เดอะการ์เดียน - กลุ่มสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศในวันพฤหัสบดี (30 มิ.ย.) วิพากษ์วิจารณ์การถอดไทยพ้นประเทศที่มีประวัติการค้ามนุษย์ขั้นเลวร้ายของสหรัฐฯ ระบุเป็นการตัดสินใจผิดที่ผิดเวลาและอ้างว่าเป็นความเคลื่อนไหวที่มีแรงจูงใจทางการเมือง
ในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ (TIP) 2016 ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ที่เผยแพร่ในวันพฤหัสบดี (30 มิ.ย.) ไทยได้รับการยกระดับขึ้นจาก “เทียร์ 3” อันดับต่ำสุด สู่ “เทียร์ 2 วอตช์ลิสต์” บ่งชี้รัฐบาลอเมริกาเชื่อว่ารัฐบาลไทยดำเนินการได้ตามมาตรฐานขั้นต่ำในการต่อสู้กับการค้ามนุษย์
รายงานระบุว่า สถานภาพที่ดีขึ้นของไทยเกิดขึ้นจากปัจจัยหลายๆอย่างไม่ว่าจะเป็นความพยายามอย่างมากของรัฐบาลไทยในการกำจัดการค้ามนุษย์ภายในพรมแดนของตนเอง ยกระดับการสืบสวน ดำเนินคดีและพิพากษาลงโทษ เช่นเดียวกับแก้ไขกฎหมายต่อต้านการค้ามนุษย์
อย่างไรก็ตาม ในรายงานบ่งชี้ว่ามีหลักฐานเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ที่ยังเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมประมง การค้าบริการทางเพศ เกษตรกรรมและอาชีพแม่บ้าน เช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่รัฐมีส่วนสมรู้ร่วมคิดในอาชญากรรมค้ามนุษย์ ซึ่งทางกลุ่มสิทธิมนุษยชนอ้างว่ามันเป็นตัวขัดขวางร้ายแรงต่อความพยายามกำจัดการค้ามนุษย์และความเป็นทาส
สตีฟ เทรนต์ ผู้อำนวยการบริหารมูลนิธิความยุติธรรมสิ่งแวดล้อม ซึ่งเปิดเผยผลการสืบสวนตรวจสอบอุตสาหรรมอาหารทะเลของไทยมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์มาแล้วหลายรอบ ระบุว่าการปรับขึ้นในครั้งนี้ “เป็นการตัดสินใจผิดที่ผิดเวลา” และเรียกร้องให้ไทยดำเนินการปฏิรูปถาวรกว่านี้ เพื่อรับประกันว่าธรรมเนียมการคอร์รัปชัน ซึ่งอยู่เบื้องหลังเหตุละเมิดทั้งหลายแหล่จะได้รับการแก้ไข
ในรายงานและการสืบสวนต่างๆ นานา ซึ่งไม่ใช่เฉพาะของเดอะการ์เดียน พบว่าปัญหาทาส ค้ามนุษย์ ฆาตกรรมและคอรัปชันในทุกระดับของเจ้าหน้าที่รัฐยังคงแพร่กระจายทั่วอุตสาหกรรมประมงของไทย
รายงาน TIP แบ่งเกณฑ์การประเมินประเทศต่างๆ ออกเป็น 4 ขั้น ได้แก่ เทียร์ 1 คือ ประเทศที่ถึงมาตรฐานขั้นต่ำของสหรัฐฯ เทียร์ 2 คือ ประเทศที่มีความพยายามอย่างเห็นได้ชัดที่จะพัฒนาให้ถึงระดับมาตรฐาน ส่วนเทียร์ 3 เฝ้าระวังคือ ประเทศที่ควรตรวจสอบเป็นพิเศษ และเทียร์ 4 คือ ประเทศที่ไม่มีความก้าวหน้าและความพยายามใดที่ชัดเจน