งสำหรับบารัค โอบามา และฮัสซัน รูฮานี และยังถือเป็นผลดีต่อการลดทอนความตึงเครียดในเวทีการเมืองระหว่างประเทศที่มีมายาวนาน ถึงแม้ว่าผู้นำทั้งสองต่างต้องเผชิญหน้ากับแรงต่อต้านอย่างหนักหน่วงจากบรรดา “นักการเมืองสายเหยี่ยว” ภายในประเทศของตนเอง โดยเฉพาะในสหรัฐฯ ที่นักการเมืองจำนวนมากยังคงมองอิหร่านเป็นศัตรูคู่อาฆาตที่เป็น “แกนอักษะแห่งปีศาจ”

ด้านสำนักข่าวไออาร์เอ็นเอของทางการอิหร่านรายงานว่า ผลของข้อตกลงนี้จะทำให้อิหร่านได้รับเงินนับหมื่นล้านดอลลาร์ที่ถูกอายัดไว้กลับคืนมา ขณะที่บรรดามาตรการคว่ำบาตรที่มีต่อธนาคารกลาง บริษัทน้ำมันแห่งชาติ บริษัทชิปปิ้ง และสายการบินของอิหร่านได้ถูกยกเลิก ถึงแม้มาตรการขององค์การสหประชาชาติในเรื่องการคว่ำบาตรห้ามซื้อขายอาวุธกับอิหร่านจะยังคงมีผลบังคับใช้ต่อไปอีก 5 ปี และห้ามอิหร่านจัดซื้อเทคโนโลยีด้านขีปนาวุธอีกนาน 8 ปี

ว่ากันว่าผลประโยชน์ที่อิหร่านจะได้รับจากข้อตกลงคราวนี้อาจสร้างความกังวลต่อชาติพันธมิตรอาหรับของสหรัฐอเมริกาในภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยเฉพาะในกรณีของซาอุดีอาระเบีย ประเทศที่ปกครองโดยมุสลิมนิกายสุหนี่ ที่เชื่อว่าอิหร่านซึ่งเปรียบเหมือนผู้นำของฝ่ายมุสลิมนิกายชีอะห์ ให้การสนับสนุนต่อศัตรูของตนทั้งในสมรภูมิที่ซีเรีย เยเมน และประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค

อย่างไรก็ดี รัฐบาลอเมริกันในเวลานี้มองเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องเร่งฟื้นฟูความสัมพันธ์กับอิหร่าน ที่มี “ศัตรูร่วมกัน” คือ กลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) ที่กำลังยึดครองพื้นที่กว้างขวางทั้งในอิรักและซีเรียอยู่ในเวลานี้ และถือเป็น “ภัยคุกคามใหญ่หลวง” ต่อสันติภาพของโลก

ในอีกด้านหนึ่ง การยุติมาตรการคว่ำบาตรทั้งปวงจะช่วยส่งเสริมให้เศรษฐกิจอิหร่านเติบโตอย่างรวดเร็ว เนื่องจากสามารถกลับเข้าสู่ “ตลาดน้ำมัน” ได้อีกครั้ง แม้ในความเป็นจริงแล้วกว่าที่น้ำมันจากอิหร่านจะกลับเข้าไปซื้อขายในตลาดโลกได้อย่างเต็มรูปแบบนั้นอาจต้องรอถึงช่วงครึ่งหลังของปี 2016 นี้ก็ตาม


กำลังโหลดความคิดเห็น