เอเอฟพี/MGROnline - เหล่านางรำแห่งราชสำนักสวมเครื่องแต่งกายอันวิจิตรบรรจง ร่ายรำไปตามจังหวะเครื่องดนตรีกาเมลัน (Gamelan) คือภาพความขรึมขลังดั้งเดิมที่ถูกสืบทอดมานานหลายร้อยปี ณ วังสุลต่านแห่งยอกยาการ์ตา
หากแต่พระราชพิธีเฉลิมพระชนพรรษาครบ 70 พรรษาของสุลต่านฮาเมิงกูบูวอนอที่ 10 (Hamengku Buwono X) สุลต่านพระองค์สุดท้ายในอินโดนีเซียที่ยังทรงไว้ซึ่งอำนาจทางการเมืองอย่างสมบูรณ์ มีบางอย่างที่แตกต่างไปจากปีก่อนๆ เนื่องจาก “พระญาติ” หลายพระองค์ปฏิเสธที่จะมาร่วมพิธีในปีนี้
ความขัดแย้งภายในวังยอกยาการ์ตาซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของเกาะชวา เริ่มระอุขึ้นเมื่อสุลต่านทรงมีพระราชประสงค์ที่จะสถาปนาพระราชธิดาองค์ใหญ่ขึ้นเป็นรัชทายาท และ “สุลต่านหญิง” พระองค์แรก
สุลต่านฮาเมิงกูบูวอนอที่ 10 ทรงเป็นทั้งเจ้าผู้ครองนคร และยังทรงดำรงตำแหน่งผู้ว่าการเขตปกครองพิเศษยอกยาการ์ตา ในขณะที่บางจังหวัดของอินโดนีเซียซึ่งยังมีราชวงศ์อยู่ได้หันไปใช้วิธีเลือกตั้งนักการเมือง และลดบทบาทของสถาบันสุลต่านให้เหลือแต่ในเชิงพิธีการเท่านั้น
รัฐบาลกลางอินโดนีเซียยินยอมให้ราชวงศ์ยอกยาการ์ตาคงไว้ซึ่งอำนาจปกครองท้องถิ่น เพื่อตอบแทนที่สุลต่านพระองค์ก่อนทรงมีบทบาทสำคัญในการเคลื่อนไหวเรียกร้องเอกราชเมื่อปี 1945 หลังจากที่อินโดนีเซียตกเป็นอาณานิคมของดัตช์มานานหลายร้อยปี
โบราณราชประเพณีของวังยอกยาการ์ตาซึ่งสืบย้อนไปได้ถึงศตวรรษที่ 16 ยังคงได้รับการอนุรักษ์ไว้จนถึงปัจจุบัน และในส่วนของพระราชวังที่เรียกว่า “กราตอน” (Kraton) ก็ยังคงมีการจัดพระราชพิธีสำคัญๆ อยู่เป็นประจำ
สุลต่านฮาเมิงกูบูวอนอที่ 10 ทรงมีพระราชธิดารวม 5 พระองค์ และไม่มีพระราชโอรส
การที่ทรงผลักดันเจ้าหญิงมังกูบูมี (HRH Princess Mangkubumi) ซึ่งเป็นพระราชธิดาองค์ใหญ่ ให้ขึ้นสืบราชสมบัติ ทำให้สุลต่านทรงได้รับการยกย่องจากกลุ่มที่สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ แต่อีกด้านหนึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า นี่เป็นการปฏิวัติธรรมเนียมเก่าแก่หลายร้อยปีของรัฐสุลต่านมุสลิมที่ถือเพศชายเป็นใหญ่
เรื่องนี้ได้กลายเป็นชนวนวิวาทะในหมู่พระราชวงศ์ชั้นสูง ซึ่งมองว่าสุลต่านทรงละเมิดกฎการสืบสันตติวงศ์ ทั้งๆ ที่ยังมีพระราชอนุชาอีกหลายพระองค์ที่รอคอยตำแหน่งนี้อยู่
“สุลต่านหญิงคือสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เด็ดขาด” เจ้าชายตูเมิงกุง จาตีนิงรัต (Kenjeng Raden Tumenggung Jatinindrat) หนึ่งในพระราชภาดา (ลูกพี่ลูกน้อง) ของสุลต่านฮาเมิงกูบูวอนอที่ 10 ตรัสกับผู้สื่อข่าวเอเอฟพี
“สัญลักษณ์อย่างหนึ่งของวังยอกยาการ์ตาคือ ไก่ตัวผู้ ถ้าเรามีสุลต่านหญิง มิต้องเปลี่ยนเป็นแม่ไก่แทนหรือ?”
ไก่ตัวผู้ ถือเป็นสัญลักษณ์ของ ความกล้าหาญ
เจ้าชายตูเมิงกุงตรัสเสริมอีกว่า สตรีจะไม่สามารถเป็นประธานในพิธีทางศาสนาซึ่งจัดในมัสยิด รวมถึงพระราชพิธีอื่นๆ ซึ่งตามธรรมเนียมจะต้องมีชายเป็นผู้นำ
สุลต่านฮาเมิงกูบูวอนอที่ 10 ซึ่งทรงครองราชย์มานานถึง 27 ปี ได้ทรงเริ่มกระบวนการยกสถานะของพระราชธิดาองค์ใหญ่ โดยสถาปนาเจ้าหญิงเปิมบายุน (Ratu Pembayun) ขึ้นเป็น “กุสตี กันเจิง ระตู มังกูบูมี” (Gusti Kenjeng Ratu Mangkubumi) เมื่อปีที่แล้ว
แม้พระองค์จะไม่ทรงประกาศต่อสาธารณชนว่าเจ้าหญิงพระองค์นี้คือ “มกุฎราชกุมารี” แต่ก็นับเป็นการส่งสัญญาณอ้อมๆ ตามวิสัยของชาวชวาที่ทุกคนรับรู้
คำว่า “มังกูบูมี” ซึ่งแปลตรงตัวว่า “ผู้ครองแผ่นดิน” เคยอยู่ในพระนามของสุลต่านฮาเมิงกูบูวอนอที่ 10 สมัยที่พระองค์ยังทรงเป็นมกุฎราชกุมารเมื่อหลายสิบปีก่อน
สุลต่านยังทรงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าหญิงมังกูบูมีทรงทำหน้าที่ “นำความปลอดภัย ความสุข และความเจริญรุ่งเรืองมาสู่โลก” ซึ่งเท่ากับยืนยันว่าพระองค์จะเป็นผู้สืบราชสมบัติต่อจากพระราชบิดา
ยิ่งไปกว่านั้น สุลต่านฮาเมิงกูบูวอนอที่ 10 ยังทรงเปลี่ยนแปลงพระนามของพระองค์เอง โดยตัดคำว่า “คอลีฟาตุลเลาะห์” ซึ่งใช้กับผู้ชายออกไป เพื่อให้พระนามเต็มของสุลต่านมีความเป็นกลางทางเพศมากขึ้น
สุลต่านทรงปฏิเสธเสียงวิจารณ์เรื่องความไม่เหมาะสม โดยทรงยืนยันในสิทธิของพระองค์ที่จะเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ ภายในราชอาณาจักร และทรงย้ำว่าราชวงศ์ยอกยาการ์ตาจำเป็นต้องปรับตัวให้เข้ากับสังคมอินโดนีเซียยุคใหม่
“วังยอกยาการ์ตาไม่ได้มีธรรมเนียมเก่าแก่อะไรที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ และสุลต่านทุกพระองค์ก็มีสิทธิ์ที่จะปรับเปลี่ยนกฎ” สุลต่านทรงเคยพระราชทานสัมภาษณ์ไว้กับสื่อท้องถิ่น
ถึงกระนั้นก็ยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่ต่อต้านแนวคิดของพระองค์ ตั้งแต่พระบรมวงศานุวงศ์เรื่อยไปจนถึงองค์กรมุสลิมท้องถิ่น
“สุลต่านควรจะรักษาประเพณีดั้งเดิมเอาไว้ เพราะที่นี่คือราชอาณาจักรอิสลาม” อับดุรเราะห์มาน สมาชิกกลุ่มมุสลิมอนุรักษ์นิยม ญิฮาด ฟรอนท์ กล่าว
หมู่เกาะอินโดนีเซียเคยเต็มไปด้วยอาณาจักรน้อยใหญ่ที่มีอำนาจปกครองตนเอง และกษัตริย์ผู้หญิงก็ใช่ว่าจะไม่เคยมีมาก่อน เช่น “ตรีภูวนา วิชยตุงคเทวี” ราชินีผู้ปกครองมัชปาหิต ซึ่งเคยเป็นอาณาจักรที่รุ่งเรืองและครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของอินโดนีเซียในช่วงศตวรรษที่ 13 ถึงต้นศตวรรษที่ 16 หรือแม้กระทั่งรัฐสุลต่านอาเจะห์ก็เคยมีราชินีปกครองเช่นกัน
แม้พสกนิกร 4 ล้านคนในเมืองยอกยาการ์ตาและเมืองใกล้เคียงจะให้ความเคารพต่อสถาบันสุลต่าน และไม่ปรารถนาที่จะก้าวก่ายกิจการภายในวัง แต่ความขัดแย้งครั้งนี้ส่อเค้าจะไม่ยุติลงง่ายๆ และบรรยากาศตึงเครียดก็สะท้อนออกมาอย่างชัดเจนในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาที่เพิ่งผ่านพ้นไปเมื่อวันที่ 7 พ.ค.
“สมาชิกราชวงศ์ประมาณ 90% ไม่ให้ความเคารพพระองค์อีกแล้ว” เจ้าชายฮาร์โย ประภูกุสุโม (Gusti Bendoro Pangeran Haryo Prabukusumo) พระราชอนุชาต่างพระมารดาของสุลต่านฮาเมิงกูบูวอนอที่ 10 ตรัสกับผู้สื่อข่าวด้วยอารมณ์ฉุนเฉียว