xs
xsm
sm
md
lg

ส.ส.รีพับลิกันโหวตคว่ำข้อตกลงโบอิ้ง-อิหร่าน อ้างกลัวรบ.เตหะรานเอาเครื่องบินไปใช้ทางทหาร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพจากรอยเตอร์
เอเจนซีส์ / MGR online – สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ที่มีสมาชิกพรรครีพับลิกันเป็นฝ่ายครองเสียงข้างมาก ลงมติในวันพฤหัสบดี (7 ก.ค.) ขัดขวางการขายเครื่องบินของบริษัทโบอิ้งให้แก่รัฐบาลอิหร่าน

ปีเตอร์ รอสแคม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯสังกัดพรรครีพับลิกันจากมลรัฐอิลลินอยส์ ออกมาระบุว่า เครื่องบินพาณิชย์ 3 แบบ ที่รัฐบาลอิหร่านจะขอซื้อจากบริษัทโบอิ้งนั้น สามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อกิจการทางทหารได้ ดังนั้น สมาชิกพรรครีพับลิกันซึ่งยังคงมีจุดยืนต่อต้านและไม่ไว้วางใจอิหร่าน จึงเห็นสมควรขัดขวางข้อตกลงนี้ พร้อมตราหน้าอิหร่านว่า เป็นรัฐผู้ให้การสนับสนุนการก่อการร้ายรายใหญ่ที่สุดของโลก

อย่างไรก็ดี โฮเซ เซร์ราโน ส.ส.พรคเดโมแครต จากมลรัฐนิวยอร์ก ออกโรงประณามความเคลื่อนไหวล่าสุดของสมาชิกพรรครีพับลิกัน ว่า กำลังพยายามทำลายความสัมพันธ์ที่เพิ่งได้รับการฟื้นฟูระหว่างสหรัฐฯและอิหร่าน และกำลังทำให้ความสำเร็จของประธานาธิบดีบารัค โอบามาในการปลดอาวุธนิวเคลียร์อิหร่านกลายเป็นเรื่องที่ “สูญเปล่า”

สายการบินอิหร่านแอร์ที่มีรัฐบาลเตหะรานเป็นผู้ควบคุมกิจการได้บรรลุข้อตกลงกับบริษัทโบอิ้ง ในการจัดซื้อเครื่องบินโดยสารจำนวน 80 ลำไปก่อนหน้านี้ และจะดำเนินการขอเช่าเครื่องบินโดยสารจากโบอิ้งเพิ่มอีก 29 ลำ แต่การลงมติดังกล่าวของบรรดา ส.ส.พรรครีพับลิกัน ส่งผลให้การปฏิบัติตามข้อตกลงนี้ของฝ่ายโบอิ้งไม่อาจดำเนินการได้ และอาจต้องมีการรื้อกระบวนการเจรจากับอิหร่านใหม่ในไม่ช้า

ทั้งนี้ อิหร่านและมหาอำนาจทั้ง 6 ชาติ (กลุ่ม P5+1)ซึ่งประกอบไปด้วย 5 ชาติ “สมาชิกถาวร” ของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ คือ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย และสาธารณรัฐประชาชนจีน บวกกับอีก 1 ประเทศมหาอำนาจจากฝั่งยุโรปอย่างเยอรมนี สามารถบรรลุความตกลงประวัติศาสตร์ทางด้านนิวเคลียร์กันได้เมื่อ 14 ก.ค.ปีที่แล้ว ถือเป็นการปิดฉากการเจรจาแบบมาราธอนที่ใช้เวลานานกว่า1ทศวรรษ และถือเป็นข้อตกลงซึ่งพลิกโฉมการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคตะวันออกกลางครั้งใหญ่

หลังการบรรลุข้อตกลงดังกล่าวประธานาธิบดีโอบามา ออกมาแถลงยกย่องว่า นี่ถือเป็นก้าวย่างสำคัญไปสู่ “โลกแห่งความหวังที่เพิ่มสูงขึ้น” และตอกย้ำในเวลาต่อมาว่าข้อตกลงประวัติศาสตร์นี้ถือเป็นแนวทางที่ดีที่สุด เพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันทางอาวุธนิวเคลียร์ และช่วยลดทอนความตึงเครียดในภูมิภาคตะวันออกกลาง

ขณะที่ประธานาธิบดีฮัสซัน รูฮานี ผู้นำสายกลางของอิหร่าน ออกแถลงว่าความสำเร็จในการบรรลุข้อตกลงด้านนิวเคลียร์ครั้งนี้ ถือเป็นข้อพิสูจน์ว่า การมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันอย่างสร้างสรรค์เป็นสิ่งที่ได้ผลดียิ่ง และว่าหากการเผชิญหน้ากันอย่างศัตรูระหว่างวอชิงตันและเตหะรานยังดำเนินอยู่ต่อไปก็คงไม่มีความเป็นไปได้แม้แต่น้อยที่ข้อตกลงเช่นนี้จะเกิดขึ้นได้

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลอิสราเอลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี เบนจามิน เนทันยาฮูประกาศว่าจะเดินหน้าทำทุกวิถีทาง เพื่อหาทางทำลายล้างข้อตกลงอัปยศฉบับนี้ ซึ่งทางฝ่ายอิสราเอลมองว่าเป็น “การยอมจำนนครั้งประวัติศาสตร์” ของสหรัฐฯ และโลกตะวันตก ให้กับชาติที่ชั่วร้ายอย่างอิหร่าน

ภายใต้ข้อตกลงนี้ มาตรการลงโทษ คว่ำบาตรอิหร่านทั้งหลายทั้งปวงของสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป (อียู) และสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ที่บังคับใช้มาอย่างต่อเนื่องยาวนานได้ถูกยกเลิกเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา เพื่อแลกเปลี่ยนกับการที่รัฐบาลเตหะรานยอมตกลงตัดทอนโครงการนิวเคลียร์ของตน ซึ่งสหรัฐฯ และโลกตะวันตกสงสัยมาโดยตลอดว่ามีเป้าหมายในการสร้าง “ระเบิดนิวเคลียร์” ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่เตหะรานยืนกรานปฏิเสธ

นักวิเคราะห์มองว่า การบรรลุข้อตกลงประวัติศาสตร์ครั้งนี้ ถือเป็นชัยชนะครั้งสำคัญยิ่ง ทั้งสำหรับบารัค โอบามา และฮัสซัน รูฮานี และยังถือเป็นผลดี ต่อการลดทอนความตึงเครียดในเวทีการเมืองระหว่างประเทศที่มีมายาวนาน ถึงแม้ว่าผู้นำทั้งสอง ต่างต้องเผชิญหน้ากับแรงต่อต้านอย่างหนักหน่วง จากบรรดา “นักการเมืองสายเหยี่ยว” ภายในประเทศของตนเอง โดยเฉพาะในสหรัฐฯ ที่นักการเมืองจำนวนมาก ยังคงมองอิหร่านเป็นศัตรูคู่อาฆาตที่เป็น “แกนอักษะแห่งปีศาจ”

ด้านสำนักข่าวไออาร์เอ็นเอของทางการอิหร่านรายงานว่า ผลของข้อตกลงนี้จะทำให้อิหร่านได้รับเงินนับหมื่นล้านดอลลาร์ที่ถูกอายัดไว้กลับคืนมา ขณะที่บรรดามาตรการคว่ำที่มีต่อธนาคารกลาง บริษัทน้ำมันแห่งชาติ บริษัทชิปปิ้ง และสายการบินของอิหร่านได้ถูกยกเลิก ถึงแม้มาตรการขององค์การสหประชาชาติในเรื่องการคว่ำบาตรห้ามซื้อขายอาวุธกับอิหร่าน จะยังคงมีผลบังคับใช้ต่อไปอีก 5 ปี และห้ามอิหร่านจัดซื้อเทคโนโลยีด้านขีปนาวุธอีกนาน 8 ปี

ว่ากันว่าผลประโยชน์ที่อิหร่านจะได้รับจากข้อตกลงคราวนี้ อาจสร้างความกังวลต่อชาติพันธมิตรอาหรับของสหรัฐอเมริกาในตะวันออกกลาง โดยเฉพาะในกรณีของซาอุดีอาระเบีย ประเทศที่ปกครองโดยมุสลิมนิกายสุหนี่ ที่เชื่อว่าอิหร่านซึ่งเปรียบเหมือนผู้นำของฝ่ายมุสลิมนิกายชีอะห์ ให้การสนับสนุนต่อศัตรูของตนทั้งในสมรภูมิที่ซีเรีย เยเมน และประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค

อย่างไรก็ดี รัฐบาลอเมริกันในเวลานี้ มองเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องเร่งฟื้นฟูความสัมพันธ์กับอิหร่าน ที่มี “ศัตรูร่วมกัน” คือ กลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) ที่กำลังยึดครองพื้นที่กว้างขวางทั้งในอิรักและซีเรียอยู่ในเวลานี้ และถือเป็น “ภัยคุกคามใหญ่หลวง” ต่อสันติภาพของโลก

ในอีกด้านหนึ่งการยุติมาตรการคว่ำบาตรทั้งปวง จะช่วยส่งเสริมให้เศรษฐกิจอิหร่านเติบโตอย่างรวดเร็ว เนื่องจากสามารถกลับเข้าสู่ “ตลาดน้ำมัน” ได้อีกครั้ง แม้ในความเป็นจริงแล้ว กว่าที่น้ำมันจากอิหร่านจะกลับเข้าไปซื้อขายในตลาดโลกได้อย่างเต็มรูปแบบนั้น อาจต้องรอถึงช่วงครึ่งหลังของปี 2016 นี้ก็ตาม


กำลังโหลดความคิดเห็น